รำลึกตำนานอธิบดีกรมตำรวจ

ย้อนรำลึกครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 97 พล.ต.อ.มนต์ชัย  พันธุ์คงชื่น อดีตอธิบดีกรมตำรวจ

ตำนานแม่ทัพสีกากีมือปราบผู้ล่วงลับ ที่ถือกำเนิดเมื่อเกิดวันที่ 3 กันยายน 2464 ณ บ้านพักในซอยบุรณศิริ หน้าวัดบุรณศิริ ตำบลบุรณศิริ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร

เดิมชื่อ “ทิพมนต์” เปลี่ยนเป็น “มนต์ชัย” ตามนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ประชาชนเปลี่ยนชื่อ

ผู้ชายมีชื่อฟังรู้ว่าเป็นชาย  ผู้หญิงมีชื่อฟังรู้ว่าเป็นหญิง

หลังจากประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนชื่อ “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” มาก่อนหน้า

กลายเป็นปฐมบทของนักศึกษาหนุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

“มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น”

เจ้าตัวเลือกสมัครเข้ารับราชการกรมตำรวจ หลังจากได้รับปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต พล.ต.อ.อดุล  อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ สั่งบรรจุเป็นประจำการกองกำกับการ 2 กองตรวจสันติบาล ยศ “นายดาบตำรวจ” ฝึกหัดราชการกองคดี เพียง 15 วัน เลื่อนยศเป็น ร้อยตำรวจตรี เมื่อ 1 เมษายน 2485 คงฝึกหัดราชการกองคดีตามเดิม

เริ่มต้นชีวิตโรงพักเป็นรองสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลปากเกร็ด ที่ขณะนั้นขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ระหว่างเป็นรองสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง คนร้ายร่วมกันฆ่า พลทหารตู่ หรือเฉลียง จำนงค์วงศ์ ตายที่ถนนกะออม นางเลิ้ง ได้อย่างรวดเร็ว  พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ มีหนังสือ ประกาศชมเชย และทำพิธีมอบ “แหวนอัศวิน” ให้ที่สวนอัมพร

เป็นบำเหน็จความชอบ ระหว่างพิธีเลี้ยงฉลองยศ พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ

สมัยเป็นสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจนครบาลพญาไท สืบสวนและวางแผนจับกุมผู้ต้องหาลักทรัพย์บ้านพลเรือตรีหลวงมงคลยุทธนาวี เที่ยวนี้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจได้ประกาศชมเชย ยกย่องเป็นความดีความชอบ

มอบ “แหวนอัศวินฝังเพชร” ให้เป็นบำเหน็จรางวัลอีกวง

เมื่อครั้งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ร่วมกับ พ.ต.ท.เสมอ  ดามาพงศ์ จับตายคนร้าย 2 ศพ ปล้นทรัพย์ นายสุดใจ  นิลวรางกูร ยี่ปั๊วสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ร้านใกล้สะพานหัน อีกทั้งทลายโรงงานผลิตเฮโรอีนรายใหญ่ย่านสุทธิสาร

ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือปิดแฟ้มคดีคนปลงพระชนม์ พระนางเธอ ลักษมีลาวัณในรัชกาลที่ 6 เหตุเกิดที่ตำหนักใกล้ สถานีตำรวจนครบาลพญาไท และอำนวยการสืบสวนจับกุมคนร้ายยิง นายดาเรลล์ เบอริแกน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางเวิลด์ กลางซอยลือชา ถนนพหลโยธิน

   ปี 2509 วางแผนจับกุม “เสือปุ้ย”นายบุญมี  เชี่ยวบางยาง ปล้นร้านทอง และยิงเจ้าทรัพย์ตายในเขตกรุงเทพธนบุรี รวม 9 ครั้ง จอมพลถนอม  กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตาม มาตรา 17 รัฐธรรมนูญ สั่ง “ประหารชีวิตเสือปุ้ย” ในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นอำนวยการจับกุม เสือเชียร  สร้อยจำปา ฐานร่วมกับพวก ฆ่า พ.อ.จำนง  สังขะดุลย์ ที่หน้าวัดเศวตฉัตร ธนบุรี และปล้นร้านทองอีกหลายแห่งทั่วกรุง

คลี่คลายปมฆาตกรรม คุณหญิงวิบูลย์  อายุรเวช หมกศพไว้ในตุ่มน้ำในบ้าน ท้องที่ สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน และลงไปสืบสวนจับกุมทีมสังหาร พ.ต.อ.นรินทร์  วิทยาวุฒิกุล นายตำรวจประจำสำนักงานยกแก๊ง ที่มี เสืออบ  ขยันกิจ เป็นหัวหน้า

   ปิดบัญชีเสือร้ายเป็นผีเฝ้าไร่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

การสอบสวนผู้ต้องหาทุกคนสารภาพ ยืนยันว่า เสืออบได้พาตัวมากรุงเทพฯ เพื่อยิง พล.ต.ท.มนต์ชัยพันธุ์คงชื่น ขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ พ.ต.อ.นรินทร์ วิทยาวุฒิกุล ผู้ตาย และ พ.ต.ท.พิชัย  ชำนาญไพร นายเวร

สาเหตุเพราะบุคคลทั้งสามเกี่ยวข้องกับการจับกุมคนร้ายลักทรัพย์สินค้าของ พี.เอ็กซ์. ซึ่งมีนายตำรวจร่วมด้วย

คนร้ายมาดูตัวถึงตึกที่ทำการกรมตำรวจ 3 ครั้ง มาดักรอยิงบ้านซอยลือชา 4 ครั้ง แต่ไม่สบโอกาสกระทั่งลงมือยิง พ.ต.อ.นรินทร์ วิทยาวุฒิกุล สำเร็จ

“ตลอดเวลา 5 ปีในตำแหน่งสูงสุดของกรม ทำงานมาเยอะแยะ โดนมาโชกโชน ปิดทองหลังพระตลอด แต่ตำรวจก็ต้องอดทน บางคนอาจเพลี่ยงพล้ำได้ เพราะเมื่อสู้มาก ศัตรูก็มากไปด้วย โอกาสจะถูกตีก็มีมาก” คือความในใจของ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ภายหลังถูกมรสุมการเมือง ก่อนเกษียณอายุราชการไม่กี่เดือน

“แต่ไม่เป็นไร เมื่อเรามั่นใจว่า เราทำงาน ซื่อสัตย์สุจริต พอเราออกมานอกวงการแล้วเราก็มีความสุขและสบายใจ ไม่ต้องเป็นห่วงว่า ใครจะมารื้อฟื้นเราทีหลัง ตำรวจอยู่ใกล้ประชาชน เรื่องมันก็มากเป็นธรรมดา” ตำนานอธิบดีกรมตำรวจทิ้งท้าย

สมควรจารึกเป็นอนุสรณ์แด่องค์กรสีกากีที่ยากจะมีผู้นำคนไหนเทียบได้เช่นเขา

 

 

RELATED ARTICLES