สอบวัดกึ๋นหัวปิงปอง

นับเป็นไอเดียดีแต่ เกาถูกที่คัน หรือเปล่าไม่รู้

กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดโครงการทดสอบความรู้ด้านการจราจร “วัดกึ๋น” การทำหน้าที่ “ตำรวจหัวปิงปอง” ต้องแม่นข้อกฎหมายไปใช้ปฏิบัติหน้าที่ตามท้องถนนเมืองหลวง

โครงการนี้ผู้บังคับบัญชามองว่า ตำรวจจราจรเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรในการปฏิบัติหน้าที่

ต้องสามารถชี้แจงประชาชน หรือ ผู้ถูกจับกุมให้เข้าใจได้ว่า ผิดกฎหมายอย่างไร อยู่ในมาตราใด

พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จึงร่วมหารือ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจจราจร ในฐานะหัวหน้ารับผิดชอบงานจราจร ผุดโครงการอบรมเรื่องของงานจราจร

จัดสอบวัดความรู้เพื่อประเมินว่าตำรวจสายงานจราจรมีความรู้มากแค่ไหน

และจะผ่านการสอบหรือไม่

 ตั้งเป้าทดสอบนายตำรวจระดับรองผู้กำกับการไปถึงผู้บังคับหมู่การจราจรในสังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 และกองบังคับการตำรวจจราจร รวมประมาณ 3,000 กว่านาย

แบ่งวิชาที่สอบเกี่ยวกับความรู้เรื่องข้อกฎหมาย กฎจราจร พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับงานจราจร รวมถึงกฎจราจรที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อสอบเป็นแบบปรนัย 100 ข้อ แต่มีตำราให้อ่านล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวประมาณ 1,000 ข้อ

แต่ละกองบังคับการจะได้ข้อสอบไม่ซ้ำกันสลับหมุนเวียนอยู่ใน 1,000 ข้อที่แจกเป็นคู่มือเตรียมสอบไปก่อนหน้า

ให้เวลาสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที

เกณฑ์ตัดสินต้องสอบให้ผ่าน 80 ข้อขึ้นไป

ผู้ประเมินข้อสอบเป็นหน้าที่ของศูนย์ฝึกอบรมกองบัญชาการตำรวจนครบาลรวมกับรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9 ที่รับผิดชอบหน้างานจราจร และรองผู้บังคับการตำรวจจราจร

สำหรับตำรวจที่สอบไม่ผ่านเกณฑ์ เบื้องต้นจะให้โอกาสสอบใหม่อีกรอบ

หากยังสอบไม่ผ่านอีก อาจจะพิจารณาคำสั่งให้ย้ายไปสายงานอื่น

เป็นการสอบวัดความรู้ตำรวจจราจรอย่างจริงจังของหน่วยหัวปิงปอง  เพราะปัจจุบันชาวบ้านมีความรู้มากขึ้น ขณะที่โลกโซเชียลเปลี่ยนแปลงไปในบทบาทชอบตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจ

   ตำรวจจำเป็นต้องแม่นข้อกฎหมาย ไม่ใช่เขียนข้อหาผิด ๆ ถูก ๆ ตามอำเภอใจลงไปใน “ใบสั่ง” หวังเพียงเงินรางวัลส่วนแบ่งค่าเปรียบเทียบปรับ

กองบัญชาการตำรวจนครบาลตั้งเป้าไว้ว่า ตำรวจจราจรทุกคนต้องเป็นตำรวจมืออาชีพ

“ถ้าถึงขนาดใบสั่งยังเขียนไม่ถูก ก็ต้องถูกลดระดับลงไปอยู่ฝ่ายอำนวยการ ธุรการ หรือประชาสัมพันธ์บนโรงพัก เหมือนเป็นการลงโทษห้ามถือใบสั่งไปในตัว” พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า

สะกิดเตือนอย่างเดียว

ไหนจะทดสอบความรู้ด้านกฎหมายแล้วควรจะทดสอบ “สภาพจิตใจและอารมณ์” ของผู้ปฏิบัติงานที่ต้องใช้กฎหมายกับชาวบ้านด้วย

เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการปะทะความคารมจากคำพูดไม่เข้าหู

ยึดหลักนิติศาสตร์มากกว่า “รัฐศาสตร์” ขาดความอะลุ้มอล่วย มันคือ “ความห่วย” ในพฤติกรรมของตำรวจจราจรบางนายทำผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ทั้งองค์กรเสียหาย

ดูเหมือนเป็นพวกชอบหิวกระหายตั้งแก๊งปล้นกลางถนน

 

 

RELATED ARTICLES