คุณเคยคิดฆ่าตัวตายหรือเปล่า
สำหรับผู้เขียนไม่เคย แต่ “ลงมือเลย” โชคดี มัจจุราชฮอลลิเดย์ ทำให้มีลมหายใจรอดมาถึงปัจจุบัน
ชนวนผิดหวัง อารมณ์เพียงชั่ววูบ ไม่คิดถึงคนข้างหลัง ที่เรียกกันว่า “คิดสั้น” นั่นแหละที่ทำหลายคน “ลาโลก” ก่อนถึงเวลาอันควร
เมื่อไม่มีทางออก จะบอกใครก็ช่วยแก้ปมปัญหาไม่ได้ สุดท้ายต้องเลือก “อัตวินิบาตกรรม”
วงการสีกากีไม่ได้มีแค่ชั้นผู้น้อยทยอยกันฆ่าตัวตายด้วยปัจจัยหลายสาเหตุ
ก่อนหน้า พล.ต.ต.คำนึง ธรรรมเกษม อดีตผู้บังคับการปราบปรามที่เคยเป็นตำนานยิ่งใหญ่ของกรมตำรวจ พล.ต.ต.ทรงวุฒิ ถวัลย์กิจดำรงค์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี มาจนถึง พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ตำนานมือปราบชื่อดัง และล่าสุด พล.ต.ท.ประชิน วารี อดีตรองจเรตำรวจแห่งชาติ ก็เลือกทางบั้นปลายชีวิตด้วยโศกนาฏกรรมอันสุดสะเทือนขวัญ
การที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมาตรการป้องกันตำรวจฆ่าตัวตายอันเกิดจากปัญหาความบีบคั้นจากสภาพการปฏิบัติงาน หรือปัญหาชีวิตส่วนตัว “ย่อมเป็นสิ่งดี” แต่บางทีไม่ง่ายที่จะตามดูความเคลื่อนไหวของตำรวจทุกนาย
แม้จะคาดโทษผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยไม่สอดส่องดูแลช่วยเหลือลูกน้องที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะพิจารณาความบกพร่องของผู้บังคับบัญชา ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 1212/2537 เรื่องมาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ
อีกทั้งให้ทุกหน่วยงานระดับกองกำกับการและระดับสถานีตำรวจ แต่งตั้ง “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” ให้ความช่วยเหลือตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างเร่งด่วน
หวังยับยั้งความตายที่เกิดจาก “อารมณ์ชั่ววูบ” ภายในความคิดของตำรวจบางคน
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลตำรวจได้ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรมผ่านเพจ Depress We Care ให้ความรู้ในการเฝ้าระวังจากสัญญาณเตือนผู้มีความเสี่ยงทำร้ายตัวเอง
ตั้งแต่ พูดถึงความตาย หรือฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย ไม่อยากเป็นภาระใคร รู้สึกว่า ตัวเองไม่มีค่า ไม่รู้จะอยู่เพื่อใคร
พูดหรือเขียนสั่งเสีย ทำพินัยกรรม แจกของใช้ส่วนตัวให้ผู้อื่น
นิสัยเปลี่ยนเป็นซึมเศร้า แยกตัวเอง หมดอาลัยตายอยาก ร้องไห้บ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ มีความรู้สึกผิดและดูถูกตัวเอง
มีภาวะโรคจิต เช่น มีอาการหูแว่วว่า มีคนสั่งให้ไปตาย หลงผิดคิดว่าจะถูกคนทำร้าย หรือมีความคิดแปลก ๆ เช่น ถ้าฆ่าตัวตายแล้วจะช่วยให้โลกไม่แตก
ติดสุรา หรือยาเสพติดจนเลิกไม่ได้ ครอบครัวและชุมชนไม่ยอมรับ
มีการสูญเสียบุคคล หรือของรักที่มีความสำคัญของชีวิตในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
ถูกเร่งรัดหนี้สินจนหาทางออกไม่ได้
เกิดการโต้เถียง ทะเลาะวิวาทรุนแรงบ่อย ๆ ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงาน
หากพบลักษณะดังกล่าวควรเฝ้าระวัง พูดคุยสอบถามปัญหา ให้กำลังใจและหาวิธีแก้ไข รวมทั้งติดต่อสมาชิกในครอบครัวเพื่อเข้ารับคำปรึกษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วน และเก็บอุปกรณ์ หรือป้องกันวิธีที่ใช้ฆ่าตัวตาย ได้แก่ ปืน ยา วัตถุมีคม เชือก สารพิษ การกระโดดจากที่สูง เป็นต้น
โรงพยาบาลตำรวจยังมีคำแนะนำสรับผู้มีความเสี่ยง อาทิ เลือกทำกิจกรรมที่เคยทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เช่น ฟังเพลง ดูหนัง หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการที่เหมาะสม
วางเป้าหมายการทำงานให้เป็นขั้นตอนง่าย ๆ และสามารถเป็นจริงได้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำกิจกรรมกับเพื่อน ญาติ สมาชิกในครอบครัว พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน
ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ใกล้ชิด ต้องใส่ใจและให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้ระบายความคับข้องใจ ไม่ตัดสินถูกผิด สนับสนุนในการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
เฝ้าระวังการทำร้ายตัวเอง ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว
ช่วยดูแลเรื่องการรับประทานยา อีกทั้ง ส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของตัวเอง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอรับการปรึกษาได้ที่ สายด่วน Depress We Care 081 932 0000 หรือสายด่วน กรมสุขภาพจิต 1323