กว่าจะ “ปฏิสนธิ”เตรียมคลอดออกเป็นรูปเป็นร่างใช้เวลา “ตั้งท่า”กันอยู่นาน
สลับสับเปลี่ยนความคิด “ผ่าตัด” อัดเอานักวิชาการนอกรั้วไป “บ่มเพาะ” เกาะติดแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
หวังวางฐานราก “องค์กรสีกากี”ครั้งใหญ่
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
จ่อชงให้เสนอรัฐสภาเป็นขั้นตอนต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ “ในฝัน”ของใครหลายคน ตอบโจทย์กำลังพลของ “กองทัพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ได้จริงหรือ
ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
เริ่มต้นกำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้เช่นเดิม แต่กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ ได้แก่ ภารกิจของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจงานจราจรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ไปให้แก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นโดยตรงรับไปดำเนินการ
นอกจากนี้ ได้กำหนดให้ในการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างน้อยต้องมีหน่วยงาน กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค กองบังคับการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริการและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยตรง
จัดอัตรากำลังให้แก่สถานีตำรวจและตำรวจภูธรจังหวัดตามลำดับให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังกำหนดระดับของสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สถานีตำรวจที่มีผู้กำกับการ และสถานีตำรวจที่มีรองผู้กำกับการหรือตำแหน่งเทียบเท่า โดยคำนึงถึงปริมาณงาน ความหนาแน่นของประชากรในเขตรับผิดชอบ จำนวนอัตรากำลังและสถานที่ตั้งของสถานีตำรวจ
เป้าหมายเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน และการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่วางกรอบชัดเจนแล้วว่า แบ่งข้าราชการตำรวจที่ “มียศ” และ “ไม่มียศ”
แบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ
เพื่อให้เกิดการสร้างความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานและเป็นการสร้างความก้าวหน้าในสายงานนั้น ๆ
วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายว่าการจะแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดจะต้องเป็นข้าราชการตำรวจยศใด และเคยดำรงตำแหน่งใดมาแล้วจำนวนกี่ปี
ในการแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ
กำหนด “กฎเหล็ก” การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา และทำให้ข้าราชการตำรวจสามารถมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
สำคัญคือ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถเติบโตก้าวหน้าในสายงานตามความรู้ความสามารถได้
ข้าราชการตำรวจสามารถร้องทุกข์ ต่อ “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม” ในกรณีที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโส หรือในการแต่งตั้ง
มีบทลงโทษผู้ที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่ง
ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
ห้ามมิให้สั่งให้ข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจ หรือตำรวจภูธรจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่น เว้นแต่ในคำสั่งนั้นจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจแทน เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยตรง
หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มาปฏิบัติราชการติดต่อกันเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้นั้น เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ยังคงมี “นายกรัฐมนตรี” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล นั่งเป็นประธาน กรรมการที่เป็นข้าราชการตำรวจ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจเรตำรวจแห่งชาติ
กรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกให้ชัดเจนในกฎหมาย ห้ามผู้บังคับบัญชา หรือผู้ใดสั่งการ ข่มขู่ หรือชักจูงด้วยประการใด ๆ ให้เลือกหรือมิให้เลือกผู้ใดผู้หนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นหลักประกันในการได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำ หรือการแทรกแซง
คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ต้องเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการ ”ปลดเปลื้องทุกข์” ที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา
ส่วน คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำ หรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสม เสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ
เสมือนกลไกในการ “ปลดเปลื้องทุกข์” ให้แก่ประชาชนอันเกิดจากข้าราชการตำรวจ
ด้านการให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริหารงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องจัดระบบบริหารงานให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน กำหนดเงินอุดหนุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรให้แก่สถานีตำรวจให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจและกิจการในสถานีตำรวจนั้น
ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มีกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ
สุดท้าย ปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการรับเงินเดือนของข้าราชการตำรวจ ตัดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในระดับที่ไม่ได้มีการรับในอัตรานั้นออก
ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนแต่อย่างใด
สรุปกองทัพตำรวจและประชาชนยอมรับได้แค่ไหน
สูตรผ่าตัดร่างโครงสร้างสำนักผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ครั้งใหม่ !!!