“อยากให้ประเทศไทยพัฒนาโดยที่คนในสังคมลดความเห็นแก่ตัว”

 

มือกฎหมายสาวคนเก่งของฝ่ายกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

“ใบเฟิร์น” วสุธิดา กิตติพรหมวงศ์ ได้ต้นแบบมาจาก วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ผู้พ่อที่ทำให้เธออยากเป็นนักกฎหมายเหมือนบิดามาตั้งแต่เด็ก “สมัยเรียนอนุบาลจำได้ว่า คุณพ่อจะเอาสำนวนคดีกลับมาทำที่บ้านแล้วมานั่งอ่านให้ฟัง ตอนนั้นคุณพ่อเป็นอัยการทำคดีสำคัญระดับชาติมากมาย คุณพ่อจะสอนเสมอในเรื่องการระวังตัว อย่างเวลาเรากลัวผีก็ให้ดูรูปศพ เพื่อจะรู้ว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย แค่ศพธรรมดา”

มันทำให้เธอซึมซับคดีความมาตั้งแต่บัดนั้น

หลังเรียนจบมัธยม วสุธิดาเลยเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ใช้เวลาเรียน 3 ปีครึ่งคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 ได้งานทำที่สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายลอว์เฟิร์ม บริษัท ไวท์แอนด์เคส ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทยอยู่ปีเศษลาออกไปสอบเนติบัณฑิตยสภาแล้วบินลัดฟ้าเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายที่สหรัฐอเมริกานาน 2 ปี เก็บเกี่ยวดีกรี International and Comparative laws Southorn Methodist University , Dallas และ International and Comparative laws The George Wasington University , DC ที่ถือเป็นท็อปเทนด้านกฎหมายของโลกกลับมาเมืองไทย

          สาวนักกฎหมายบอกว่า จากการที่ซึมซับสำนวนคดีของพ่อมาแต่เด็กทำให้มองอะไรในแง่ของความเป็นจริง เราถึงโตมาแบบไม่ใช่เด็กสวยงามเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ จะอยู่ในโลกของความจริงมากกว่า ซึ่งพ่อจะให้ระวังตัวตลอดเวลา พอเรียนจบเรียนกฎหมาย ก็ไม่ได้คิดว่า ต้องเป็นอัยการโดยเฉพาะ จริง ๆ จะชอบเกี่ยวกับด้านภาษา ชอบติดต่อกับทางต่างประเทศ พ่อจะบอกว่า เรียนกฎหมายสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายทาง ถ้าอยากเป็นทูตก็ทำได้ เพราะกฎหมายทำให้เรารู้ทุกเรื่อง

หลังกลับจากอเมริกา วสุธิดาไปทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. เป็นองค์กรใหม่ที่รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งไว้พัฒนาคนของประเทศขึ้นมาคอยคิดนโยบายพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเธอเข้าไปทำหน้าที่ดูกรอบกฎหมายของประเทศมองภาพแนวคิดกว้างขึ้น แต่อยู่เพียง 6 เดือนก็กลับไปทำลอว์เฟิร์มใหม่เที่ยวนี้อยู่ได้ปีกว่าเริ่มรู้แล้วว่า ไม่ใช่ตัวเอง

“จริง ๆ เราชอบทำอะไรเกี่ยวกับภาพกว้างองค์รวม ไม่ชอบทำงานจุกจิกที่เป็นธุรกิจเกินไป เลยตัดสินใจย้ายมาทำ กสทช. เป็นจังหวะที่เปิดสอบพอดี เข้ามาทำฝ่ายกฎหมายโทรคมนาคม รับโครงการประมูลเครือข่าย 3 จีทันที เริ่มตั้งแต่คอยดูขั้นตอนการประมูล เป็นฝ่ายตรวจสอบว่า ถูกต้องหรือไม่ ล่าสุดจัดประมูลไปแล้ว เราก็เป็นทีมที่จะดูว่า สรุปว่า กสทช. มีความผิดหรือไม่ เช็กทุกอย่างว่า บอร์ดมีสิทธิจะโดนอะไรหรือไม่ ที่เราทำไปมีผลกระทบอะไรหรือไม่”

  ฝ่ายกฎหมายด้านโทรคมนาคมของ กสทช. ยอมรับว่า มีแรงกดดันสูง ตามที่เราเช็กจากข้อกฎหมายที่เราทำ เราไม่ได้มีความผิดอะไร เพราะเราตรวจสอบอย่างละเอียดมาทุกขั้นตอน แต่เมื่อเจอกระแสสังคม ก็ต้องยอมรับในการที่เราจะถูกตรวจสอบเหมือนกัน เมื่อมีคนร้องเรียนเราก็ต้องตรวจสอบ แต่ก็สนุกดี เป็นกฎหมายใหม่ เป็นกฎหมายเฉพาะตัวที่ต้องเรียนรู้ ในองค์กรก็ถือว่า ค่อนข้างใหม่กับเรื่องนี้ เทคโนโลยีเข้ามาใหม่เรื่อย ๆ เราก็ต้องคอยปรับอยู่ตลอดเวลา

“เรารู้สึกว่า ชอบงานด้านนี้ แต่อยากให้ประเทศไทยพัฒนาโดยที่คนในสังคมลดความเห็นแก่ตัว ช่วยกันพัฒนาแท้จริง เหมือนไปทำงาน สวทน. ตอนแรกชอบ เพราะมันทำให้คนพัฒนาความคิด ไม่ใช่เราเอาเงินไปใส่ ๆ ประเทศไทยพร้อมทุกอย่าง ขาดแค่ความคิดของคน บางคนอยู่ไปวัน ๆ เห็นแก่ตัว ไม่เปิดโลก เหมือนประมูล 3 จี ขึ้นมา โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว แต่กลับมานั่งคิดว่า ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จริง ๆ ต้องมองทั้งผลดี ผลเสีย กลับมาจ้องแต่จะจับผิดคนอื่น ทำให้คนเราไม่ได้พัฒนา ไม่ช่วยกันทำอะไรเพื่อสังคม” สาวคนเก่งเปิดมุมคิด

 

RELATED ARTICLES