เปรียบสภาพอาชญากรรมทั่วไปของประเทศสมาชิกอาเซียน

งานวิจัยของทีมงาน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังนำเอาผลการศึกษาแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนมาเปรียบเทียบการบริหารจัดการงานตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลความปลอดภัยสาธารณะ

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสภาพสังคม เศรษฐกิจ ข้อมูลพื้นฐานของแต่ละประเทศด้านโครงสร้างการเมืองการปกครองประเทศ รูปแบบโครงสร้างองค์กรและการบริหารงานตำรวจ ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ การสร้างหุ้นส่วนเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ และด้านงานตำรวจระหว่างประเทศ

แต่ผู้เขียนขออนุญาตโฟกัสเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับ สภาพอาชญากรรมทั่วไป ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ

คดีที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ได้แก่ ฉกชิงวิ่งราวทรัพย์ ล้วงกระเป๋าที่เกิดเหตุในที่สาธารณะ ลักทรัพย์ในเคหะสถาน ทำร้ายร่างกายที่อาจมีและใช้อาวุธในการกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าพื้นที่อื่น

เช่น ไทย ปัจจุบันที่การเติบโตของเมือง มีร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร ร้านทอง สถานบริการน้ำมันจำนวนมากจึงมีเหตุชิงทรัพย์เกิดขึ้นจำนวนมาก ผู้กระทำผิดเป็นกลุ่มวัยรุ่น และถือเป็นประเทศที่ประชาชนนิยมใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ทำให้มีคดีลักรถจักรยานยนต์เกิดขึ้นมากไม่ต่างจากเวียดนาม และมาเลเซีย

อาวุธก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้เหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นรุนแรง มี 2 ประเทศในอาเซียยน คือ ไทย และฟิลิปปินส์ กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนขอครอบครองอาวุธปืน สามารถขออนุญาตพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะได้

คดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบางครั้งจึงมีความรุนแรงโดยการใช้อาวุธปืน

ขณะที่ในบางที่ประเทศไม่อนุญาตให้ประชาชนครอบครองอาวุธปืน แต่ก็มีอาวุธผิดกฎหมายหลงเหลืออยู่หลังประเทศอยู่ในสภาวะสงคราม หรือจากการลักลอบนำเข้ามาโดยผิดกฎหมายก็เป็นปัจจัยให้เกิดอาชญากรรมที่รุนแรงได้เช่นกัน

ประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำมากและเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยในระดับต้นของโลกอย่างสิงคโปร์ก็ยังมีอาชญากรรมที่ไม่รุนแรง แต่กระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ในห้องพักภายในอาคารสูงเนื่องจากประชาชนออกไปทำงานในเวลากลางวัน คดีลักรถจักรยาน ลักทรัพย์ในร้านค้า เป็นต้น

ส่วนฟิลิปปินส์ มีคดีลักพาตัวและเรียกค่าไถ่เกิดขึ้นมาก ผู้กระทำผิดมีเหตุจูงใจเพื่อประสงค์ต่อทรัพน์ และกลุ่มก่อการร้ายที่ลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่นำเงินไปใช้จ่ายในปฏิบัติการของกลุ่ม ไม่ต่างจากประเทศที่เป็นหมู่เกาะ หรือมีชายฝั่งทะเลยาวเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ เช่น อินโดนิเซีย เวียดนาม กัมพูชา ทำให่มีการกระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายการประมง และโจรสลัด

กระนั้นก็ตาม อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ก็กำลังเป็นปัญหามากขึ้นในแต่ละประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว มีการติดต่อซื้อขายทางธุรกิจ ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ส่งผลให้เกิดคดีหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตด้วยกลโกงต่าง ๆ การฉ้อโกงซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นจำนวนไม่น้อย

ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน มีข้อมูลการจัดอันดับเมืองปลอดภัยของโลกของ ดิ อีโคโนมิสต์ ด้านความปลอดภัยของ 60 เมืองทั่วโลก และแยกความปลอดภัยด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ มี 7 เมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับการจัดอันดับดังนี้

สิงคโปร์ มาเป็นอันดับ 2 จาก 60 เมืองทั่วโลก ตามด้วย กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย อยู่ลำดับ 30 กรุงเทพมหานครของไทยอยู่ลำดับ 52 โฮจิมินห์ เวียดนาม อยู่ลำดับ 56 ติดกับย่างกุ้ง เมียนมา ลำดับ 57 มะนิลา ฟิลิปปินส์ ลำดับ 59 บ๊วยสุดเป็น กรุงจาการ์ตา อินโดนิเซีย อยู่ลำดับสุดท้าย

ด้านสถานการณ์การก่อการร้าย ตามรายงานด้านอาชญากรรมและความปลอดภัยของหน่วยงานด้านความมั่นคงทางการทูต กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประเมินความเสี่ยงของภัยการก่อการร้ายที่อาจคุกคามต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายในเมืองต่าง ๆ ในประเทศอาเซียนไว้

เมืองหลวงหรือประเทศที่มีความเสี่ยงสูง คือ จาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซีย มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ความเสี่ยงระดับป่านกลาง คือ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ย่างกุ้ง ประเทศพม่า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และความเสี่ยงระดับต่ำ มี บรูไน สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม

การก่อการร้ายเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับปัญหาอาชญากรรมอื่น เนื่องจากกลุ่มก่อการร้ายจำเป็นต้องมีเงินทุนสนับสนุนจึงต้องก่ออาชญากรรมเพื่อให้มีเงินมาเคลื่อนไหวปฏิบัติการ

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ที่ก่อเหตุลักพาตัวเรียกค่าไถ่ หรือกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอาจลักรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปก่อเหตุคาร์บอมบ์

โดยสรุปประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน อาจจำแนกออกเป็นประเทศที่ตั้งอยู่คาบสมุทรอินโดจีน ประเทศที่เป็นหมู่เกาะ สภาพสังคมและเศรษฐกิจ กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชนที่แตกต่างกัน

ส่งผลให้สภาพอาชญากรรมภายในประเทศและอาชญากรรมข้ามพรมแดนมีความแตกต่างกันออกไป

RELATED ARTICLES