เพราะอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ชีวิตราชการตำรวจแบบเราจะมีสักกี่ครั้งที่อยู่ในเครื่องแบบอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และได้ช่วยชีวิตคนเอาไว้จากความเป็นความตาย  พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ ผู้กำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษเคยว่าไว้

เมื่อครั้งผ่านประสบเหตุหญิงสาวพยายามจะกระโดดสะพานพระราม 8 ลงแม่น้ำเจ้าพระยาฆ่าตัวตาย

เจ้าตัวงัดตำราเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤติเกลี้ยกล่อมนานกว่า 30 นาที

จนเธอเปลี่ยนใจกลับเข้ามาสวมกอดเจ้าหน้าที่

“ผมขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้เราไปอยู่ใกล้ตรงนั้น แล้วไปทันกับอีก 1 ชีวิตที่ช่วยไว้” พ.ต.อ.ปิยรัตน์ระบายอารมณ์โล่งอก

เพราะนั่นคือ ชีวิตคนทั้งชีวิต

“เราทำในส่วนของเรา และยังคงทำมันต่อไป ตำรวจในความหมายของเรา”

ผ่านไปเพียงเดือนเศษ พันตำรวจเอกหนุ่มเผชิญเหตุระทึกอีกครั้งระหว่างเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัดมาตามถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 176 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี แล้วพบอุบัติเหตุรถชนกัน มีผู้บาดเจ็บนอนอาการสาหัสอยู่บนถนน

หัวใจหยุดเต้น

พ.ต.อ.ปิยรัชจอดรถลงไปช่วยเหลือในทันที ก่อนปฐมพยาบาลเบื้องต้น ปั๊มหัวใจ ( CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation) พร้อมใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจแล้วส่งต่อให้รถพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรักษาอาการต่อไป

“ผมทำเพราะอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” ผู้กำกับสายตรวจเมืองหลวงว่า

เขาบอกด้วยว่า วินาทีชีวิต การทำ CPR จึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง เผื่อเราเจอสถานการณ์คับขัน มีโอกาสได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุกชีวิตจะได้ปลอดภัยจะช่วยให้รอดชีวิต โดยเฉพาะหากมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ช่วยเหลือผู้ป่วย

“ปกติแล้ว ผู้ที่รอรถพยาบาลในภาวะหัวใจหยุดเต้นจะมีโอกาสรอดไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ แต่หากได้รับการปั๊มหัวใจที่ถูกต้องจะเพิ่มอัตราการรอดได้ถึง 3-6 เท่า หรือเกือบ 30-60 เปอร์เซ็นต์  ดังนั้นความสำคัญของการช่วยชีวิตคนที่เกิดเหตุเฉียบพลัน ไม่ใช่รอหมอ หรือรถพยาบาลเพียงเท่านั้น”

การ CPR ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไป

สุดท้ายคำขอบคุณของญาติคนเจ็บนี่แหละจะเป็นรางวัลตอบแทนเรา

         

RELATED ARTICLES