ผ้าขาวผืนใหญ่

“มีใครในที่นี้ไม่เปื้อนบ้าง” พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางถามบนเวทีกลางห้องสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพข้าราชการตำรวจระดับผู้นำหน่วยในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่โรงแรมเดอะซายน์ โฮเทล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ไม่มีใครยกมือแสดงตัวเป็นคนดีสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง

พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับมอบหมายให้ขึ้นพูดในหัวข้อ “ภาวะผู้นำของผู้บริหาร” แต่เจ้าตัวเน้นลงรายละเอียดเรื่องราวในชีวิตรอบตัวของทุกคน

สำหรับภาวะผู้นำของเขาจะอาศัยเดินตามพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 เน้นคำว่า “ให้” ในการปกครองคน

นั่นคือ “ให้อภัย” ในกรณีผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิด “ให้โอกาส” ในการปรับปรุงตัว และ “ให้ย้าย” หากให้โอกาสแล้วไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง

“เราแค่ดำเนินรอยตามพระองค์ท่าน”

พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ย้อนเรื่องเล่าของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ไปจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาที่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นประธาน แต่ไม่สามารถกรอกอาชีพได้ จึงทูลถามพระองค์ท่านว่า ให้ทรงระบุว่าอาชีพอะไร

พระองค์ตรัสว่า “ราชการ”

“เราเป็นตำรวจเป็นข้าราชการ คือ ข้าของพระราชา ตลอด 70 ปีของพระองค์ ทรงงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรของพระองค์ท่านแทบไม่มีวันหยุดพัก พวกเราเป็นตำรวจยศ พ.ต.อ.แล้วทำกันหรือยัง”

ถามว่า เหนื่อยไหม

รองผู้บัญชาการตำรสจสอบสวนกลางเปรียบเทียบว่า พระองค์ท่านทรงงานด้วยพระเนตรเพียงข้างเดียวไม่เคยตรัสว่า เหนื่อย  ลำพังเราเดินปิดตาข้างเดียวแทบยังเป๋

“เพราะฉะนั้นอย่าหลุดคำว่า “เหนื่อย” ออกมาจากปากพวกเรา” พล.ต.ต.ต่อศักดิ์น้ำเสียงจริงจัง

เขายอมรับว่า ตำรวจเสมือนเป็นผ้าขาวทั้งผืน ทำอะไรมาเยอะ เสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย แต่พอเกิดจุดดำแค่จุดเดียวกลับไม่มองผ้าขาวทั้งผืน

แบบนี้ไม่ยุติธรรม

เนื่องจากมองจุดที่เปื้อนแล้วก็จ้องด่าตรงนั้น

“มีใครไม่เปื้อนบ้าง” เจ้าตัวย้ำ “แต่เราจะทำอย่างไรที่จะใส่ทรีทเม้นท์ให้กับชีวิต”

สมัยคุมกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ นายพลคนดังเลือกให้ลูกน้องทุกคนปฏิบัติธรรมด้วยการบวชเป็นเวลา 9 วัน ทำจิตใจให้สงบ เรียนรู้ถึงสัจธรรมที่แท้จริง

“ชีวิตไม่มีอะไรเป็นของเรา แม้แต่ชีวิตเรายังรักษาไม่ได้  หลงหัวโขนก็แค่ชั่วคราว อายุครบ 60 ปีก็ต้องถอด บ้านช่อง รถรา เงินทอง ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง”

“ผมไม่ใช่คนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมไม่ใช่คนขาว แต่ผมปฏิบัติธรรม”

สิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องใช้นอกจากหลักครองตน ครองคน ครองงาน

 ให้ยึด “พรหมวิหาร 4”

หลักธรรมสำหรับทุกคนช่วยให้เดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์  ได้แก่ เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี และ อุเบกขา การรู้จักวางเฉย

สุดท้ายต้องมี “หิริ-โอตตัปปะ”  ความละอายแก่ใจ ความละอายต่อบาป ต่อการทำความชั่วความผิด ต่อการประพฤติทุจริตทั้งหลาย และเกรงกลัวต่อผลของความชั่ว ผลของความสุจริตที่ทำไว้

“อย่ามองข้ามปัญหาเล็ก เดี๋ยวปัญหาใหญ่จะทำมา” พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ทิ้งท้าย

RELATED ARTICLES