โกงกินเงินคนตาย

มีเรื่องเล่าของทายาทนายตำรวจคนหนึ่ง

พ่อเขาสมัยเป็นชั้นประทวนเคยฝากผลงานสืบสวนแกะรอยขบวนการโจรกรรมรถรายใหญ่ในเมืองหลวงถึงขั้นยิงปะทะกับแก๊งคนร้ายได้รับบาดเจ็บ

นำไปสู่การขยายผล “ปิดบัญชี” กลุ่มนักขโมยระดับ “หัวโจก” ในเวลาต่อมา

เขาสามารถสอบเลื่อนชั้นเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรทำงานอยู่สายอำนวยการของ นักสืบหน่วยหนึ่ง กระทั่งเสียชีวิต เพราะโรคมะเร็ง

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ลูกชายอยากแชร์ประสบการณ์ผ่านสื่อเพื่อให้ตำรวจที่ยังมีชีวิตได้ระวังตัวและฝากเป็นบทเรียนถึงทายาทด้วย

“การโกงกินเงินคนตายถือว่าชั่วร้ายมากที่สุดของวงการตำรวจด้วยกันเอง” พ่อเขาเคยเปรยไว้ก่อนสิ้นลม

หลังมรณกรรมของผู้บังเกิดเกล้า พิธีศพตามประเพณีเสร็จเรียบร้อย เขาโทรศัพท์ไปถาม สหกรณ์ออมทรัพย์กองบัญชาการตำรวจนครบาล ถึงเงินสวัสดิการสงเคราะห์ที่ผู้พ่อทำไว้หรือไม่ เจ้าหน้าที่สหกรณ์แจ้งมาว่า ไม่มี แถมยังต้องหักหนี้สหกรณ์ที่เหลืออีกประมาณ 300,000 บาท

กระทั่งต้นปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ธุรการเพื่อนของพ่อมาหาที่บ้าน เอาเอกสารให้เซ็นรับเงินบำเหน็จตกทอด ก่อนมาอีกครั้งเพื่อให้เซ็นเอกสารใหม่อ้างว่า ครั้งที่แล้วผิด เขาเริ่มเอะใจ แต่ถามอะไรไปในเรื่องยอดเงินก็ไม่ได้รับคำตอบชัดเจน

จนมีเงินบำเหน็จตกทอดเข้าบัญชีธนาคารมาจำนวน 60,000   บาท

ลูกชายพยายามทำใจ เพราะสหกรณ์บอกต้องหักกลบลบหนี้ที่ว่าไว้เมื่อครั้งสอบถามเจ้าหน้าที่ตอนแรก แต่ไม่วายสงสัยอีกว่า ทำไมไม่มีเงินช่วยเหลืออะไรจากสหกรณ์เลยหรือ

ทั้งที่เป็นระเบียบข้อบังคับส่วนของสวัสดิการกรณีสมาชิกสหกรณ์เสียชีวิตให้แก่ทายาท

เขาตัดสินใจเข้าไปคุยใน เพจสหกรณ์ออมทรัพย์กองบัญชาการตำรวจนครบาล ถึงกระจ่างชัดว่า มีเงินที่ควรจะได้ประมาณ 200,000 บาท เขาจึงไปที่สหกรณ์ออมทรัพย์กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยื่นเรื่องก่อนหมดอายุความเพียง 2 วัน

ความจริงปรากฏว่า พ่อเขาไม่ต้องจ่ายหนี้ที่เหลือทั้งหมดที่มีอยู่ 500,000 กว่าบาท เพราะเข้าโครงการค้ำประกันช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน

พอถามถึงเงินบำเหน็จตกทอด ทำไมถึงหักทายาท 3 คน เหลือแค่คนละ 90,000 บาท แต่น้องสาวอีก 2 คนไม่โดนหัก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ตอบไม่ได้ บอกเพียงให้บันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐานการเรียกร้องสิทธิ ก่อนคอตกกลับบ้าน

อีก 2-3 วันถัดมาได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการต้นสังกัดพ่อว่า จะคืนเงินที่เหลือให้ และนัดไปเจรจาพร้อมแม่กับย่า อธิบายว่า ตัวเขาเป็นฝ่ายเซ็นยินยอมให้หักเงินเอง ส่วนน้องสาว 2 คนเป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะถึงไม่ถูกหัก

แล้วเงินที่โดนหักเข้ากระเป๋าใคร

เจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการเพื่อนร่วมงานของพ่อตอบหน้าตาเฉย

“เงินมันลอย ๆ อยู่เหมือนในอากศ”

สรุปแล้วเขาต้องเซ็นเอกสารรับเงินอีกรอบเพื่อรับเงินส่วนที่เหลือคืนเต็มจำนวน

เขาทบทวนลำดับเหตุการณ์ไม่อยากกล่าวหาใครที่ “ตุกติก” ตั้งแต่ เพื่อนร่วมงานพ่อ ที่นำเอกสารมาเซ็น 2 รอบ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการงานเดินหนังสือ ในสังกัดพ่อ

เอาเป็นว่า ถ้าเขาไม่เฉลียวใจไปทวงถามข้อเท็จจริงคงไม่ได้คืน

ถึงอยากฝากไว้เป็นบทเรียนแก่ทายาททั้งหลาย !!!

 

RELATED ARTICLES