ระวังภัยเจลแอลกอฮอล์ผสมพิษ

ภัยอันตรายที่แฝงตัวปะปนมากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

น่าจะเป็นมนุษย์วายร้ายอาศัยสถานการณ์หากินซ้ำเติมประชาชน แถมกระจายพิษที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายชาวบ้านยิ่งกว่าเชื้อไวรัสอุบัติใหม่สายพันธุ์มรณะ

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รับรายงานจากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบมีผู้เข้ามารักษาอาการสงสัยเกิดพิษจาก เมทิลแอลกอฮอล์ (methanol alcohol toxicity)

ทำให้เกิด “ภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรง”  จำนวนหลายราย

เป็นคนงานจากโรงงานผลิตแอลกอฮอล์เจลที่อยู่บริเวณรอยต่อจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร

ต่อมา พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมาย พร้อมด้วย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวบรวมพยานหลักฐานขอหมายค้นเข้าตรวจบริษัท มานะภัณฑ์ เครื่องหอม จำกัด อาคารเลขที่ 168 หมู่ 9  ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

อายัดของกลางวัตถุดิบ 15 ถัง ถังละ 200 ลิตร รวม 3,000 ลิตร  ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป จำนวน 6,865 ขวด ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจวิเคราะห์ของกลางที่เก็บตัวอย่างจากสถานที่เกิดเหตุ

ปรากฏพบ เมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol) ในปริมาณมากทั้งจากเครื่องสำอางสำเร็จรูปและเจลของเหลวบรรจุแกลลอน รวมถึงฉลากปลอมเลขที่ใบจดแจ้ง  

ส่งผลอันตรายต่อร่างกายหากประชาชนนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น  นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ต่อไปว่า คณะกรรมการอาหารและยาจะผนึกกำลังร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ด้วยการขยายผล เข้าตรวจสอบหาโรงงานที่ลักลอบผลิต นำเข้าและจำหน่าย

หากพบผู้รับอนุญาตรายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและใช้มาตรการทางปกครองทันที

“ในกรณีนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ตรวจพบ เมทิลแอลกอฮอล์จัดเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้หลอดลม ลำคอ เยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจ หรือสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นผิดปกติและอาจตาบอดได้”

เจ้าตัวย้ำว่า คณะกรรมการอาหารและยาไม่อนุญาตให้ใช้เมทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเด็ดขาด และสั่งระงับการผลิตเครื่องสำอาง เร่งรัดให้ผู้ผลิตเรียกเก็บคืนผลิตภัณฑ์ออกจากท้องตลาดในกรณีนี้แล้ว เพราะถือเป็นเครื่องสำอางไม่ปลอดภัยในการใช้

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกว่า ขอเตือนผู้ผลิตอย่าซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ควรเลือกวัตถุดิบแอลกอฮอล์สำหรับผลิตเจลแอลกอฮอล์ให้ดีก่อนซื้อมาผลิต ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายกับผู้บริโภค แนะให้ซื้อจากแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือ และขอเอกสารระบุรายละเอียดของวัตถุดิบ (CoA) เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ

นอกจากนี้ในกรณีที่พบแป้งเปียกผสมสีบรรจุขวด ติดฉลากเป็น “เจลแอลกอฮอล์” จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม โทษมีทั้งจำคุกหรือปรับ คณะกรรมการอาหารและยายืนยันพร้อมเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกกรณี

“สำหรับผู้บริโภคการเลือกซื้อเครื่องสำอางเจลแอลกอฮอล์ขอให้ตรวจสอบเลขจดแจ้งของผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อทุกครั้ง สามารถตรวจสอบได้ที่ Oryor Smart Application หรือ อย.ตรวจเลข หรือ Line @ Fdathai  เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” ภญ.สุภัทราว่า

ทิ้งท้ายฝากความหวังถึงประชาชนผู้บริโภค ช่วยกันเป็นหูเป็นตา

หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่ สายด่วนคณะกรรมการอาหารและยา โทร 1556 หรืออีเมล์: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี 11004 หรือที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด

รวมทั้งสามารถร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเองที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ทุกวันในเวลาราชการ

ตลอดจน สายด่วน 1135 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

จับมือกันกำจัดโลกวายร้ายที่แฝงกับวิกฤติเชื้อไวรัสหวัดมรณะ

 

RELATED ARTICLES