SMART SAFETY ZONE 4.0

 

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการปฏิบัติงานใหม่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องมีความรอบรู้ทฤษฎี และแนวคิดอาชญาวิทยา เพื่อนำไปประยุกต์พัฒนามาตรฐานการทำงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบททางสังคม” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า

เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการสลับซับซ้อนมากกว่าในอดีตส่งผลให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมมากขึ้น

เจ้าตัวถึงเน้นให้มีการฝึกยุทธวิธีตำรวจอย่างสม่ำเสมอ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้แก่ ฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางการศึกษา สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน ในการร่วมมือช่วยกันป้องกันอาชญากรรมในภาพรวมและส่วนของตน

นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการป้องกันอาชญากรรม ได้แก่ ศูนย์ควบคุมสั่งการ CCOC อุปกรณ์กล้องอัจฉริยะ (A.I.) พร้อมระบบปฏิบัติการ เสา S.O.S รับแจ้งเหตุ โดรน เป็นต้น

จุดเริ่มของก้าวแรกในการทำงานเชิงรุกป้องกันอาชญากรรม ตาม โครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 ป้องกันอาชญากรรม

โครงการที่ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ นำเสนอ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นชอบให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อนุมัติโครงการ

ส่งต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา สบ 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขับเคลื่อน

นำแนวความคิดมาทดลองใช้แก้ไขปัญหาอาชญากรรม เพื่อให้ประชาชนลดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรมลง

“พวกเขาต้องสามารถเดินตามถนน ตรอก ซอยได้อย่างรู้สึกปลอดภัย เกิดความเชื่อมั่น อุ่นใจ และปลอดภัยจากอาชญากรรมอย่างเป็นรูปธรรม” พล.ต.อ.สุวัฒน์วาดหวัง

โครงการถูกนำร่อง 15 สถานีตำรวจทั่วประเทศที่พื้นที่รับผิดชอบเป็นเมืองใหญ่ มีความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมมีความหลากหลายของประชากร

เปรียบเสมือนเป็นเหมือน “แลนด์มาร์ค” ของแต่ละจังหวัด

ประกอบด้วย สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี  สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ  สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี สถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง สถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี สถานีตำรวจภูธรปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ สถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี  สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต  สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการ พล.ต.อ.สุวัฒน์มองว่า อยู่ที่ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่จะตระหนักรู้และช่วยป้องกันอาชญากรรมในมิติของตน

นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

แม้ในอดีตจนถึงปัจจุบันตำรวจได้ใช้แนวทางการทำงานมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก พยายามจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้จำนวนมาก แต่ไม่สามารถลดอาชญากรรมได้

กระทั่งมองเห็นความจริงที่ว่า การทำงานเพียงลำพังโดยปราศจากความร่วมมือจากประชาชนไม่อาจทำให้งานตำรวจประสบความสำเร็จ

เมื่อย้อนไปเมื่อปี 2531 เกิดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายควบคุมกับตำรวจชุมชนสัมพันธ์ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ตรงกันข้ามอาชญากรรมในประเทศยังคงมีสถิติสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพลักษณ์ของตำรวจในสายตาของประชาชนยังไม่ดีขึ้น

ตำรวจยังคงมี ต้นทุนทางสังคมต่ำ อยู่เช่นเดิมสะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางของตำรวจเดินไปในทางไม่ถูกต้อง

ต่อมามีการศึกษาวิจัยแนวคิดเรื่อง “ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community  Policing)” ทฤษฎีที่พลิกโฉมหน้าวงการตำรวจสหรัฐอเมริกาและวงการตำรวจทั่วโลก ทำให้ตำรวจเปลี่ยนทิศทางการทำงานจากการเป็นผู้ใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนไปเป็นหันหน้าเข้าหาประชาชน

ทำหน้าที่ปกป้องและให้บริการสร้างความคุ้นเคยให้ความจริงใจจนได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

เมื่อประชาชนไว้วางใจก็จะให้ข้อมูลข่าวสาร บอกปัญหาและความต้องการให้ตำรวจทราบ หลังจากนั้นตำรวจกับประชาชนจะร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ตรงตามความตรงการมากขึ้น

กลายเป็นกรอบความคิดด้านป้องกันอาชญากรรมและอาชญาวิทยามาผสมผสานให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในทุกมิติ ก่อนจัดทำ โครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 นำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเขตพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1-9 เป็นลำดับแรก

มีเป้าหมายคือ การพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกโดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ”

ยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ ผสมผสานทฤษฎีและแนวคิดเรื่องการป้องกันอาชญากรรมและอาชญาวิทยา ยกระดับการทำงานของตำรวจก้าวสู่ยุคดิจิทัล บูรณาการการทำงานระหว่างภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ระบบราชการท้องถิ่น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในด้านป้องกันอาชญากรรม

ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ ประชาชนในพื้นที่มีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม ไม่เกินร้อยละ 40   เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80  มีการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการปฏิบัติงานของโรงพักอย่างเป็นรูปธรรม จัดประชุมเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

ร้อยละของสถิติคดีอาญากลุ่มที่ 1 และ 2 ในพื้นที่นำร่องลดลงเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างช่วงเวลาก่อนและหลังการเข้าร่วมโครงการ

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

ภาพลักษณ์ตำรวจที่กำลังติด “ลบ” จะย้อนกลับมาเป็น “บวก”ได้ไหม

         

 

 

RELATED ARTICLES