อยู่เบื้องหลังแกะรอยแฟ้มคดีฆาตกรต่อเนื่องรายสำคัญของโลก กระทั่งถูกบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือรู้จักกันนาม “บีบีซี”นำไปสร้างเป็นซีรีส์ดังลงเน็ตฟลิกซ์ในชื่อ The Serpent
พล.ต.ต.สมพล สุทธิมัย อดีตผู้บังคับการกองการต่างประเทศไม่เคยลืมเรื่องราวในครั้งนั้น แม้จะผ่านมานานเกิน 46 ปี
“ชาร์ล โสปราช ผมจำแม่น” เขาเอ่ยชื่อนักฆ่าตัวแสบที่เข้ามาก่อคดีสะท้านโลกในเมืองไทย ก่อนเข้าไปเป็นฟันเฟืองสำคัญของตำรวจไทยคลี่คลายคดี
อดีตผู้บังคับการกองการต่างประเทศวัย 90 ปีเล่าว่า เคยมีนักเขียนของฮอลลีวูดมาติดต่อเหมือนกันจะเอาไปทำหนัง มาขอสัมภาษณ์เสนอเงินให้ เราบอกไม่ได้ ไม่ต้องการเงิน ไม่มีความจำเป็น สมัยนั้น พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น เป็นอธิบดีกรมตำรวจยังกำชับมาเหมือนกันว่า อย่าไปรับเงินเด็ดขาด อยากได้ข้อมูลอะไร ให้ไป ตำรวจกองการต่างประเทศถึงมีชื่อเสียงขึ้นมา
พล.ต.ต.สมพลบอกว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นที่น่าสนใจ เพราะเกี่ยวกับคนต่างชาติถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมหลายรายในเมืองไทย เรื่องมาเข้าทางกองการต่างประเทศพอดี สมัยก่อนตำรวจหลายหน่วยไม่ค่อยเก่งเรื่องภาษาจะติดต่อกับต่างชาติเป็นเรื่องลำบากมาก ความน่าเชื่อถือในสายตาของต่างประเทศถึงไม่ค่อยมี กลายเป็นความบังเอิญของเราต่างหาก
ชีวิตเขาเป็นลูกชายอัยการทหารเรือ อยากเป็นนักบิน แต่คิดว่า ไม่เก่งคำนวณ ชอบเรียนภาษา พอจบโรงเรียนอำนวยศิลป์เลยไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งเกิดเหตุการณ์พลิกผันมาเป็นตำรวจเมื่อตอนอยู่มหาวิทยาลัยไปแข่งกีฬารักบี้ประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นักเรียนนายเรืออากาศ นักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายร้อยตำรวจ ปรากฏว่านายเรือแพ้แล้วไม่ยอมยกพวกมาไล่ตีบนอัฒจันทร์สนามศุภชลาศัย เป็นเหตุผลเปลี่ยนใจเข้าเป็นตำรวจดีกว่า
สมพลบอกเพื่อนติดต่อพี่ชาย คือ “เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน” มือของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ สมัครเข้าเป็นตำรวจสำเร็จ สังกัดกองวิชาการ กรมตำรวจนาน 2 ปีถูกส่งไปเรียนประเทศอังกฤษตามแนวคิดของอธิบดีเผ่า ศรียานนท์ เริ่มที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบกอีตัน ฮอล์ล ก่อนไปศึกษาโรงเรียนตำรวจจบแล้วเข้าโรงเรียนสืบสวนสกอตแลนยาร์ด ตามรอยของ พล.ต.อ.เสริม จารุรัตน์ ปีเดียว
กลับมาเมืองไทยถูกส่งไปอยู่สันติบาลคุมงานต่างประเทศ ดูแลประสานงานทวีปยุโรปและอเมริกา พล.ต.ต.สมพลมองว่า ดูไม่มีอนาคต งานสันติบาลไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก ขอตัวไปอยู่กองการต่างประเทศ ดูงานด้านตำรวจสากล ทั้งที่ตอนแรกไม่รู้ว่า ตำรวจสากลมีอะไร ทำอะไร ไม่รู้เรื่อง พอไปอยู่แล้วก็เริ่มไปปรับปรุงพัฒนาจนได้กำลังพลเพิ่มมา ยกระดับเป็นกองกำกับการ
“ตอนแรกมีแต่ไปประชุมอย่างเดียว กลับมาทำรายงานเก็บๆ ไม่มีกิจกรรมอะไร ผมปรึกษาผู้ใหญ่ว่า ขอทำอย่างนี้ได้ไหม ผมมีความรู้เรื่องการสอบสวน ทำกองการต่างประเทศกับงานหน้าตำรวจสากลแจ้งเกิดได้ เพราะปกติเงียบ ไม่มีใครรู้จัก ผมติดต่อสถานทูตญี่ปุ่นขอความช่วยเหลือเรื่องวิทยุสื่อสาร ขอเครื่องเทเล็กซ์ เนื่องจากต้องติดต่อกับประเทศสมาชิกกระทั้งประสบความสำเร็จ”
จากรองสารวัตรคุมงานตำรวจสากลขึ้นไปสารวัตรและเป็นรองผู้กำกับการทำหน้าที่รองหัวหน้ากองการต่างประเทศ และรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกองค์การตำรวจสากล พล.ต.ต.สมพลเล่าว่า คดีชาร์ล โสปราชเข้ามาพอดี เริ่มต้นจากภรรยาทำงานอยู่สหประชาชาติ กินข้าวด้วยกันตอนเย็นมาถามว่า เป็นไปได้ไหมที่คนต่างชาติจะมาถูกฆ่าในเมืองไทย 10 กว่ารายแล้วตำรวจไทยไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราก็บอกว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ตำรวจจะไม่รู้
“หลังจากวันนั้นไม่นาน ภรรยาโทรศัพท์มาหาบอก เพื่อนขอร้องให้ตามหาญาติคนหนึ่งเป็นผู้หญิงมาเมืองไทยแล้วหายตัวไป ผมอ่านข่าวทุกวัน กระทั่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงรูปหญิงสาวตายที่ชายหาดพัทยา ผมนึกได้รีบโทรบอกภรรยาให้เพื่อนไปดูศพที่โรงพยาบาลตำรวจว่า ใช่ญาติที่ตามหาหรือไม่” พล.ต.ต.สมพลว่า
ได้รับการยืนยันว่า ใช่ ประกอบกับที่ตำรวจสากลแจ้งมาช่วยสืบหาชาวตุรกีหายตัวไปจากโรงแรมเพรสซิเดนท์กับแฟนสาว ยังไม่ได้เช็กเอาต์และทรัพย์สินยังอยู่ครบ พล.ต.ต.สมพลเก็บข้อมูลไว้แล้วแจ้งตำรวจสากลถึงรายงานเบื้องต้นที่ยังไม่แน่ชัด ก่อนลาพักร้อนเดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดินตลาดสดเห็นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์พาดหัวข่าวพร้อมตีพิมพ์รูปถ่ายเหยื่อชาวต่างชาติหลายสิบราย เขาตกใจทันทีแล้วรีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ
หัวหน้าแผนกองค์การตำรวจสากลในขณะนั้นหัวเสียพอสมควรเมื่อรู้ว่า เพื่อนร่วมงานที่รักษาการแทนตอนตัวเขาพักร้อนไปติดต่อสถานทูตเนเธอร์แลนด์กลับมารายงาน พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจว่า เป็นเรื่องโจ๊ก เป็นนิยาย “มันไม่ใช่นิยาย อั๊วมีแฟ้มอยู่นี่ ลื้อรักษาการ ลื้อไม่ดูหรือ ผมโมโหมาก ตัดสินใจไปหาอธิบดีมนต์ชัย บอกว่า ท่านครับ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องโจ๊กนะครับ เรื่องนี้มันเรื่องจริง ท่านว่า ถ้าอย่างนั้นคุณไปจัดการเลย คุณตั้งทีมของคุณมาดำเนินการ”
การแกะรอยเริ่มต้นจากคณะทำงานไม่กี่คนที่ เขาเสนอ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ ขอตัว พิชัย ชำนาญไพร นายเวรอธิบดีกรมตำรวจที่เป็นเพื่อนสนิท รวมถึงชาญชัย ศิริสิทธิ์ ไกรสิงห์ พิมลศรี ร่วมกับกองคดี และสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท้องที่พบศพเหยื่อผัวเมียต่างชาติถูกเผาเอามาเป็นทีมงาน
ขณะเดียวกัน ได้พบกับเฮอร์แมน คนิปเปนเบิร์ก นักการทูตตรี สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ผู้มีส่วนสำคัญในการตามรอยข้อมูลการฆาตกรรมเพื่อนร่วมชาติ เจอกันครั้งแรก พล.ต.ต.สมพลบอกว่า คนิปเปนเบิร์กไม่ค่อยแฮปปี้ตำรวจไทย เพราะมีตำรวจบางหน่วยควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้แล้ว แต่หละหลวม ปล่อยตัวไป ด้วยความที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ และไม่มีความรู้เรื่องการปลอมหนังสือเดินทาง แถมอ้างว่า มีการจ่างเงินใต้โต๊ะรับสินบนกันด้วย เป็นเหตุให้คนิปเปนเบิร์กเบื่อตำรวจไทย
“ผมยืนยันว่า คดีนี้ผมรับผิดชอบ ผมเป็นหัวหน้าตำรวจสากล ตอนหลังถึงได้ข้อมูลเอามาประมวลรวมกันเป็นคดีเดียวกับที่ผมแกะรอยอยู่แล้ว ก่อนไปเสนออธิบดีมนต์ชัยดำเนินการออกหมายจับแดง ประสานตำรวจสากลกระจายหมายไปทั่วโลก เริ่มจากคดีฆาตกรรมในเมืองไทย” อดีตผู้บังคับการกองการต่างประเทศย้อนแฟ้มผลงานชิ้นสำคัญ
เจ้าตัวคลำรอยจนรู้ตัวชาร์ล โสปราซ ลูกครึ่งฝรั่งเศส-เวียดนาม ไปเช่าบ้านคณิต อพาร์ตเมนต์ย่านศาลาแดงอยู่กับแมรี อังเดร์ แฟนสาวชาวฝรั่งเศส-แคนาดา ออกอาละวาดล่าเหยื่อมาแล้วหลายประเทศ ก่อนเข้าเมืองไทยตระเวนมอมยาฆ่านักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นพวกฮิปปี้ ค้นห้องเช่าที่บ้านคณิตตำรวจจพบหลักฐานหนังสือเดินทางของเหยื่อหลายรายที่ถูกฆ่า โดนคนร้ายแกะรูปออกไปปลอมเป็นของตัวเองตบตาเจ้าหน้าที่เพื่อเดินทางออกนอกประเทศ
ฆาตกรต่อเนื่องรายสำคัญระดับโลกพร้อมแฟนสาวหลบหนีจากเมืองไทยไปก่อคดีอีกหลายประเทศแถบเอเชียใต้แล้วถูกจับกุมที่อินเดีย พล.ต.ต.สมพลทราบข่าวจัดแจงทำหนังสือไปขอตัวกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย แต่ได้รับการปฏิเสธจึงขออนุญาต พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ ขอเดินทางไปยังอินเดียพร้อมกับ พ.ต.ท.พิชัย ชำนาญไพร นายเวรเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาในเรือนจำ
“ตอนแรกตำรวจอินเดียบอกไม่มีปัญหา รับปากว่าจะส่งตัวคืนให้ เข้าไปถามโสปราซในคุกว่า สบายไหม อยู่ที่นี่ กลับไปเมืองไทยด้วยกันนะ มันบอกไม่ไป ปากแข็งบอกไม่ได้ทำอะไรที่เมืองไทย ผมบอกว่า ไม่ได้ทำแล้วทำไมไม่กล้ากลับเมืองไทย ก่อนเอาหลักฐานให้ดูว่า นี่ไงที่ทำไว้ ฆ่ากดน้ำผู้หญิงที่พัทยา เอาผู้ชายไปเผา รวมถึงอีกหลายเคส”
หลักฐานการสอบปากคำของ พล.ต.ต.สมพลยังได้เหยื่อชาวอินโดนิเชียสัญชาติออสเตรเลียโดนมอมยาแต่รอดมาได้ ไม่ตาย เหตุเกิดอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขาขออนุมัติอธิบดีกรมตำรวจเดินทางไปเมลเบิร์นประเทศออสเตรเลียพร้อมกับ พ.ต.อ.ไกรสิงห์ พิมลศรี นายตำรวจกองปราบปรามเป็นพยานมัดตัวอีกคดีถึงพฤติกรรมของชาร์ล โสปราซ
สุดท้ายทางการอินเดียไม่ยอมปล่อยตัว ผู้ต้องหาอยู่ในคุกอย่างราชา ก่อนพ้นโทษไปมอมยาฆ่าเหยื่ออีกหลายประเทศ กระทั่งจนมุมอีกรอบที่ประเทศเนปาล อดีตหัวหน้าแผนกองค์การตำรวจสากล กองการต่างประเทศ กรมตำรวจยอมรับว่า เสียดายที่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แม้ปัจจุบันหมดอายุความ 20 ปีไปนานแล้วก็ยังมีความรู้สึกอยากได้ตัวอยู่ สมัยนั้นโดนผู้บังคับบัญชาบางคนต่อว่า บอกจะเอาตัวมาทำไม เสียเงินเสียค่าใช้จ่าย ทั้งที่เรายืนยันว่า ต้องเอามา เพราะฆ่าคนในเมืองไทย ไม่เชื่อไปถามพนักงานอัยการดู ทว่าที่สุดก็เอามาไม่ได้
ปิดเกมออกหมายแดงส่งตำรวจสากลล่าข้ามโลกฆาตกรต่อเนื่องสำเร็จ ชีวิตของ พล.ต.ต.สมพลกลับสู่ปกติบนเส้นทางรับราชการ แม้ไม่ได้รับโล่รางวัลประกาศชื่นชมเกียรติประวัติพิชิตคดีสำคัญ แต่รับสองขั้นจากกรมตำรวจเป็นขวัญกำลังใจ ก่อนย้ายไปอยู่กองตรวจคนเข้าเมืองนาน 6 ปี เพื่อแก้ไขระบบ ทั้งที่ตัวเองยังรักทำงานตำรวจสากลของกองการต่างประเทศ
เขาตัดสินใจขอ พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น ย้ายกลับมาเป็นรองผู้บังคับการกองการต่างประเทศแล้วขึ้นผู้บังคับการกองการต่างประเทศ อยู่ตำแหน่งนานกว่าใครถึง 5 ปีก่อนเกษียณอายุราชการ เจ้าตัวบอกว่า ตำรวจไทยในสมัยก่อน ต่างประเทศไม่ค่อยสนใจเรา ไม่เชื่อศักยภาพของตำรวจสามารถทำได้ เราต้องแสดงให้ต่างชาติเห็นว่า ตำรวจไทยทำได้ ที่สำคัญต้องไม่รับอามิสสินจ้างเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นตำรวจไทยจะมองภาพติดลบต่อสายตาต่างชาติทันที
“ผมอยากฝากตำรวจในยุคปัจจุบัน อยากให้ทำงานด้วยความตั้งใจ สนใจในพยานหลักฐานต่าง ๆ และควรเก็บไว้ มันมีประโยชน์ ไม่ใช่ว่า รื้อแล้วก็ทิ้งไปหมดเลย คิดดูสิว่า ของกลางต่าง ๆ ที่ผมได้มาสมัยที่ผมอยู่กองการต่างประเทศ หายไปหมด เหมือนไม่ค่อยสนใจ น่าเสียดายเหมือนกันนะ เช่นเดียวกับคดีของชาร์ล โสปราซ ผมไม่ได้คิดจะได้ความดีความชอบอะไร เพราะผมทำตามหน้าที่ กระทั่งเป็นที่นับถือของตำรวจต่างชาติ และเจ้าหน้าที่ทูตอีกหลายประเทศ”
พล.ต.ต.สมพลว่า สมัยก่อนตำรวจกองการต่างประเทศไปประชุมแล้วโยนให้ลูกน้องแปลเอกสารรายงานให้กรมตำรวจทราบ ก่อนเก็บเอกสารไว้ไม่ได้อะไร เป็นการทำงานเอกสารอย่างเดียว พอเราเข้าไปปรับปรุงพัฒนาจะเห็นว่า ตำรวจกองการต่างประเทศมีความสำคัญของฝ่ายบริหารไม่น้อยในยุคปัจจุบัน “มันกลายเป็นหน่วยเทคนิคที่สมัยนั้นขึ้นตรงอธิบดีกรมตำรวจ ผมรู้สึกว่า ต้องไปสืบสวนเอง ตั้งทีมเอง เพราะรู้ว่า หน้างานของเรา คือ อะไร มีความสำคัญแค่ไหน และที่ผมต้องทำ เพราะไม่มีใครทำ เป็นงานที่ต้องใช้ภาษาประสานกับต่างประเทศ ถ้าไม่สนใจก็อาจปล่อยผ่าน”
นายพลตำรวจตรีวัยชราแต่ยังมีความจำเป็นเลิศมองตัวอย่างแฟ้มคดีชาร์ล โสปราซว่า โชคดีที่ตัวเองเช็กข่าวทุกวัน ตรวจข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ต่างประเทศพอเห็นภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ถึงสงสัยจะเป็นผู้หญิงที่เพื่อนภรรยาตามหา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแฟ้มคดีระดับโลกที่เกิดจากตัวเรา ถ้าเป็นคนอื่นปล่อยผ่านไปคงไม่สำเร็จ ทำให้ตำรวจกองการต่างประเทศเป็นที่รู้จักในสายตาชาวต่างชาติ เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจ
“ความจริงผมเป็นตำรวจใหม่ ๆ อยู่สันติบาล ผมขอไปอยู่นครบาล อธิบดีพจน์ เภกะนันทน์ บอกว่า ไม่ได้ ผมต้องการคุณ ท่านไม่ให้ไป คนอื่นให้ไป แต่ไม่ให้ผมไป ถ้าผมไป ป่านนี้ก็ไม่รู้เป็นอะไร ถือเป็นจังหวะดีที่ผมได้มาอยู่กองการต่างประเทศ ได้มาปรับปรุง ได้ทำอะไรจนให้มันมีชื่อมีเสียงขึ้นมา มันเป็นความภูมิใจของผมอยู่นะ รู้สึกว่า ผมทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ทำให้ทุกคนรู้จักว่า ตำรวจไทย ไม่ได้ชั่วทุกคน” อดีตนายตำรวจผู้ตามรอยนักฆ่าคนดังทิ้งท้าย
สมพล สุทธิมัย !!!