“นิสัยผม ไม่ใช่คนกะล่อน แต่วิชาชีพมันสอนว่า ต้องกะล่อน”

ตามรอยพี่ชายเดินเข้าสู่รั้วโรงเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจ

พล.ต.ต.ธีระ ชำนาญหมอ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นน้องชาย พล.ต.ต.รังสรรค์ ชำนาญหมอ และพ.ต.อ.ระวี ชำนาญหมอ เกิดจังหวัดนครสวรรค์ ทันทีที่จบมัธยม 6 โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ ลุ่มปากน้ำโพก็ดั้นด้นไปอยู่กับพี่ชายที่เป็นทหารบกอยู่ลพบุรี สอบเข้ามัธยม 7 โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย

พอจบมัธยม 8 มุ่งประตูสามพรานเป็นรุ่นที่ 21 ประเดิมตำแหน่งรองสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง 1 ปีเดียวกรมตำรวจมีนโยบายให้ย้ายออกจากนครบาลทั้งรุ่น ใครวิ่งเต้นก็ไม่ได้ เอาไปลงตำแหน่งตามคะแนนที่สอบได้  พล.ต.ต.ธีระเล่าว่า คะแนนตัวเองไม่ค่อยดี อยู่อันดับกลาง ๆ เลยได้ไปลงกองเมืองกาฬสินธุ์ 2 ปี โดนส่งให้เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี เปิดฉากรบกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่บรรยายกาศกำลังคุกรุ่นอยู่ในพื้นที่อีสาน เป็นช่วงเวลาไล่เรี่ยกับที่สหรัฐอเมริกาเปิดสงครามกับกองทัพเวียดนาม ใช้สนามบินอุดรธานีเป็นฐานทัพ

พล.ต.ต.ธีระเล่าอีกว่า อยู่ที่นั่นได้เป็นผู้หมวด มีประชา พรหมนอก เป็นผู้กอง ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันตั้งแต่บัดนั้น มีท่านบุญทิน วงศ์รักมิตร เป็นหัวหน้าชุด อยู่ตั้งแต่ปี 2514-2518 วนเวียนไปหลายอำเภอ แต่ปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์นานราว 2 ปี ย้ายลงกองเมืองอุดรธานี ทำหน้าที่จราจร เติบโตตามลำดับอยู่ถิ่นอีสาน ขยับขึ้นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม ตามโครงสร้างเก่า

 หลังจากมีการผ่าร่างกรมตำรวจใหม่ยกระดับกองกำกับการตำรวจภูธรขึ้นเป็นกองบังคับการและแบ่งแยกกองบัญชาการตำรวจภูธร 1-4 เป็นกองบัญชาการตำรวจภูธร 1-9 พล.ต.ต.ธีระเลื่อนเป็นรองผู้บังคับการทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด เกิดคดีปล้นเงินธนาคารยิงผู้จัดการและเสมียนตาย 2 ศพหอบเอาถุงเงินล้านกว่าบาทหลบหนี

เจ้าตัวลำดับเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า คนร้ายเป็นตำรวจอยู่อำเภอเกษตรวิสัยวางแผนไว้อย่างแยบยลด้วยการไปตีสนิทกับพนักงานธนาคารประจำรถขนเงินทุกวัน ไปทุกอาทิตย์ เมื่อผู้จัดการชะล่าใจ คนร้ายเลยรับอาสาไปช่วยคุ้มกันรถขนเงินให้ พอคุ้มกันมาถึงกลางทาง มันก็จัดการยิงผู้จัดการและเสมียนก่อนขนเอาเงินล้านกว่าบาทไป “พฤติกรรมมันโหดเหี้ยมอำมหิตมาก ผมลงไปสืบสวนในที่เกิดเหตุรู้ว่าเป็นตำรวจ เพราะได้พยานระบุว่า คนร้ายแต่งเครื่องแบบ หลังจากยิงพนักงานธนาคารแล้วก็ขับรถหนี เอาศพเหยื่อ 2 คนใส่รถของธนาคาร เป็นรถเปอร์โยต์รุ่นเก่า”

“ ปรากฏว่า มันดันขับรถไปผิดทางแล้วไม่มีทางเลี้ยว มันจะถอยหลังก็หาเกียร์ถอยไม่เจอ หาวิธีไม่เจอ มันก็หาอยู่ตรงนั้น จนกระทั่งชาวบ้านเดินผ่านมาเห็นมัน เห็นว่าในรถมีคนตาย ก่อนที่มันจะทิ้งรถเอาเงินไปซ่อนในป่า ผมได้พยานปากนี้มาสอบสวนขยายผลถึงรู้ว่าเป็นใครก็เลยตามจับได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยึดเงินเป็นแบงก์ร้อย แบงก์ยี่สิบ แบงก์สิบเต็มถุงทะเลที่มันซ้อนเอาไว้เกือบหมด” อดีตหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ดเปิดแฟ้มคดีดัง

เขาเล่าอีกว่า มันเอาเงินติดตัวไปหมื่นเดียวที่เหลือซ่อนไว้ในป่ากะว่ารอดแล้วจะย้อนกลับมาเอา หนีไปอยู่อุดรธานี ถิ่นเก่าของเรา เลยได้สายมากระซิบว่า คนร้ายเป็นตำรวจ เข้าพื้นที่ท่าทางมีพิรุธ ถามชื่อเสียงเรียงนามแล้วตรงกับพยานถึงจับได้ ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ยังคุยกับมันเลยว่า ถ้าเป็นเราจะเอาถุงทะเลไว้หลังรถเปิดฝากระโปรงให้ปลิวเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจชาวบ้านเปิดทางหนี แต่มันบอกว่า กะจะกลับมาเอาตอนหลังถึงเกมในที่สุด

จากร้อยเอ็ดย้ายต่อเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร 5 อุบลราชธานี เป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร 4 นครราชสีมา ก่อนกลับมาเป็นรองผู้บังคับการหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามอีกครั้ง ถึงเขยิบขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์นาน 6 ปี ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ตำแหน่งสุดท้ายจนเกษียณอายุราชการ

พล.ต.ต.ธีระว่า ตอนอยู่บุรีรัมย์สมัยก่อนการเมืองแบ่งหลายฝักหลายฝ่าย ท่านประชา พรหมนอก ไว้ใจให้ไปคุมพื้นที่ นานหลายปีก็มากอดคอกระซิบว่า กูให้มึงอยู่อีกปีมึงจะตายไหม แล้วเราจะไปว่าอะไรได้ แกเป็นทั้งนายตำรวจรุ่นพี่ เป็นทั้งผู้บังคับบัญชา ทำให้เราอยู่บุรีรัมย์นานมากกว่าใคร ตลอดชีวิตรับราชการยอมรับว่า วนเวียนอยู่หลายจังหวัด หลายอำเภอในอีสาน โดยเฉพาะอุดรธานียุคประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ประชาชนชอบเดินขบวนไล่ผู้กองตำรวจ

“ก็ถูกผู้ใหญ่ถามว่า ที่นั่นเขามีเดินขบวนไล่ ต้องเอาผู้กองออก ใครรับอาสาไปอยู่ที่นั่น ผมก็เลยยกมือไปทุกที่ ไปแก้ปัญหา ผมมีหลักคิด ต้องเข้าถึงชาวบ้าน อย่าไปกวนเขา อย่าไปรีดนาทาเร้นเขา อย่าไปสร้างความเดือดร้อน อยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง สังคมมันก็ไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรมาก ถ้าเขาผิดจริงๆ เขาไม่ว่าหรอก แต่ว่าถ้าเขาไม่ผิด เราไปกลั่นแกล้งเขา อะไรแบบนั้น มันไม่ได้” พล.ต.ต.ธีระบอกถึงหลักการทำงาน

อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 บอกว่า ความสามัคคีในหมู่คณะก็สำคัญ คนที่เราไปแทน ส่วนใหญ่จะเป็นนายตำรวจ อีกปีสองปีจะเกษียณแล้ว ก็จะเอากันอย่างนั้นอย่างนี้ยิบย่อย จะชวนเราไป เราไม่เอา แต่เราไปคลุกคลี กินข้าวกับชาวบ้านก็ได้มวลชน “ผมทำงานก็เหมือนกับการหาเสียง มันต้องคอยถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ผลการปราบปรามจะดีหรือไม่ อยู่ที่ประชาชนเขาให้ความร่วมมือกับเราขนาดไหน ถ้าเขาไม่ให้ความร่วมมือ เราก็ไปไม่รอด ตำรวจสมัยนั้นก็มีน้อย โรงพักหนึ่งมีแค่ 20-30 คน อยู่เวร อยู่ยามก็หมดแล้ว”

ลงไปแก้ปัญหาหลายพื้นที่ตั้งแต่เป็นผู้กอง ชีวิตรับราชการเลยวนเวียนอยู่ดินแดนที่ราบสูง พล.ต.ต.ธีระรับว่า ทั้งที่เป็นคนนครสวรรค์ เหมือนว่า แค่อาศัยเกิด ไม่เคยได้มีโอกาสไปอยู่รับใช้บ้านเกิดสักครั้ง ไม่เหมือน พล.ต.ต.รังสรรค์ ชำนาญหมอ พี่ชาย ที่จะทำงานอยู่พื้นที่ภูธรภาค 6 ละแวกปากน้ำโพบ้านเกิดจนเกษียณอายุราชการ

ประสบการณ์ที่ประทับใจ นอกจากคดีตำรวจปล้นเงินธนาคารฆ่าพนักงานตาย 2 ศพอย่างโหดเหี้ยมแล้ว พล.ต.ต.ธีระมองว่า ส่วนใหญ่เป็นการทำงานด้านมวลชน เข้าถึงจิตใจประชาชน ถ้าชาวบ้านให้ความร่วมมือ เราก็จะได้ข่าว ยิ่งวนเวียนอยู่แต่ภาคอีสานไม่เคยออกไป ยิ่งรู้วิธีการแก้ปัญหา คือ คนไหนที่มีตำแหน่ง เป็นรัฐมนตรี หรือนักการเมืองที่มีตำแหน่งหน้าที่ เวลาเขามา เราก็ต้องรักษาความปลอดภัยอย่างดี แต่นักการเมืองคนไหนที่เป็นแบบผู้แทน แต่รักใคร่ชอบพอกัน หรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน เราก็ไปพบไปหาเขา แอบไปหาตอนกลางคืน ไม่ให้ใครเห็น มันก็ต้องใช้ไม้นุ่ม ไม้นวม ทั้งสองฝั่ง

“นิสัยผม ไม่ใช่คนกะล่อน แต่วิชาชีพมันสอนว่า ต้องกะล่อน ให้รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี สมัยนั้นการเมืองที่บุรีรัมย์แรงมาก แต่ผมอยู่ได้ 6 ปี อยู่ยังไงก็ไม่รู้ ฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้จะมาขอตั้งบ่อน ก็บอกไม่เอา อยู่อย่างนี้สบายแล้ว ขอแค่พออยู่พอกิน เดี๋ยวฝ่ายนั้นฝ่ายนี้มาจับ เดี๋ยวมาร้องเรียนวุ่นวาย อยู่ตามอัตภาพดีกว่า  ตำรวจลูกน้องหลายคนก็ดี”

อดีตนายพลอีสานใต้ยึดหลักการทำงานว่า ตื่นเช้ามาก่อนจะไปทำงาน ที่บ้านพักจะจัดหาแม่ครัวมาทำกับข้าว เรียกลูกน้องมากินข้าวร่วมกัน ใครอยากจะกินอะไรก็หาซื้อมา เราจะทำแบบนี้ประจำ ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าการกินข้าว คือ พบปะสังสรรค์กัน มันได้พูดได้คุย ปรึกษากันพอกินเสร็จประมาณ 8 โมงกว่าก็แยกย้ายกันไปทำงาน จะพบกันอีกทีก็มื้อเที่ยงไปกินก๋วยเตี๋ยวด้วยกัน อยู่อย่างนี้ มีความสุข ปัญหาก็จะไม่มี ตำรวจที่มีปัญหาก็จะระบายออกมา เราก็จะรู้ข้อเท็จจริง

นายพลตำรวจตรีบำนาญอยากจะฝากถึงตำรวจรุ่นใหม่ว่า สมัยนี้ดูแล้ว เป็นยาก ไม่เหมือนสมัยก่อนตำรวจทำผิด ไปขอโทษ เมาสุราอาละวาด ไปขอโทษเขา รุ่งเช้ามันก็จบ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้นะ สื่อมวลชน อะไรต่างๆ มันเยอะ แล้วพวกคลิปวีดีโอ อะไรต่ออะไร มันไม่ใช่แค่วันนั้น แค่ชั่วโมงต่อมาก็ออกแล้ว เพราะฉะนั้นการทำงานของตำรวจสมัยนี้ต้องระมัดระวังมากๆ ต้องยึดระเบียบ กฎหมาย ข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม อย่าไปผลีผลาม ถ้ามีเรื่องล่ะก็เสร็จทุกราย

“การไปข่มเหง รังแก ประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ อย่าทำโดยเด็ดขาด ฝากไว้ให้ตำรวจรุ่นน้อง เพราะผมผ่านมาเยอะ อย่างตำรวจชั้นผู้น้อย ผมไม่เคยพูดถึงแบบว่าตำรวจจะออกเพราะผมเซ็นอนุมัติ ไม่เคยมี ไม่เคยให้ออก ผมไปแก้ไข หรือไม่ก็เซ็นผ่านไป มึงไปตายเอาดาบหน้า ไปวิ่งเอา อย่าให้มาออกเพราะกูเซ็นเลย มึงไปตายเอาดาบหน้า เพราะฉะนั้นก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ก็สนุกสนาน”

เขายังมีมุมมองว่า ยุคก่อนมีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้บัญชาการ เราก็ต้องรู้จักวางตัว รู้บทบาทหน้าที่ตัวเรา เราเป็นลูกน้องต้องให้เกียรติเพื่อนต่อหน้าคนอื่น ก็ต้องไหว้ ต้องเคารพให้เกียรติ แต่ลับหลังจะตบหัวตบหลังก็อีกเรื่องหนึ่ง “แต่ผมไม่นะ ไม่ตีตัวเสมอ รู้ตัวเองตลอดเวลาว่า เรา คือ ใคร วาสนาเรามีแค่นี้ มึงวาสนาดี เป็นนายกู สร้างบรรยากาศให้มันแฮปปี้ แต่ยุคสมัยนี้อาจจะไม่ใช่ เพื่อนกันก็จะฆ่ากันอะไรกัน ยุ่งฉิบหาย ตำรวจสมัยนี้ รุ่นใหม่ๆ ความเข้มข้นในการปลูกฝังอุดมการณ์มันยังน้อย ทำให้การทำงานบางทีมันก็เผลอไผลไป เอาแต่ผลประโยชน์”

อดีตบิ๊กตำรวจอีสานใต้ให้ข้อคิดด้วยว่า ลูกชายก็เป็นนายตำรวจ เราก็พยายามปลูกฝัง บอกอยู่ตลอดเวลาว่า อุดมการณ์ ชื่อเสียงของตัวเอง ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล สืบหน่อมาจากไหนต้องรักษาไว้ ถ้าชื่อเสียงมันเสียไปแล้ว แม้จะเปลี่ยนชื่อเสียง เปลี่ยนอะไรแล้ว มันก็ลำบาก จะให้ได้รับการแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ถ้านาย หรือใครสักคนที่สนับสนุนเรา ตำแหน่งนี้ต้องให้คนนี้ไปอยู่ แต่เขาเสนอชื่อแล้ว ไอ้ที่ประชุมบอกว่า เมาฉิบหายเลย กินเหล้าเมายา ก็ตกเลย แต่เขาเสนอชื่อแล้วคิดว่าคนนี้ดี ต้องให้คนนี้ไปอยู่ถึงจะเอาอยู่

เพราะฉะนั้นชื่อเสียงต้องรักษาไว้ อย่าให้มันมีด่างพร้อย อย่าให้มันมีแผล ถ้ามีแผลแล้วลบล้างยาก  ถึงเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล ทำอย่างไรก็ไม่หาย ใครเขาก็จำได้ อนาคตก็ไม่รอด”

ธีระ ชำนาญหมอ !!!

RELATED ARTICLES