รวมกลุ่มเดินหน้ายกธงต้านชัดเจน
พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งโต๊ะแถลงการ คัดค้านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. …
เนื่องจากมีสาระสำคัญคือการปรับเปลี่ยนกระบวนการสอบสวน และให้อำนาจพนักงานอัยการในการกำกับ ควบคุม และมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการมีอำนาจให้ความเห็นชอบก่อนออกหมายเรียกหรือก่อนการขอหมายจับ ขัง ค้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ทำความเห็นแย้งแทนตำรวจ
องค์กรตำรวจที่เป็นอดีตนายพลมากประสบการณ์คุณภาพงานสอบสวนต่างร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างรอบคอบแล้ว
เห็นว่า ไม่สมควรให้ผ่านความเห็นชอบ
ด้วยเหตุผลสำคัญในประเด็นการแจ้งเหตุต่อฝ่ายปกครองและอัยการเมื่อพบการกระทำผิด มีความเสี่ยงที่จะทำให้ข้อมูลในคดีสำคัญ “รั่วไหล” ได้
ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพยาน ผู้เสียหาย หรือแม้แต่ชื่อเสียงของผู้ต้องหาที่อาจยังไม่มีการจับกุม หรือพิสูจน์ความผิดในชั้นศาล การสืบสวนมิใช่การ “สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน” แต่การสืบสวนเป็นขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง “เพื่อป้องกันเหตุ” หรือ “เพื่อพิสูจน์ทราบเหตุ” หรือ “เพื่อเป็นข้อมูลอาชญากรรมเชิงลึก”
การที่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้ พนักงานสอบสวนต้องรายงานการสืบสวนต่อพนักงานอัยการก่อนที่จะทำการสืบสวนในลักษณะ “ขออนุญาต” หรือ “ขออนุมัติ” ต่อพนักงานอัยการ หรือฝ่ายปกครองก่อนที่เจ้าพนักงานจะสืบสวนคลี่คลายคดี
ย่อมมีผลเป็นการสกัดกั้นการแสวงหา
ประเด็นการออกหมายเรียก หมายจับ หมายขัง หมายค้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการเป็นการ “ซ้ำซ้อน”ในกระบวนการยุติธรรมทำให้ล่าช้าเกินสมควร
คดีฆ่า คดีสำคัญ หรือกรณีมีคำร้องขอความเป็นธรรมให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบการสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานได้ทันที ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้านกระบวนการยุติธรรมที่บัญญัติไว้ชัดเจน
“ให้ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้ตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม”
ส่วนประเด็นให้เปิดเผยพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนระหว่างการสืบสวนสอบสวนผ่านกระบวนการให้เปิดเผยและหรือแจ้งพยานหลักฐานที่มีแก่ผู้ต้องหาทราบ พวกเขามองว่า การค้นหาความจริงเพื่อพิสูจน์ประเด็นแห่งคดี หรือพิสูจน์ความจริงในชั้นพิจารณาของศาล การสืบสวนสอบสวนที่กระทำเป็นการ “ลับ” ย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าการสืบสวนสอบสวนที่กระทำโดยเปิดเผย
การที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้อง “เปิดเผย” พยานหลักฐาน หรือผลการสอบสวนให้ผู้ต้องหาทราบ
ย่อมทำให้ผู้ต้องหา “รู้” ช่องทางในการยุ่งเหยิง หรือทำลายพยานหลักฐาน
ผู้ต้องหาก็อาจพ้นผิดได้แล้ว
สรุปการแก้กฎหมายเพื่อเป็นคุณแก่ “โจร” หรือประชาชนผู้เสียหายกันแน่