ตำรวจไซเบอร์รวบแก๊งไทยเทา ร่วม แอฟริกันลวงข้ามชาติ หลอกบริษัทดังญี่ปุ่นโอนเข้าไทยกว่า 228 ล้าน

พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร., พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ตำรวจไซเบอร์รวบแก๊งไทยเทา ร่วมแอฟริกันตะวันตกลวงข้ามชาติหลอกบริษัทดังในญี่ปุ่นโอนเข้าไทยกว่า 228 ล้าน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 เม.ย.68 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญงานติดตามและสืบค้นการทุจริตอาวุโส ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันทุจริต โดยฝ่ายระบบ swift (ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ) ของธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย ว่า ธนาคารชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น ได้พบบัญชี Fraud (การฉ้อโกงทางการเงิน, การฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต (Cyber Fraud) ) ผ่านหน่วยเงินโอนต่างประเทศ

จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ได้มีคำสั่งโอนเงินไปที่บริษัทคู่ค้าแห่งหนึ่ง เพื่อทำการค้าระหว่างกัน แต่บริษัทชื่อดังดังกล่าว ได้ถูกหลอกลวงให้โอนเงินเข้ามาที่บัญชีธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย ชื่อบัญชี บริษัทคู่ค้าดังกล่าว ในประเทศไทยเป็นเงินจำนวน 228,543,909.28 บาท

จากการสืบสวนพบว่า นายวีรกานต์ ได้ถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของบริษัทคู่ค้าแห่งหนึ่ง ในประเทศไทย จำนวน 3 ล้านบาท และเวลาต่อมาได้ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวอีกครั้งเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท โดยภายหลังธนาคารได้รับแจ้งว่าเป็นบัญชีที่ได้รับโอนเงินจากการกระทำการผิดกฎหมาย จึงได้อายัดและประสานงาน บช.สอท. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผกก.1 บก.สอท.1 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสืบสวนกรณีดังกล่าว กระทั่งพบข้อมูลว่าบริษัทคู่ค้า ตั้งอยู่ในพื้นที่ ถ.เคหะร่มเกล้า แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กทม. ได้จดทะเบียนนิติบุคคลประเภท บริษัท ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจขายส่งยานยนต์เก่า โดยมีคณะกรรมการ 3 ราย ได้แก่ นายวีรกานต์, นาวสาววิลัยพร, และนายอนุชา โดยมิจฉาชีพ ได้ให้ผู้ต้องหากลุ่มนี้ปลอมอีเมลให้คล้ายชื่อบริษัทคู่ค้า จากนั้นได้แจ้งเจ้าหน้าที่ของบริษัทญี่ปุ่นว่า บริษัทของตนเปลี่ยนบัญชีรับโอนเงิน เมื่อเจ้าหน้าที่บริษัทญี่ปุ่นหลงเชื่อ จึงได้โอนเงินให้กว่า 228 ล้านบาท หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับกรรมการบริษัททั้ง 3 ราย

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.1 ได้สืบสวนขยายผลเพิ่มเติม พบหลักฐานว่า Mr.Annest Onyebuchi มีภรรยาชาวไทยชื่อ น.ส.พิญญานันท์ โดยชาวไนจีเรียคนดังกล่าวเป็นผู้ใช้ให้นายวีรกานต์ฯ ไปเปิดบริษัทต่างๆ และเปิดบัญชีธนาคารเป็นชื่อบริษัทดังกล่าวก่อนหน้านี้ จนนำไปสู่การจับกุมตัว น.ส.พิญญานันท์ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเบิกเงินร่วมกับ นายวีรกานต์ ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้

 

เบื้องต้น น.ส.พิญญานันท์ ยอมเปิดเผยข้อมูลว่า ก่อนมีการโอนเงินจำนวนกว่า 228 ล้านบาทเข้ามา Mr.Annest Onyebuchi สัญชาติไนจีเรีย สามีของตนเอง ได้เป็นผู้ส่งข้อมูลภาพใบแจ้งหนี้ของบริษัทคู่ค้า มาให้ตนเองผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp และได้ส่งภาพดังกล่าวให้ นายวีรกานต์ฯ เพื่อปรินต์แล้วนำไปประกอบเพื่อยืนยันกับธนาคารในการถอนเงิน

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจพบหลักฐานว่า นายวีรกานต์ ได้เตรียมนำฝากเงิน จำนวน 100 ล้านบาท ไปยังบัญชีธนาคารของบริษัท มิลเลียน มิกซ์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนประกอบกิจการค้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในการก่อสร้าง โดยมีนายภูริพัฒน์ และนายสุเมศย์ เป็นกรรมการบริษัท จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับเพิ่มอีก 3 ราย ได้แก่ Mr.Annest Onyebuchi ชาวไนจีเรีย, นายภูริพัฒน์ และนายสุเมศย์ ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.1 ได้นำกำลังเข้าตรวจค้น บริษัท มิลเลียน มิกซ์ จำกัด (ปัจจุบันมีป้ายชื่อเป็นบริษัท ฟู้ดไซเบอร์ จำกัด) ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 13 ของอาคารแห่งหนึ่ง ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. สามารถจับกุม นายภูริพัฒน์ และตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชีเงินฝาก และเอกสารสำคัญต่างๆ

เบื้องต้น นายภูริพัฒน์ฯ ให้การว่าได้รู้จักสนิทสนมกับชายผิวสีรายหนึ่ง ชื่อ Mr.Ibrahim สัญชาติกาน่า โดยติดต่อคุยกันผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp ต่อมา Mr.Ibrahim ได้แชทมาหาตนว่า ตอนนี้เขาไม่ได้อยู่ประเทศไทยจึงให้ช่วยรับเงิน ที่โอนตรงจากบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น เมื่อรับโอนเงินเรียบร้อยแล้ว Mr.Ibrahim จะจ่ายเงินให้ตนเอง เป็นส่วนแบ่งจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์จากยอดเงินที่รับโอน ตนเองจึงแจ้งว่าต้องให้ทางบริษัทญี่ปุ่นติดต่อตนเองโดยตรงเท่านั้น ต่อมา Mr.Ibrahim ได้ขอยกเลิกไปโดยไม่มีเหตุผล

ภายหลังการโอนเงินดังกล่าวเกิดขึ้นและมีการจับกุมผู้ต้องหาชุดแรกไปแล้ว Mr.Ibrahim ได้แชทมาบอกว่าตนเองว่า ห้ามเอ่ยชื่อถึง Mr.Ibrahim และให้ลบแชทการสนทนาระหว่างตนเองกับ Mr.Ibrahim ใน WhatsApp ออกให้หมดแต่ตนเองยังไม่ทันได้ลบ กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมในครั้งนี้เสียก่อน

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้สมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน ร่วมกันเปิด หรือยินยอมให้บุคคลอื่น ใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและได้ลงมือกระทำความผิดร้ายแรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอาชญากรรมนั้น ร่วมกันเป็นอั้งยี่ และซ่องโจรและได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจร”

โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์ข้อมูลในโทรศัพท์มือถือและเอกสารต่างๆ ที่ตรวจยึดได้ขณะเข้าตรวจค้น และอยู่ระหว่างการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาชาวไนจีเรีย และบุคคลในขบวนการที่ยังหลบหนีเพื่อนำกลับมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ในส่วนพฤติการณ์ในการหลอกลวงโดยละเอียด บช.สอท. อยู่ระหว่างการประสานงานกับบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลมาศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อใช้ป้องกันการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในอนาคตต่อไป 

RELATED ARTICLES