ผ่านมา1ปีกับการทำงานของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดของโรงพยาบาลตำรวจ
เปิดตัวเพจเฟซบุ๊ก Depress we care ซึมเศร้าเราใส่ใจ
พร้อมโทรสายด่วน 081 932 0000
เป็นอีกช่องทางเพื่อดูแลข้าราชการตำรวจและครอบครัวรวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อรับฟังปัญหา ให้คำแนะนำ รวมถึงการช่องทางรักษา
มีผู้ปรึกษาเข้ามาทางช่องฝากข้อความใน IN BOX 308 ราย สายด่วน 420 ราย
เรื่องที่ปรึกษามากสุดเป็นตามลำดับมาจาก ความสัมพันธ์คนรักและครอบครัว ตามด้วย สงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเข้ามาสอบถามเรื่องกระบวนการรักษา การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า การเรียน แลปัญหาเรื่องการเงิน
ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีตัวเลขข้าราชการตำรวจที่ใช้บริการกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดของโรงพยาบาลตำรวจที่ยังน่าเป็นห่วง เมื่อพบในปี 2561 มีจำนวน 2,134 นาย แบ่งเป็นตำรวจชาย 1,405 นาย ตำรวจหญิง 729 นาย
มากกว่าปี 2560 ที่มี 2,072 นาย เป็นตำรวจชาย 1,482 นาย และตำรวจหญิง 580 นาย และเมื่อเทียบปี 2559 มีจำนวน 2,576 นาย ตำรวจชาย 2,061 นาย ตำรวจหญิง 515 นาย
แนวโน้มของตำรวจหญิงที่มีความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
พญ.ฐานิยา บรรจงจิตร จิตแพทย์ผู้ชำนาญการ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ให้เหตุผลไว้กับ สำนักข่าวบีบีซีไทย ว่า ตำรวจหญิงที่ประสบปัญหาเกิดจากทำงานธุรการเป็นหลัก โดนกดดันจากผู้บังคับบัญชาตามงานนอกเวลาราชการ ไม่รับโทรศัพท์ทันทีก็โดนตำหนิ พอมาถึงที่ทำงานก็โดนว่า ประจานต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน
พวกเธอถึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล
ขณะที่ พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจยอมรับกับ สำนักข่าวบีบีซีไทยเช่นกันว่า จากการสำรวจเป็นเวลา 1 ปีเต็ม พบตำรวจสายงานปฏิบัติมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 65 นาย ทางโรงพยาบาลมีรายชื่อทุกนายที่เข้าข่ายนี้แล้ว ก่อนส่งจิตแพทย์เข้าช่วยเหลือ พูดคุยกับผู้บังคับบัญชา
ป้องกันไม่ให้ตำรวจเหล่านี้ฆ่าตัวตายในอนาคต
“เราไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วค่อยมองกระจกหลัง แต่เราควรมองกระจกหน้าป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น” พล.ต.ท.วิฑูรย์ว่า
ด้านโรงพยาบาลตำรวจสรุปแบบประเมิน ความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย ของตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และ นครบาล เมื่อปี 2561 พบจำนวน 65 นาย มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูง จำนวน 520 นาย แนวโน้มฆ่าตัวตายปานกลาง
อีก 3,628 นาย แนวโน้มฆ่าตัวตายน้อย
มีจำนวน 108,776 นาย ไม่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย
ส่วนผลสรุปการประเมิน สุขภาพจิตใจ ข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และ นครบาล เมื่อปี 2561 พบจำนวน 41 นาย ซึมเศร้ารุนแรง จำนวน 1,078 นาย ซึมเศร้าปานกลาง อีก 7,685 นาย ซึมเศร้าเล็กน้อย และจำนวน 76,571 นาย ไม่มีอาการ
ที่เหลือ 7,180 นาย ไม่ตอบแบบสอบถาม
โรงพยาบาลตำรวจยังสรุป ดัชนีวัดความสุขข้าราชการตำรวจ สังกัด กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และนครบาล เมื่อปี 2561 มีจำนวน 18,750 นาย น้อยกว่าคนทั่วไป จำนวน 68,615 นาย เท่ากับคนทั่วไปและอีก 25,624 นาย มากกว่าคนทั่วไป
ดังนั้น เพจเฟซบุ๊ก Depress We Care : ซึมเศร้า เราใส่ใจ น่าจะเป็นอีกช่องทางบำบัดความเครียดในหมู่ข้าราชการตำรวจ
ลดทอนความเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในใจได้ไม่น้อย