ครบรอบ 60 ปี ภาพประวัติศาสตร์ของตำรวจวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
จากฝีมือการกดชัตเตอร์ของ William C. Beall กระทั่งได้รับรางวัล Pulitzer Prize ในปีถัดมา
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2500 สมาคมพ่อค้าชาวจีนจัดขบวนแห่บริเวณย่านไชน่าทาวน์ในกรุงวอชิงตัน ระหว่างนั้นมีเด็กน้อยอายุ 2 ขวบ ตื่นเต้นตระการตากับขบวนพาเหรดมังกรอยู่บนถนน ตำรวจวอชิงตันจึงเดินเข้าไปก้มคุยทักทายเด็กน้อยวัยไร้เดียงสา
เพื่อขอให้กลับขึ้นไปยืนบนทางเท้าด้วยความรักและเอ็นดู
William C. Beall ช่างภาพฝีมือดีของหนังสือพิมพ์ วอชิงตันเดลินิวส์ สามารถถ่ายภาพนี้ไว้ได้ก่อนไปลงตีพิมพ์ขึ้นหน้า 1 ในหนังสือพิมพ์ของเขา
กลายเป็นฮือฮาทำลายกำแพงกั้นระหว่างตำรวจสหรัฐอเมริกากับประชาชนไปในเวลาอันรวดเร็ว ภาพประวัตินี้ยังถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร LIFE และได้รับการพิมพ์ซ้ำทั่วโลก
กวีคนหนึ่งตั้งชื่อภาพของ William C. Beall ภาพนี้ว่า “Faith and Confidence”
“ศรัทธาและความเชื่อมั่น”
ภาพดังกล่าวยังเป็นโลโก้ของ DC Police Boys Club สร้างเป็น “รูปปั้น” ขนาดจริงตั้งอยู่หน้าศาลในรัฐจอร์เจีย
ที่สำคัญ Maurice Cullinane คือ ตำรวจคนนั้นในเวลาอีก 17 ปี ต่อมาได้เป็น “หัวหน้าตำรวจ”วอชิงตัน และเป็นผู้นำหน่วยคนแรกที่เข้าเผชิญหน้ากลุ่มก่อการร้ายมุสลิมบุกอาคารกลางกรุงวอชิงตันเมื่อปี 2520 ปีเดียวก่อนที่เขาจะเกษียณอายุราชการ
ส่วน เจ้าหนูตัวน้อย คือ Allan Weaver เติบโตขึ้นแล้วย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนียทำงานอยู่ในวงการบันเทิง
อดีตหัวหน้า Maurice Cullinane บอกถึงเรื่องราวครั้งนั้นว่า ตัวเขาเพิ่งเป็นตำรวจสายตรวจได้ 2 ปี มันเป็นย่านไชน่าทาวน์เก่า ขบวนพาเหรดจุดพลุฉลอง แต่แทนที่จะจุดเพียงครั้งเดียวที่กลับต้องการจุดให้หมดกล่อง
“ผมอยู่บนขอบถนน หนูน้อยคนนั้นเดินออกไป ผมต้องการให้แน่ใจก่อนว่า ไม่ทำให้เห็นเขาตกใจ ก่อนจะเข้าไปคุยบอกให้ยขยับขึ้นไป เพราะกลัวว่าหนูน้อยจะได้รับอันตรายจากพลุที่หล่นลงมา” อดีตหัวหน้าตำรวจวอชิงตันว่าความรู้สึกในภาพประวัติศาสตร์
เขาเสมือนเป็น “ตำนานฮีโร่” ที่เกิดจากพลังศรัทธาและความเชื่อมั่น
น่าเสียดายประวัติศาสตร์ตำรวจไทยที่หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า หุ่นรูปปั้นตำรวจอุ้มคนเจ็บ มีเด็กผู้ชายยืนเกาะขา เรื่องราวความเป็นมาอย่างไร
ทำไมถึงบ่งความหมายเป็น “อนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน”