ถึงจะมีพ่อเป็นอดีตอธิบดีกรมตำรวจก็ใช่ว่าจะเลือก “จิ้มเก้าอี้” ลงได้
ตำแหน่งที่ดีสุดสมกับความถนัดของ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ น่าจะตอนเป็นผู้กำกับการสืบสวนนครบาล 6 ยุค พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
เอาเนื้องานตอบแทนความไว้ใจของผู้เป็นนาย
ไม่ใช่ “หิวกระหาย”อยากมานั่งคุมพื้นที่ทำเลทองกลางกรุง
แกะรอยจับตาย “ไอ้ดำ” หัวหน้าแก๊งปล้นรถตู้เอาเจ้าของรถไปฆ่าทุบหัวทิ้งหลายศพ อีกทั้งวิสามัญฆาตกรรมโจรเรียกค่าไถ่เด็กนักเรียนอัสสัมชัญในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา
เส้นทางทำท่าจะไปได้สวย สุดท้ายความห่วยของระบบวิ่งเต้นโยกย้าย “ใส่ไฟ” ทำลายกัน ส่งให้เด้งเข้ากรุเป็นผู้กำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ทันทีที่หมดยุคมือปราบหน้าหยก “วรรณรัตน์ คชรักษ์”
ย้ายอยู่ถิ่นเก่ามีนบุรี วันดีคืนดียังถูก “โยนผิด”ว่า อยู่เบื้องหลัง “ฆ่าตัดตอน” คดียาเสพติดอีก
ผู้ใหญ่ฟังเหตุผลแล้วเข้าใจ ช่วย “เยียวยา” ให้ได้แค่ขึ้นเป็น รองผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง ไม่นานกองตำรวจดับเพลิงย่อยสลาย ขยับโยกช่วยกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ก่อนนั่งรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 และรองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง
ระลอกนี้มรสุมหนักกว่าเดิมเจอชะนักติดหลังมี “มลทิน”ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างทั้งที่ตัวเองไม่ได้เอี่ยว นอกเซ็นเอกสารตามผู้บังคับบัญชามอบหมาย
สู้คดีอยู่หลายปีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์
ถึงกระนั้นก็ถูกย้ายเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน หาเช่าบ้านพักไม่ถึง 2ชั่วโมง มีวิทยุด่วนให้ไปรายงานตัวจังหวัดยะลา ตามคำสั่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ภายหลังไฟใต้กระพือแล้ว 2 ปีเศษ
วิ่งรอกช่วยดับร้อนด้วยหน้าที่และวิญญาณผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ไม่เคยได้นั่งโต๊ะทำงานประจำตำแหน่งหลัก ไม่เคยได้ย้ายปักหลักลงเก้าอี้ที่พอ มีไม้-มีมือ
ขนาดขึ้น “นายพล” ยังต้องอาศัยบารมีนายเวรเก่าของพ่อขอ “แปะชื่อ” เป็นผู้บังคับการประจำสำนักงาน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ
แต่ตัวลงมาเดินลุยในสมรภูมิรบชายแดนด้ามขวาน
มีผู้ใหญ่บางคนเอ่ยปากบอก
“ที่นี่ไม่มีใครแล้ว ขอให้ช่วยเป็นตัวหลักด้วย”
ทว่า “ตำแหน่งหลัก” กลับไม่เคยได้รับการตอบสนองจากผู้เป็นนาย สุดท้ายเขายอมมุ่งมั่นเสียสละเต็มใจ “เสี่ยง”ทำงานมานานนับ 10 ปี
เปิดปฏิบัติการ “ไข่เจียว” ปลุกสภาพความห่อเหี่ยวของนักรบไฟใต้
ด้วยหัวใจของนาย !!!