งานกู้ภัยไม่ใช่ลองผิดลองถูก

ภารกิจกู้ภัยภายหลังโอน ตำรวจดับเพลิง ไปขึ้นกับ กรุงเทพมหานคร แยกกองกำกับการ 5 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับบรรเทาสาธารณภัยทั่วประเทศบางส่วนขึ้นกับ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

มี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย คัดตำรวจดับเพลิงบางส่วนที่ความเชี่ยวชาญด้านบรรเทาสาธารณภัยไปอยู่ในสังกัด

ทุกคนได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีหลายหลักสูตรคุณภาพจากต่างประเทศ ผ่านประสบการณ์ช่วยเหลือเหตุการณ์ภัยพิบัติมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย ตึกถล่ม

สุดท้ายทีมกู้ภัยคุณภาพเหล่านี้หายไปตามกาลเวลา

ภาพของตำรวจบรรเทาสาธารณภัยที่นำเรือท้องแบนไปช่วยผู้ประสบภัยทั่วประเทศ ภาพของตำรวจบรรเทาสาธารณภัยลุยพายุโคลนช่วยชีวิตชาวบ้านที่ติดอยู่ในพื้นที่ประสบภัยจึงหายไปจากความทรงจำ

ปล่อยภารกิจกู้ภัยให้เป็นหน้าที่ของเทศบาลและหน่วยงานอื่นแทน

แต่ก็ยังไม่เชี่ยวชาญเท่าตำรวจรุ่นเก่า

พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เจ้าตัวพยายามผลักดันโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ภัย” จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่กู้ชีพรถพยาบาลฉุกเฉินของศูนย์นเรนทรทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และอาสาสมัคร ให้มีความรู้เบื้องต้นในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

คัดเลือกบุคลากรไปรับการฝึกช่วยเหลือกู้ภัยผู้ประสบภัยจากการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ อุทกภัย โคลนถล่ม  อัคคีภัย (เน้นในอาคารสูง) ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ที่ศูนย์ฝึกอบรมการดับเพลิงและกู้ภัยราชประชา อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ทว่ายังไม่เพียงพอจะรับมือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์มองว่า การสร้างมาตรการป้องกันเหตุ ติดตั้งระบบเตือนภัยเป็นสิ่งที่ดี ลดความสูญเสียได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่มีสิ่งใดจะห้ามไม่ให้เกิดขึ้น

อันเป็นอีกขั้นตอนที่ยังขาดความอ่อนแอในโครงสร้างของรัฐบาล

เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้วจะต้องใช้มาตรการอย่างไรเพื่อลดความสูญเสีย

ทำให้ที่ประชุม กปอ. มีมติเสนอรัฐบาลสมัยหนึ่ง เพิ่มหลักสูตรการฝึกอบรมและ “รื้อฟื้น” กองบัญชาการภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ถูกยกเลิกไปขึ้นมาใหม่ เพราะจำเป็นต้องมี “ผู้บัญชาการ” ระดับนายกรัฐมนตรี ที่สั่งการได้ทุกกระทรวง

เช่นเดียวกับ สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง หรือ Federal Emergency Management Agency (FEMA) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกเหนือจากการจัดการและบรรเทาภัยพิบัติแล้ว กองบัญชาการภัยพิบัติแห่งชาติยังมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายวิชาชีพ ช่วยในการจัดการทั้งทางด้านบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งจัดอบรมให้กับทางประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างคนต่างทำจนเป็นต้นเหตุของความล้มเหลว

ขณะที่บางหน่วยงานยังมุ่งหวังหาผลประโยชน์จากการซื้ออุปกรณ์กู้ภัยราคาหลายสิบล้าน แต่ไม่คิดพัฒนาบุคลากรในหน่วยให้เกิดความชำนาญและมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที

สมัยนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ นั่งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เคยร่วมงานหารือเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติที่นำเสนอตั้งกองบัญชาการภัยพิบัติแห่งชาติเทียบเท่า FEMA ของอเมริกา

ก่อนจะละลายกลายเป็นหมัน ตายไปพร้อม พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร

วันนี้ถึงมี 13 ชีวิตเป็นเดิมพัน  

RELATED ARTICLES