“ถ้าตำรวจทำด้วยความสุจริต ไม่ต้องกลัว”  

บ่อยครั้งคดีกลับตาลปัตรเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย

ฝ่ายจำเลยได้ทีมีทนายแนะหาช่อง “ฟ้องกลับ” ตำรวจชุดจับกุมฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กลายเป็นรอยด่าง “ต้องมลทิน” ส่งผลเสียต่อหน้าที่การงาน

ทั้งที่ข้อเท็จจริง ผู้ต้องหาถูกพิพากษายกฟ้อง บางครั้งไม่ใช่ว่า ไม่มีความผิด เพียงแต่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ศาลจึงยกประโยชน์เหตุอันควรสงสัยให้จำเลย

แต่ใช่ว่า ตำรวจชุดจับกุมต้องโดนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

มีผู้สันทัดกรณีให้ข้อคิดไว้น่าสนใจในโลกออนไลน์อธิบายหลักกฎหมายชัดเจน

“ถ้าตำรวจทำด้วยความสุจริต ไม่ต้องกลัว”  

ความผิดตามมาตรา 157   ต้องมีองค์ประกอบเป็น “เจตนาพิเศษ” คือ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เช่น การกลั่นแกล้ง

หรือการกระทำโดยทุจริต คือ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

หากไม่มีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่ว่า แม้ปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจะไม่เข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157   

เขาสรุปตัวอย่างกรณี ตำรวจล่อซื้อย้าบ้าจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลาง แต่ต่อมาศาลจังหวัดแห่งหนึ่ง “ยกฟ้อง” โดยไม่เชื่อว่า ผู้ต้องหากระทำผิด เพราะตำรวจไปจับกุมมีหลายคน แต่มีตำรวจไปเบิกความเห็นเหตุการณ์เพียงปากเดียว  และพนักงานสอบสวนไม่ได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุเพื่อทำแผนที่ให้เห็นจุดล่อซื้อ และจุดที่ซุ่มดูการล่อซื้อ

ปรากฏว่า ผู้ต้องหามาฟ้องกลับตำรวจชุดจับกุม มีการส่งเรื่องไปหน่วยงานเกี่ยวกับการปราบปรามข้าราชการทุจริตสอบสวนแจ้งข้อหา ไม่ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนการจับกุม เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  และ ทำเอกสารการจับกุมมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162

ตำรวจชุดจับกุมทั้งหมด 8 นายปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ในชั้นศาลคดีทุจริตได้วินัจฉัยจำเลยทั้งหมดกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 8 คนไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนการจับกุม ตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะ 3 ข้อ 13  อันเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์

ศาลวินัยฉัยว่า ตามระเบียบตำรวจดังกล่าว ไม่ใช่บทบังคับที่จำเลยต้องปฏิบัติตาม ในเมื่อจำเลยทั้งหมดได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคหนึ่ง  แล้ว เป็นบทบังคับให้เจ้าพนักงานที่เป็นผู้ทำการจับกุม แจ้งแก่ผู้ที่ถูกจับนั้นว่า “ เขาต้องถูกจับ”

แต่การแจ้งว่า “ เขาต้องถูกจับ” ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำดังกล่าวตายตัวเสมอไป อาจเป็นถ้อยคำอื่น ที่มีความหมายในลักษณะเดียวกันก็ได้

ในคดีนี้ มีพยานได้ยินเสียงพูดว่า  “ อย่าขัดขืน นี่ตำรวจ” เมื่อพยานถามว่า “เกิดอะไรขึ้น” ชายอีกคนตะโกนว่า “ อย่ามายุ่ง นี่ตำรวจ”

เมื่อนำถ้อยคำดังกล่าวมาประกอบปฏิกิริยาผู้ต้องหาที่พยายามดิ้นเพื่อให้หลุดพ้นการจับกุม ย่อมทำให้ผู้ที่พบเห็น รวมทั้งผู้ต้องหาเข้าใจได้ทันทีว่า ผู้ที่เข้าไปจับกุมนั้นได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ พร้อมกับบอกว่า “ อย่าขัดขืน นี่ตำรวจ” 

ย่อมมีความหมายเดียวกับคำว่า “เขาต้องถูกจับ”

อันเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคหนึ่ง 

แม้คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้อง ศาลจังหวัดจะพิพากษายกฟ้อง ถือเป็นดุลยพินิจของศาลในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน

ประการสำคัญจำเลยทั้ง 8 คน ได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา มีการวางแผนกันล่อซื้อ มีผู้พบเห็นการกระทำผิด ขณะที่ผู้ต้องหาส่งมอบยาเสพติดให้กับสายลับ

ย่อมเป็นความผิดซึ่งหน้า

จำเลยทั้งหมดย่อมมีอำนาจจับกุม

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 8 คน ทำบันทึกจับกุมกรอกข้อความอันเป็นเท็จ เห็นว่า คดีที่อัยการยื่นฟ้องนั้น การบรรยายฟ้องและทางนำสืบในชั้นศาลเป็นไปในทำนองเดียวกับพฤติการณ์ที่ระบุในบันทึกจับกุม

ขณะเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่เบิกความว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของหน่วยงานรับผิดข้าราชการทุจริตก็ฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งหมดกลั่นแกล้งยัดยาบ้าผู้ต้องหา แต่ฟังได้ว่า วางแผนไปล่อซื้อจริง ทว่า บันทึกจับกุมที่จัดทำ เป็นเอกสารเท็จ เพราะข้อเท็จจริงที่ลงรายละเอียดว่า จำเลยทั้งหมดทำอะไรไปบ้างนั้น ขณะเข้าจับกุม

ไม่ตรงกับความจริง

ศาลคดีทุจริตน่าเชื่อว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการปราบทุจริตนำเอาผลคำพิพากษาที่ยกฟ้องไปประกอบการสรุปความเห็น นอกจากขัดแย้งกันเองแล้ว ยังเท่ากับเป็นการย้อนกลับไปฟังบันทึกการจับกุมให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่า ร่วมกันทำเอกสารเท็จ  อันขัดต่อหลักการรับฟังพยานที่จะต้องรับฟังไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ขัดแย้งกันประการสำคัญ

ถือไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 8 คนร่วมกันทำเอกสารเท็จ หรือรับรองข้อความอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งหมดจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษายกฟ้อง

RELATED ARTICLES