หยิบจากตะกร้าขึ้นมาปัดฝุ่นล้างน้ำชำระความที่ค้างเติ่งกันอย่างจริงจัง
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบใน 9 ประเด็น
จ่อชงรัฐสภาพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2547 ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ยุค อาจารย์มีชัย ฤชพันธุ์ วาดผังไว้
สาระสำคัญ 9 ประเด็นหลักสรุปให้ได้ใจความ
1.กำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้เช่นเดิม แต่มีการกำหนดบทเฉพาะกาลโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก ได้แก่ กองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎ หมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภารกิจงานจราจรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร ไปให้แก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นรับไปดำเนินการ
2. กำหนดให้ในการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริการและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยตรง กำหนดระดับของสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ สถานีตำรวจที่มีผู้กำกับการ และสถานีตำรวจที่มีรองผู้กำกับการ หรือตำแหน่งเทียบเท่า คำนึงถึงปริมาณงาน ความหนาแน่นของประชากรในเขตรับผิดชอบ
3.การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ กำหนดหลักการในการบริหารงานบุคคล แบ่งข้าราชการตำรวจออกเป็น 2 ประเภท
คือ ข้าราชการตำรวจที่มียศ และ ข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ
แบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้เกิดการสร้างความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานและเป็นการสร้างความก้าวหน้าในสายงาน
กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายว่าการจะแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดจะต้องเป็นข้าราชการตำรวจยศใด และเคยดำรงตำแหน่งใดมาแล้วจำนวนกี่ปี
การแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา
วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ พนักงานสอบสวนสามารถเติบโตก้าวหน้าในสายงาน ตามความรู้ความสามารถได้
ข้าราชการตำรวจสามารถร้องทุกข์ในกรณีที่เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง รวมทั้ง กำหนดบทลงโทษผู้ที่กระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่ง
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
ห้ามมิให้สั่งให้ข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจ หรือตำรวจภูธรจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่น เว้นแต่ในคำสั่งนั้นจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจแทน
4.คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มี นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่เป็นข้าราชการตำรวจ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจเรตำรวจแห่งชาติ และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานข้าราชการพลเรือน อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน
5.กำหนดให้มี คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการร้องทุกข์ที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับ การพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ และพิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม
6.ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของตำรวจหรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสีย และกระทำผิดวินัยของตำรวจ
7.ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริหารงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน อีกทั้งกำหนดให้เงินอุดหนุนที่ “องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” จัดสรรให้แก่สถานีตำรวจไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ และกิจการในสถานีตำรวจนั้น
8.จัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ
9.ปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการรับเงินเดือนของข้าราชการ
ภาพรวมน่าจะดีสำหรับข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่
อยู่ที่ว่าจะสลัดหลุดออกจาก “อุ้งอำนาจ” ของนักการเมืองมากน้อยแค่ไหน