ใครสั่ง ใครใช้ ใครกดดัน

ออกมาแสดงความเห็นประเด็นคดีร้อนในสำนวนของหนุ่มทายาทเจ้าสัวกระทิงแดง

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ตั้งคำถามในเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง

“เป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ ตอบได้ไง? “สับสน” ขอกลับความเห็นเรื่องความเร็ว ใครสั่ง? ใครใช้? ใครกดดัน? หรือมีเทพองค์ใด? มีมารตนใด? หรือมีปัจจัยอะไรจูงใจ”

เจ้าตัวระบุว่า การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติ ให้นำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการสืบสวนสอบสวน อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องให้มีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ มากกว่าหนึ่งหน่วยงาน(เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก)

อันว่า พยานความเห็น พยานผู้เชี่ยวชาญ / พยานผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 243 บัญญัติรองรับมานานแล้ว ให้รับฟังพยานหลักฐานประเภทนี้ประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดี กำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญทำความเห็นเป็นหนังสือ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาก แบ่งเป็น ด้านพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) ตรวจที่เกิดเหตุ พิสูจน์วิถีกระสุน ทิศทาง ระยะทาง ความเร็วรถ อัตลักษณ์ บุคลากรจึงประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ทั้งนักฟิสิกส์ เคมี ชีวะ วิศวะ

มี ด้านนิติเวชเป็นงานด้านพิสูจน์สาเหตุการตาย บาดแผล เวลาตาย บุคคลากรจะเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวช

งานทั้งสองเป็นงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ และศพ เพื่อสรุปความเห็นตามอำนาจหน้าที่ส่งให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานประกอบคดี

ดังนั้นงานทั้งสองด้านเสมือนผู้ช่วยพนักงานสอบสวนในการที่จะทำความเห็นเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำความผิด และพิสูจน์ถึงตัวผู้กระทำความผิด

ความเห็นของนักนิติวิทยาศาสตร์(นักวิทยาศาสตร์และแพทย์นิติเวช) เป็นพยานความเห็นที่มีความถูกต้อง ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องการพิสูจน์ ทดลอง ตามทฤษฎี ในทางวิทยาศาสตร์ หรือ ทางการแพทย์ 1 + 1 = 2 กรดทำปฏิกิริยากับด่าง ต้องได้เกลือกับน้ำ “ไม่มีทางที่จะได้ก้อนหิน” ไปได้

ความจำเป็นสำคัญประการหนึ่งของการทำความเห็นในงานนิติวิทยาศาสตร์ คือ การต้องไปร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ การร่วมตรวจชันสูตรพลิกศพด้วยตัวเอง ไม่ใช่ดูจากภาพถ่าย ไม่ใช่ดูจากคลิป ฟังเขาเล่า แล้วเอามาคิดคำนวณทำความเห็น

ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะละม้ายใกล้เคียงกับ “หมอดู” มากกว่า

คดี “บอส กระทิงแดง” เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น กับพวกจากกองพิสูจน์หลักฐาน ได้ไปร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ สองประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเห็น คือ ความเร็วรถของเจ้าบอสขณะที่ชน กับลักษณะการชน (ชนท้ายหรือชนข้าง)

พล.ต.ต.อำนวยจำได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำ MOU กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มาเป็นที่ปรึกษาทางด้านคดีจราจรกันมานานแล้ว คดีนี้ รศ.ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมตรวจและทำความเห็น ได้ผลตรงกันที่ 177 กม./ชม.  แปลว่า รศ.ดร.สธน ในฐานะที่ปรึกษาต้องทำความเห็นมาให้ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ กับพวกนำมาประกอบความเห็นเข้าสู่สำนวนมาตั้งแต่แรกแล้วและคงไม่ต้องใส่ความเห็นของ รศ.ดร.สธนโดยตรงเข้าไว้ในสำนวน(ซึ่งก็มิใช่เรื่องผิดปกติ)เพราะท่านอยู่ในฐานะที่ปรึกษาไม่น่าที่จะนำมาอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้

หลายปีต่อมา ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ก็อุบัติขึ้น ใช้การตรวจพิสูจน์ความเร็วรถเจ้าบอส อาศัย  “หลักของผมเอง”(ตอบคำถามสื่อ)  ดูจากคลิปบันทึกภาพเหตุการณ์(ไม่ได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ) แล้วออกความเร็วมา 76 กม./ชม.  ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ เปลี่ยนความเห็นใหม่จากเดิม 177 กม./ชม. เหลือ 79.23 กม./ชม.( แค่ 79 เศษ ไม่ถึง 80 จึงไม่เกินที่กฎหมายกำหนด และมีจุด 23 ดูดีน่าเชื่อถือ..)

ใครจะเชื่อก็เชิญ

“ต่อมาเมื่อเรื่องมันแดง มันแรง มันร้อน ถูกสังคมตรวจสอบ เจ้าตัวออกมาตอบขอกลับความเห็นไปใช้ความเร็ว 177 กม./ชม. ตามความเห็นเดิม โดยให้เหตุผลว่า “สับสน” มันจะง่ายเกินไปละมั้ง!! ถ้าจะตอบว่า “สับสน” แล้วจบ แค่นี้” อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ว่า

ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร? มีเทพองค์ใด ? มีมารตนไหน? มีปัจจัยอะไร? ที่ทำให้หลักการทางวิทยาศาสตร์ถึงกับ “สับสน”

จากที่กรดทำปฏิกิริยากับด่าง ได้เกลือกับ น้ำ กลับกลายเป็นได้ “ยาชูกำลัง” ไปเสียชิบ!!!

แล้วความน่าเชื่อมันจะเหลืออยู่อีกหรือ? (ทั้งความน่าเชื่อถือในตัวคน ในคดี และในหน่วยงานทั้ง พฐ.และ ตร.)

“ขอตั้งคำถามกับบ้านหลังเดิมของกระผมว่าจะดำเนินการปัดกวาดสิ่งโสโครก ในบ้านหลังนี้อย่างไร? หรือปล่อยให้มันจบไปด้วยคำแก้ตัวสองพยางค์นั้น”

อีกประเด็นหนึ่ง คือ ชนท้าย หรือชนข้าง ประเด็นนี้ก็ถือว่า สำคัญมากและผู้ชำนาญการก็ได้ให้ความเห็น มีการจำลองเหตุการณ์ วัดขนาด เทียบเคียงแผล(ความเสียหายของรถ) ชนท้ายก็คือ ชนท้าย แม้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ก็เป็นฝ่ายประมาท เพราะกฎหมายจราจร บัญญัติให้รถคันหลังเว้นระยะห่างจากคันหน้าในระยะที่ปลอดภัย(รถคันหลังต้องระวังคันหน้า) เลยเกิดพยานกลับชาติมาเกิด 2 ปากมายืนยันว่า นายดาบขี่รถปาดหน้าซะงั้น !!!

รายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานยืนยันไว้ชัดว่า ชนท้ายหายไปไหน? ทำไมไม่พูดถึงประเด็นนี้กัน

จากที่พยานหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เป็นพยานที่ไม่รู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับคู่กรณีฝ่ายใดมาก่อน ยืนยันความเห็นตามหลักวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ย่อมมีน้ำหนักในการรับฟัง แล้วยังจะปล่อยให้เกิดการทำลายความน่าเชื่อถือ

เพียงแค่พยักหน้าอืออือ แล้วจบกันแค่นี้หรือ สมควรหรือไม่ที่จะลากตัว “ไอ้โม่ง” ออกมา กระชาก “หน้ากากตัวละคร” ออกมาให้สังคมรับรู้ ลงโทษให้สาสม

เพื่อเรียกความเลื่อมใสศรัทธากลับมาสู่องค์กรตำรวจของเรา

อดีตผู้บัญชาการตำรวจภาค 1 ตำนานมือสอบสวนสีกากีบอกด้วยว่า ตัวเองเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จะมีโทษที่จะลงได้ ทั้งปรับ/ห้ามลงเล่น/ห้ามลงเล่นตลอดชีวิต คล้ายๆโทษทางอาญา (ปรับ/จำคุก/ประหารชีวิต) ขณะเขียนบทความอยู่นี้มีข่าวว่า รองอัยการสูงสุดท่านที่สั่งไม่ฟ้อง คดีบอส กระทิงแดง ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ จะเป็นการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ หรือหลบหนีการที่จะถูกตั้งกรรมการทางวินัยที่คาดว่าจะตามมาเร็วนี้

(พูดง่ายๆ ฟังง่ายๆ ว่าเพื่อหนีความผิด) หรือจะโดยเหตุผลกลใดก็ช่างเถอะ!!!!

แต่มันคงไม่ใช่การแก้ปัญหา และคงไม่ใช่คำตอบที่สังคมต้องการ เปรียบเทียบกับเพียงแค่นักมวย นักฟุตบอล ที่ล้มมวย ล้มบอล จะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556  มีโทษถึงจำคุก แค่นั้นยังไม่พอยังจะถูกห้ามชก ห้ามเล่น ไปตลอดชีวิต

เรียกว่า “สูญพืชสูญพันธุ์กันไปเลย”

สำหรับบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมละ แค่ไหนจึงจะเหมาะสม แค่ไหนจึงจะสาสมคงไม่ใช่เพียงเก็บเสื่อเก็บหมอนกลับบ้านไปแล้วจบกัน

 ขอตั้งคำถามอีกทีเถอะ !!!

ถึงเวลา “ปฏิรูปตำรวจ” “ปฏิรูปการสอบสวน” “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” แล้วหรือยังครับ

ถ้าเห็นว่า “สมควร” ถามต่ออีกนิดว่า จะรออะไรอยู่ในเมื่อร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการสอบสวน และแผนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ทำเสร็จตั้งนานสองนานจนจะถือเป็น “ของเก่า” อยู่แล้วครับท่าน

 

RELATED ARTICLES