สัมผัสตำรวจแดนอิเหนา

ข้ามน้ำข้ามทะเลลงไปที่เกาะชวาดินแดนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

ปัญหาอาชญากรรมในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นพร้อมกับการเติบโตของชุมชนเมือง มีปัจจัยอาจจะมีผลต่อปัญหาอาชญากรรมในแต่ละเมือง อาทิ อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น การขาดตำแหน่งงานที่เพียงพอ ความเสื่อมของการควบคุมทางสังคม

อาชญากรรมสำคัญในพื้นที่เมืองหลวง “จาการ์ตา” หรือเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความเจริญอย่าง “สุราบายา” อาชญากรรมที่เกิดขึ้นประจำเป็นเหตุไม่มีความรุนแรง เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ล้วงกระเป๋า และยาเสพติด

ส่วนปัญหาการแบ่งแยกดินแดนจะมีอยู่ที่ “อาเจห์” จากกลุ่มองค์กรปลดปล่อยอาเจห์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2518 และกลุ่มก่อความไม่สงบในอินโดนีเซียที่เป็นกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงต่อต้านการปกครองระบบประชาธิปไตยเพื่อสร้างรัฐอิสลามซาลาฟี

การรวมตัวเป็นสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่เป็นหนึ่งเดียวในยุคหลังได้รับเอกราชกับการก่อตัวของตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นคู่ขนานกัน ประวัติศาสตร์ของอิเหนาระบุไว้ว่า หน้าที่ของตำรวจมีอยู่ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐของพวกเขา รัฐบาลได้ก่อตั้งหน่วยบริการตำรวจแห่งชาติขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1946 ที่ถือเป็น “วันตำรวจ” ประเทศอินโดนีเซีย

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของตำรวจอินโดนีเซียในการเข้าสู่ยุคปฏิรูป คือ การเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลประธานาธิบดีซูฮาร์โต ทำให้ตำรวจแยกตัวออกจากกองทัพอินโดนีเซีย ตำรวจกลับมามีบทบาทในสังคมมากขึ้น

เปลี่ยนเป้าหมายเป็นการทำงานเพื่อประชาชน ตอบสนองความต้องการของประชาชน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย มีการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจขึ้นตรงต่อประธานาธิยบดี แบ่งเขตรับผิดชอบออกเป็นตำรวจระดับภาค ระดับอำเภอ และระดับตำบล นอกจากนี้ยังมีหน่วยเฉพาะ เช่น หน่วยควบคุมฝูงชนเป็นกองกำลังเคลื่อนที่ที่ใช้ในการปฏิบัติการด้านความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะ ตำรวจทางอากาศ ตำรวจน้ำ ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน หน่วยต่อต้านการก่อการร้าย ตำรวจจราจร ตำรวจควบคุมชายฝั่งทะเล ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ตำรวจสืบสวนสอบสวน และตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานทูตของประเทศต่าง ๆ

สถาบันการศึกษาของตำรวจอินโดนีเซีย ยังมีหลายรูปแบบ ประกอบด้วย โรงเรียนนายร่อยตำรวจ วิทยาลัยการฝึกอบรมตำรวจในหลักสูตรประกาศนียบัตร ปริญญาโทและปริญญาเอกทั้งประเทศ โรงเรียนฝึกอบรมตำรวจชั้นประทวนที่สอบเลื่อนขั้นเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร รวมทั้งศูนย์ฝึกตำรวจสืบสวนสอบสวน

การเกษียณอายุราชการของตำรวจอินโดนีเซียทั่วไปจะอายุ 58 ปี แต่สำหรับตำรวจที่มีความสามารถพิเศษและเป็นที่ต้องการของหน่วยงานสามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี

ส่วนระบบกฎหมายอินโดนีเซีย ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายยุโรปและกฎหมายอาณานิคมดัตช์ กระทั่งสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประกาศตัวเป็นเอกราชจึงสร้างระบบกฎหมายแห่งชาติขึ้นมา เนื้อหาใจความขยายจากความคิดเห็นของชาวอินโดนีเซียสร้างประมวลกฎหมายอาญาใหม่

พวกเขายังแก้กฎหมายเป็น “ระบบกล่าวหา” แทน “ระบบไต่สวน” ทำให้คำรับสารภาพของผู้ต้องหาไม่สามารถเป็นหลักฐานได้เพื่อลดการทรมานผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ สะท้อนให้เห็นถึงการคำนึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ตำรวจมีอำนาจในการรับคำร้องทุกข์หรือรับแจ้งความคดีอาญา ตรวจค้นหาข้อมูลและพยานหลักฐาน หยุดบุคคลที่ต้องสงสัยในคดีหรือกระทำอย่างอื่นตามกฎหมาย ส่วนการฟ้องคดีเป็นหัวหน้าของสำนักงานอัยการสูงสุดขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี

ขณะที่การควบคุมการชุมนุมสาธารณะ หรือการประท้วงในอินโดนีเซียมีกฎหมายโดยเฉพาะ แก้ไขล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2013 ให้อำนาจกลุ่มองค์กรท้องถิ่นและต่อต้านการรวมตัวกันขององค์กรอิสระต่างชาติ ให้อำนาจรัฐในการควบคุมกลุ่มพลเรือน รวมทั้งการสลายการรวมกลุ่มของกลุ่มคนที่อาจจะเป็นภัยต่อประเทศ

ทั้งนี้การชุมนุมทั้งหมดจะต้องคำนึงถึงความเรียบร้อยของสังคม และต้องชุมนุมภายใต้อุดมการณ์ปัญจศีลา

อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรตำรวจยังมีมรดกในลักษณะความเป็นทหารในอดีตจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อตำรวจอินโดนีเซีย

ตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียเลือกพัฒนาหลักการตำรวจชุมชนไปปรับใช้การปฏิบัติงานเพื่อความเป็นวิชาชีพตำรวจและเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและการบังคับใช้กฎหมายตอบสนองความต้องการของประชาชน

รวมถึงงานตำรวจชุมชนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางมุ่งเน้นเคารพสิทธิมนุษยชนและการสร้างความเป็นหุ้นส่วนของชุมชนร่วมแก้ไขปัญหาสังคมเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร้วมในกิจการตำรวจมากขึ้น

มีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะ เรียกว่า “ศูนย์อำนวยการตำรวจชุมชน”

RELATED ARTICLES