ปฏิบัติการกู้ภัยช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมเยาวชนลูกหนัง “หมูป่าอะคาเดมี่” ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในวนอุทยานขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงเชียงราย
แทบจะเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งประเทศร่วมลุ้นขอให้ทั้งหมดรอดปลอดภัย พร้อมให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน
ทำงานแข่งกับเวลาแลกกับการต่อลมหายใจทั้ง 13 ชีวิตที่ยังไม่ทราบชะตากรรม
นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ SEAL กำลังเป็นความหวังของภารกิจสำคัญที่ชาวไทยทั้งประเทศเอาใจช่วย
ย้อนประวัติความเป็นมาของพวกเขาเริ่มต้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังทางเรือของทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะได้ส่ง “มนุษย์กบ” ของตัวเองเข้าทำลายกองเรือ กองทหาร สิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
โดยเฉพาะการปฏิบัติการทำลายเครื่องกีดขวางที่หน้าหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เปิดทางฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกบุกยุโรปในวันดีเดย์ 6 มิถุนายน 2487 นำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2
ทำให้หลายประเทศมองเห็นความสำคัญของ “หน่วยรบมนุษย์กบ”
ปี 2496 กองทัพเรือไทยส่งนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวนจำนวนหนึ่งไปเรียนหลักสูตร Underwater Demolation Team ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนอนุมัติให้จัดตั้งหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม Underwater Demolation Team ในอีก 3 ปีต่อมา และปรับปรุงขีดความสามารถให้เทียบเท่าหน่วย SEAL ของสหรัฐอเมริกา
SEAL ที่ย่อมาจากคำว่า Sea Air Land หมายถึงสามารถปฏิบัติงานได้ทั้ง น้ำ ฟ้า ฝั่งในสงครามนอกแบบ เช่น การซุ่มโจมตี และการหาข่าว
นักรบ น้ำ ฟ้า ฝั่งเมืองไทย กำเนิดขึ้นมาจากคนกลุ่มเล็กเพียง 7 คนขยายเติบโตสร้างนักทำลายน้ำจู่โจมไว้แล้ว 1,000 กว่าชีวิตกับ “ภารกิจลับ” ของกองทัพเรือและประเทศชาติมากมาย
นักรบมนุษย์กบเหล่านี้จะคัดเลือกอาสาสมัครของกองทัพเรือ กองทัพบก กองทัพอากาศ และตำรวจ เข้าฝึกหลักสูตรจู่โจมอย่างหนักเพื่อให้พวกเขาเป็น “คนเหนือคน” มีขีดความสามารถที่เหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป บนเกาะพระ อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
“ร่างกายที่ว่าแข็งแรง อาจไม่แข็งแกร่งเท่าหัวใจ” นั่นคือ หลักสูตรการฝึกเพื่อฝ่าด่านที่เปรียบได้ดั่งขุมนรกอันแสนหฤโหดกว่าจะได้ “มนุษย์กบนักทำลายใต้น้ำจู่โจม” มาสักรุ่น
สร้างนักรบที่แข็งแกร่งทั้ง 3 มิติ น้ำ ฟ้า ฝั่ง ให้กองทัพเรือ
วันนี้พวกเขากำลังรับภารกิจที่สำคัญนอกเหนือตำรา เป็นปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัย “สุดหิน” ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคสำคัญที่เกิดจากธรรมชาติ
ท่ามกลางการรอคอยของพ่อแม่ผู้ปกครองที่หวังให้ลูกหลานรอดปลอดภัยกับคืนสู่อ้อมกอด
เป็นภารกิจที่ไม่ง่ายและท้าทายมากกว่าจู่โจมทำลายศัตรูฝั่งตรงข้าม
เหนือด่านธรรมชาติสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ ไม่ใช่การทำงานแข่งกับเวลาเท่านั้น แต่พวกเขาต้อง “ประสานงา”กับหน่วยงานหลากหลายที่ระดมกันเข้าไปช่วยเหลือ
มีทั้งหวังดี และหวังเอาหน้า
แต่หา ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตัวจริง ไม่ได้
ใช้ชะตากรรมของเยาวชน 12 ชีวิตกับอีก 1 โค้ชฟุตบอลเป็นเดิมพัน
คือ บทพิสูจน์ระบบงานกู้ภัยเมืองไทยที่ยังไร้ทิศทาง