ไทยแลนด์โอนลี่ “ประเทศกูมี”

โลกแห่งความจริง บางทีเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

กลายเป็นประเด็นร้อนระอุในเวลาอันรวดเร็วตามยุคดิจิทัล สนองนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ทำยอดวิวพุ่งทะลุสูงหลายล้าน เมื่อรัฐบาลโดดลงมาช่วยโปรโมต ศิลปินแร็พ Rap Against Dictatorship เจ้าของผลงานเพลง “ประเทศกูมี”

เนื้อหาสะท้อนการเมืองภายใต้ “อุ้งตีน” รัฐบาลเผด็จการทหาร

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี “โทรโข่งคนใหม่” รีบออกมาตีโพยตีพาย

บอกรัฐบาลรู้เสียใจในเรื่องนี้ คิดว่า เยาวชนน่าจะใช้ความสามารถด้านดนตรีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ไม่อยากให้คิดว่าทำแบบนี้เท่ ไม่แน่ใจว่า ผู้ทำเพราะความตั้งใจของตัวเอง หรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่

“ฝากเตือนว่า แม้เนื้อหาส่อไปทางต่อว่ารัฐบาล แต่สุดท้ายที่เสียหายมากที่สุดคือ ประเทศชาติ เพราะมีการเผยแพร่ไปทั่วโลก คนทำอาจสนุกสนานใช้ข้อมูลตอบโต้หรือว่ากล่าวรัฐบาล แต่สุดท้ายคนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย” โทรโข่งคนดังย้ำ

ย้ำผลกระทำถึงภาพความเสียหาย ทั้งที่ตัวเองลืมไปด้วยซ้ำว่า เคยร่วมสร้างความเสียหายอะไรไว้ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อคราวชุมนุมขับไล่รัฐบาล “นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

เอามาวัดคะแนน ได้-เสีย กับเพลงแร็พอาจจะคู่คี่สูสี หรือนำโด่งกินขาด

กระนั้นก็ตาม พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตรวจสอบแล้วว่า เนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่

เตรียมเรียกผู้ที่อยู่ในคลิปมาสอบปากคำถึงเจตนาที่กระทำคลิปเสียดสีดังกล่าวขึ้นมา

ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยียืนยันว่า  เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) ฐาน “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

อ้างว่า ความหมายในเนื้อเพลงอาจกระทำกระเทือนกับเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

ขู่ไปถึงคนแชร์คลิปส่งต่ออาจเข้าข่ายความผิดด้วย

อัตราโทษเดียวกับผู้โพสต์ คือ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ฟากของสมาชิก Rap Against Dictatorship ในฐานะผู้แต่งเพลง “ประเทศไทยกูมี” ที่กำลังดังกระฉ่อนไปทั่วเมือง ให้เหตุผลว่า ก่อนหน้าแต่งเพลงได้คุยกันก่อนแล้ว เนื้อหาสะท้อนมาจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาของการเมืองไทย มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ประเทศไม่ก้าวหน้า

ในฐานะคนรุ่นใหม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

ทว่าจุดประสงค์ไม่ได้ต้องการโจมตีประเทศ แต่ต้องการโจมตีระบบเผด็จการ คาดไว้อยู่แล้วจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์

“ขอให้ดูด้วยว่า เนื้อหาเพลงทั้งหมดล้วนเป็นเหตุที่เกิดขึ้นและวิจารณ์ในสังคมมาตลอดอยู่แล้ว แค่นำมาร้อยเป็นเพลงแร็พเท่านั้น” สมาชิกกลุ่มคนดนตรีเสียดสีการเมืองว่า

พร้อมกับตั้งเพจเฟซบุ๊ก “จะ 4 ปีแล้วนะไอ้…” ท้าทายอีกดอก

ตอกลิ่มความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในประเทศไทย

RELATED ARTICLES