ภารกิจติดอาร์ม (1)

 

“รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ”

วิสัยทัศน์ กองบังคับการตำรวจรถไฟ ยังบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาค มีมาตรฐานให้บริการและช่วยเหลือประชาชนด้วยความประทับใจ

สกัดกั้นการกระทำความผิดและการลักลอบลำเลียงสิ่งผิดกฎหมายทางรถไฟ

พร้อมรับในการพัฒนา ขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า

ตลอดระยะกว่า 128 ปีบนภารกิจติดอาร์ม “กองตำรวจรถไฟ” พวกเขาปฏิบัติหน้าที่สนองพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจวบจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่วันที่พระองค์มีพระราชดำรัสก่อตั้ง กรมตำรวจพิเศษ เพื่อปกป้องคุ้มครอง รักษาชีวิต และทรัพย์สินของกรมรถไฟ เมื่อปีพุทธศักราช 2437 จากการก่อการร้ายในระหว่างที่มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายพระนคร-นครราชสีมา

ภายใต้ชื่อ “กองตระเวนรักษาทางรถไฟสายนครราชสีมา”

ถือเป็นการก่อตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมากิจการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขยายเส้นทางออกไปทั้งสายเหนือและสายใต้ พระองค์มีพระราชดำริให้จัดตั้งกองตระเวนรักษาทางรถไฟสายเหนือและกองตระเวนรักษาทางรถไฟสายเพชรบุรีขึ้นตามลำดับ

กระทั่งวันที่ 31 พฤษภาคม พุทธศักราช 2495 กรมตำรวจรวมกองตระเวนรักษาทางรถไฟ จัดตั้งขึ้นเป็น “กองตำรวจรถไฟ” มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย

อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจหลักสำคัญคือถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ อีกทั้งรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ

ตามด้วยรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญา และความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องบนขบวนรถไฟ รถไฟฟ้า แนวเขตเส้นทางรถไฟ เขตพื้นที่สถานีรถไฟ รถไฟฟ้า เขตพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย

รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ขณะเดียวกัน แนวโน้มพัฒนาของการรถไฟแห่งประเทศไทยในอนาคต มีแผนเพิ่มรถไฟสายใหม่อีก 12 เส้นทาง พาดผ่านหลายจังหวัดจากโครงข่ายในปัจจุบันระยะทางรวม 4,044 กิโลเมตร แต่ในช่วงปี 2565-2580 โครงข่ายรถไฟทางไกลจะขยายรวมเป็น 6,463 กิโลเมตร

แถมมีแนวโน้มขยายเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านสู่โลก

คาดการณ์ด้วยว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการนับตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 80,000 คน ต่อเที่ยวต่อวัน ปีต่อไปจนถึงปี 2574 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากถึง 1,080,000 คน ต่อเที่ยวต่อวัน

การเติบโตของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นตามเทคโนโลยีก้าวล้ำทันยุคสมัย

แล้วคิดจะยุบ “ภารกิจติดอาร์ม” ของตำรวจรถไฟไปทำไม  

RELATED ARTICLES