กฎแห่งความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน

โศกนาฏกรรมจากอุบัติเหตุ “ปืนลั่น” ด้วยความประมาท

เรื่องจริงอยู่ที่เจตนา “คนเหนี่ยวไก” จะตั้งใจหรืออารมณ์พาไป เจ้าตัวย่อมรู้ดีมากสุด โดยเฉพาะผู้บังคับใช้กฎหมายที่พกปืนติดตัวอยู่ข้างกาย

ตัวอย่างอุทาหรณ์ที่เกิดกับ “ผู้กองบอย” ร.ต.อ.ทรงกรด บุญส่ง รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 67 ไม่ใช่รายแรก

และคงไม่ใช่รายสุดท้าย

มันอาจเป็นภาพสะเทือนใจติดตาไปจวบจนวันตาย

กองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง ฝากข้อความเตือนสติไว้แก่ทุกคน เป็นเรื่อง “กฎแห่งความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน”

ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้รับการฝึกฝนอบรมทักษะการ “ยิงปืน” ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว เพียงอาจจะหลงลืมกันไป

ตั้งแต่ “กฎข้อแรก” เมื่อจับปืนทุกครั้งให้พึงระลึกเสมอ

“ปืนทุกกระบอกมีกระสุนบรรจุอยู่”

ดังนั้นต้องตรวจปืนทุกครั้งที่จับว่า มีกระสุนอยู่หรือไม่ มีวัสดุใดติดค้างอยู่ในลำกล้องหรือไม่

อย่าเล็งปืนไปที่บุคคล สิ่งมีชีวิต หรือสิ่งของมีค่า ถ้าผู้ยิงไม่ต้องการยิง แม้ว่า เป็นปืนที่ไม่ได้บรรจุกระสุนก็ตาม

อย่าเล็งปืนไปทางวัสดุอื่นใดที่อาจทำให้หัวกระสุนปืนสะท้อนกลับ หรือแฉลบได้ เช่น วัสดุที่มีผิวแบนแข็ง

แม้กระทั่งผิวน้ำ

อย่านำนิ้วเข้าโกร่งไกจนกว่าจะชี้ปืนไปที่เป้าหมายและพร้อมที่จะยิง

อย่าพูดคุยกับคนอื่นในขณะยิงปืน อย่าหันกระบอกปืนไปทางด้านข้าง หรือด้านหลัง ขณะจับปืนอยู่ในแนวยิง

เมื่ออยู่ในห้องฝึก หรือสนามยิงปืน ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้ควบคุมการฝึกอย่างเคร่งครัด

ถ้าไม่เก็บปืนไว้ในซองปืนต้องจับในลักษณะเปิดลูกโม่ หรือโครงเลื่อนปืนอยู่ในลักษณะค้างโครงเลื่อนปืนไว้

การส่งปืนให้ผู้อื่นต้องส่งปืนในลักษณะเปิดลูกโม่ หรือโครงเลื่อนปืนอยู่ในลักษณะค้างโครงเลื่อนปืนไว้

สุดท้ายสำคัญสุด

อย่าทิ้งปืนที่บรรจุกระสุนไว้ในที่ซึ่งมีบุคคลอื่น โดยเฉพาะ “เด็ก” อาจหยิบฉวยเอาไปเล่นได้ง่าย

ด้วยความห่วงใยจาก พล.ต.ต.สมพร สัจพจน์ ผู้บังคับการกองสรรพาวุธ อยากให้ทุกท่านตระหนักถึง กฎแห่งความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน

 เพื่อไม่ให้ต้องมาเอ่ยคำว่า “เสียใจ” ภายหลัง  

RELATED ARTICLES