ตำนานเสือยิ้มยาก

อีกตำนานมือปราบผู้ล่วงลับในเวลาไล่เลี่ยกัน

นับเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลอันทรงคุณค่าหาใครเทียบเคียงได้ในยุคปัจจุบัน

พล.ต.อ.ล้วน ปานรศทิพ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสียชีวิตในวัย 77 ปีเศษ

เขาถือเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นตามรอย พล.ต.ต.เลื่อน ปานรศทิพ พ่อบังเกิดเกล้าที่ได้ชื่อเป็น “นายพลตงฉิน” ของกรมตำรวจ

จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 17 เริ่มรับราชการตำแหน่งผู้หมวดโรงพักเมืองนครนายก แล้วไปเป็นผู้บังคับกองร้อยในโรงเรียนนายร้อยตำรวจอยู่ 7 ปี ออกมารับตำแหน่งผู้กอง สถานีตำรวจภูธรอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ปีเดียวขึ้นสารวัตรใหญ่โรงพักสัตหีบ ก่อนโยกเป็นสารวัตรใหญ่โรงพักเมืองชลบุรี กระทั่งขึ้นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ดินแดนอิทธิพลเจ้าพ่อภาคตะวันออก เปิดฉากกำราบกลุ่มที่กระทำผิดกฎหมายแบบไม่ไว้หน้าใคร

“ผมเป็นคนรักษากฎหมาย พร้อมที่จะให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่เคารพกฎหมาย และพร้อมที่จะจับกุมเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพล หากกระทำความผิด ย่อมไม่ละเว้น” เขามอบนโยบายผู้ใต้บังคับบัญชาทุกครั้งเมื่อได้โอกาสนั่งผู้นำทัพ

เจ้าตัวตัวย้ำว่า แท้จริงแล้วผู้มีอทธิพลนั้น หากข้าราชการไม่เข้าไปอุ้มชู หรือซูฮก ไม่ให้ความสำคัญกับบุคคลเหล่านั้น ผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าพ่อย่อมไม่มีขึ้นอย่างเด็ดขาด

สำคัญที่สุด เขาจะบอกตลอดว่า

“ตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย ใครก็ตาม ถ้าทำผิดแล้วมีหลักฐาน หัวเด็ดตีนขาดเป็นต้องจับ”

เลื่อนจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 3 ก่อนโยกเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม และขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 3

ต่อมาได้รับความไว้วางใจให้มา “คุมทัพสามยอด” นั่งเป็นผู้บังคับการคนที่ 20 ของหน่วยติดอาร์มสวยในนาม “กองปราบปราม” ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมก่อนหน้าที่โดนมองว่าเป็น “แดนสนธยา” เหตุเพราะกลายเป็นอาณาจักรส่วนตัวของผู้บังคับบัญชาบางคนในอดีตที่แตะต้องไม่ได้

แต่สำหรับ “ผู้การล้วน” ขับเคลื่อนหน่วยด้วยปรัชญาการทำงานเป็นทีม

“ลูกน้องทุกคนมีประโยชน์ต่อการทำงานทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้บังคับบัญชาจะรู้จักหยิบยกเอาคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวเขามาใช้ให้ถูกกาลเทศะและตรงกับงานหรือไม่”

มีส่วนทำให้กองปราบปรามกลับมาสง่างามมีชีวิตชีวา สร้างบทบาทในการปราบปรามอาชญากรรมให้หน้าเกรงขามอีกครั้ง

สมเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน

จากนั้นขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไปเกษียณตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2545

ปี 2550 ได้รับพระราชทานยศ พล.ต.อ. เป็นกรณีพิเศษ

สไตล์การทำงานตลอดเส้นทางอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะมุ่งมั่นที่ยึดความถูกต้องเป็นหลัก พูดน้อยไม่ค่อยชอบโปรโมตตัวเอง กระทั่งครั้งหนึ่งสื่อมวลชนตั้งฉายาให้เป็น “เสือยิ้มยาก”

ถึงกระนั้นเขาถือเป็นตำนานมือสืบสวนสอบสวนชั้นครูที่สร้างลูกศิษย์ไว้มากมาย

ภายใต้อุดมการณ์และจิตวิญญาณความเป็นตำรวจ

RELATED ARTICLES