ติวเข้มสายตรวจ

 

“ตำรวจเป็นอาชีพที่คนยากดีมีจนสนใจว่า เราจะทำอะไร เราเป็นอาชีพที่ถูกด่าทุกวัน เพราะเขาสนใจเราและหวังพึ่งเรา ยามเขาเดือดร้อนที่สิ่งที่เขาคิดได้ คือ หมอตำรวจ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพูดไว้เมื่อครั้งมอบนโยบายนายตำรวจระดับ รองผู้บังคับการ-ผู้กำกับการ ที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายวาระประจำปี 2563

เจ้าตัวยังมองทะลุปัญหาท้าทายของโรงพัก คือ พื้นที่ “สังคมออนไลน์” มักถูกใช้เป็นช่องทางการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผู้กำกับการต้องตรวจสอบทุกวัน

“หากพบเชิงลบต้องชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็ว ถ้าเป็นเรื่องจริงต้องรีบเข้าไปแก้ไข”แม่ทัพสีกากีว่า

ดังนั้นเมื่อกระแส “ญาติเหยื่อด่ากราดตำรวจ” หลังจากเหตุการณ์ “ทรพี” คลุ้มคลั่งฆ่าแม่ตัวเอง ก่อนถูกตำรวจท้องที่ตัดสินใจ “วิสามัญฆาตกรรม”  ส่อเรื่องจะบานปลาย

ญาติไม่ได้ติดใจประเด็น ตำรวจจับตาย แต่ไม่เข้าใจ ทำไมตำรวจไม่เคยสนใจมาระงับเหตุที่เคยแจ้งไปหลายครั้ง

กระทั่งครอบครัวต้องพบกับความสูญเสีย

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงต้องโดดลงไปติดตามความคืบหน้าที่โรงพักบางเสาธง หารือกับ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 และ พ.ต.อ.ศุภศักดิ์ โปรียานนท์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางเสาธง

ว่าถึงประเด็นวิสามัญฆาตกรรม พล.ต.อ.สุวัฒน์ยืนยัน มีกฎหมายเฉพาะเป็นหลักประกันความมั่นใจอยู่แล้ว หากญาติติดใจการตาย หรือตำรวจทำเกินไม่ไปหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องไปสู่ชั้นศาล ไม่ได้จบเพียงตำรวจ มีขั้นตอนชัดเจน

แต่ปัญหาหลักเป็นปมร้อน จุดชนวนเดือด ของญาติผู้ตายในเรื่องการระงับเหตุ พล.ต.อ.สุวัฒน์เข้าไปเจาะระบบของกลไกที่เกิดขึ้น และจะทำอย่างไรต่อไปไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ที่อื่นอีก

เบื้องต้นกรณีดังกล่าวทราบข้อมูลว่า มีการไประงับเหตุชายคลุ้มคลั่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ตำรวจแต่ละชุดหมุนเวียนไปปฏิบัติหน้าที่

สรุปรายงานกลับมาว่า ผู้ก่อเหตุวางมีดกลับเข้าบ้านไปสงบสติอารมณ์ทุกครั้ง

“ตำรวจกลับไม่ได้จัดเก็บข้อมูลเป็นระบบว่า อันตรายแค่ไหน ถูกชาวบ้านแจ้งให้ไปดำเนินการกี่ครั้งแล้ว” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงรายละเอียดถึงปัญหา

จำเป็น ต้องถอดบทเรียน นำไปสู่การติวเข้มเพื่อทบทวนเรื่องข้อกฎหมายว่า มีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต มาตรา 24 ให้อำนาจฝ่ายปกครอง หรือตำรวจนำตัวผู้ที่มีอาการส่งไปตรวจได้ทันที

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์กำชับให้เรื่องการทบทวนการฝึกซ้อมการระงับเหตุ ยุทธวิธีเผชิญเหตุ และระยะเวลาการเข้าระงับเหตุด้วย

“ตามกำหนดมาตรฐานไว้ตั้งแต่ผมเป็นนายตำรวจใหม่ ๆ ต้องถึงที่เกิดเหตุภายใน 3 นาที” พล.ต.อ.สุวัฒน์บอก “แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าเป็นไปได้ยาก”

เขาเข้าใจการทำงานของลูกน้อง ด้วยเพราะเขาเคยคลุกฝุ่นเป็นลูกน้องมาก่อน

แม้ไม่เคยทำได้เต็มประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาภาพรวมดีที่สุดคือ 7 นาที และต้องดูตามสภาพพื้นที่ของแต่ละโรงพัก

ทว่าต้องหมั่นฝึกซ้อมอยู่เสมอ

“เรื่องที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้มองเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานที่มีไม่มากพอต่างหาก”

ผู้นำปทุมวันวาดหวังอยาก “ยกเครื่อง” กองทัพสายตรวจในอนาคต

RELATED ARTICLES