มาดูความเห็นของ พ.ต.ท.สุริยา แป้นเกิด พนักงานสอบสวนนักคิดนักเขียนคนดังว่าถึง ระยะเวลาผัดฟ้องฝากขัง
ขออนุญาตเจ้าตัวนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอีกมุม
เขาอธิบาย ระยะเวลาผัดฟ้องฝากขัง ไม่ได้มีไว้สำหรับพนักงานสอบสวนเท่านั้น แต่ยังมีเผื่อไว้ให้อัยการด้วย
คดีอำนาจศาลแขวง = 3 + 2 คราว คราวละ 6 วัน
คดีอำนาจศาลจังหวัด
= 4 ฝาก หรือ 48 วัน สำหรับโทษจำคุกไม่ถึง 10 ปี
= 7 ฝาก หรือ 84 วัน สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป..
เมื่อนำผู้ต้องหาไปผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาลระหว่างสอบสวน
พนักงานสอบสวนต้องรีบสรุปสำนวนให้ทัน ตามข้อตกลงเรื่อง การประสานงานและส่งสำนวนสอบสวนให้อัยการพิจารณา
ส่งสำนวนก่อนฝากขังครั้งสุดท้าย 1 ครั้ง
กรณีจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องก่อนครบฝากขัง 3 วัน
เพราะต้องเห็นใจพนักงานอัยการ ให้อัยการมีเวลาอ่านสำนวนบ้าง
บางครั้งที่สำนวนของพนักงานสอบสวน ไม่ครบถ้วน ไม่รัดกุม อัยการต้องสั่งสอบเพิ่มเติม เพื่อความยุติธรรมทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา
ถ้าเหลือเวลาน้อย อัยการรีบฟ้องต่อศาล
สำนวนอ่อน “ผู้ต้องหาตัวจริง” อาจถูกยกฟ้อง
หรือส่งกระชั้นชิดเกิน สำนวนบกพร่องเยอะ อัยการมองว่า การสอบสวนไม่เสร็จสิ้น “คืนสำนวน” ความซวยก็จะมาเยือนพนักงาน
การที่พนักงานสอบสวนไม่ทำตามข้อตกลงระยะเวลาการส่งสำนวน
มีโทษทางวินัย หนักเบาตามความเสียหาย
หลายครั้งก็เป็น “ปัญหาหนักอก” สำหรับพนักงานสอบสวน เมื่อคดีดังต่าง ๆ หลักฐานยังไม่แน่น
ตำรวจรีบจับกุมตัวให้ได้โดยเร็วเพื่อแถลงข่าว
หมดภาระชุดจับกุม
แต่ภาระต่าง ๆ จะมาลงที่พนักงานสอบสวน
ต้องตามพยานบุคคล มาสอบปากคำ
บางคนก็ไม่อยากมาเป็นพยาน อีกทั้งรอผลตรวจพิสูจน์ รายงานเรื่องต่าง ๆ จากหน่วยงานอื่น ๆ
บางครั้ง บางหน่วย เช่น หน่วยงานเอกชนผู้ให้บริการต่างๆ ทำตามระบบ ไม่ได้สนใจหรอกว่า สำนวนคดีจะเป็นอย่างไร
เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องเร่งรัดรวมทั้งอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว
“อยู่โรงพักใหญ่แต่ละเดือนพวกผมพนักงานสอบสวน บริจาคเงินส่วนตัวเข้ากองกลางเพื่อซื้อกระเช้าเล็ก ๆน้อย ๆแต่ละเดือน ดูแลเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่องานจะได้รวดเร็ว”
เอวัง
สำหรับปมร้อนเสี่ยใหญ่ฆ่าสาวหมกเก๋ง “พ้นกรง” เพราะส่งฟ้องไม่ทันระยะเวลาผัดฟ้องฝากขังกลายเป็นข่าวดังกระฉ่อนเมือง
พนักงานสอบสวนคนดังไม่อาจก้าวล่วงออกแสดงความเห็น