ภารกิจติดอาร์ม (3)

 

ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่ใกล้ทำคลอดตามแบบของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม เตรียมปรับ “โครงการองค์กรสีกากี” ครั้งสำคัญ

หั่นหน้างานที่มองไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้รักษากฎหมายในเครื่องแบบ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” โอนภารกิจไปให้หน่วยอื่นรับผิดชอบ

นอกจาก กองบังคับการตำรวจรถไฟ แล้ว กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กำลังจะเสีย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่ได้อยู่ในแผนโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามความคิดของคณะกรรมการ “ผ่าตัด” ร่างตำรวจ

แม้เป็นหน่วยงานเก่าแก่ไม่ต่างกองบังคับการตำรวจรถไฟ

ประวัติความเป็นมาของตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องย้อนไป “ปฐมบท” เมื่อปีพุทธศักราช 2439 หลังจากสยามประเทศตั้งกรมป่าไม้ขึ้น มีหน้าที่ควบคุมการทำไม้ในประเทศ ทว่าขณะนั้นการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ายังมิได้เข้มงวดกันอย่างจริงจัง

ทำให้ไม่สามารถหยุดยั้งการลักลอบตัดไม้ลงได้

ต่อมา พุทธศักราช 2499 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ มองเห็นความสำคัญในการจัดชุดปฏิบัติการแผนกป่าไม้ สังกัดกองกำกับการ 3 กองปราบปราม ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และทำหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือประสานงานร่วมกับกรมป่าไม้

หลังจากนั้นอีก 5 ปี มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจจัดตั้งกองตำรวจป้าไม้ขึ้นเป็น “กองบังคับการ” ติดอาร์มท่ามกลาง ภารกิจปกป้องผืนป่า ขึ้นตรงในปกครองบังคับบัญชาต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

กระทั่งพุทธศักราช 2547 กรมตำรวจเดิมสังกัดกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนร่างใหม่เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นการบังคับบัญชาโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการอีกรอบ

“กองตำรวจป่าไม้” ถึงปรับรูปลักษณ์เปลี่ยนอาร์มเป็น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ยังสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเหมือนเดิมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พุทธศักราช 2548

ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีนับตั้งแต่กำเนิดใหม่ “กองตำรวจป่าไม้” มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วราชอาณาจักร

ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความผิดอันเกี่ยวเนื่อง

กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย

พวกเขายังถือกฎหมายเกี่ยวเนื่อง 45 พระราชบัญญัติที่มีส่วนปกป้องรักษาทรัพยากรของชาติ

อาทิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พระราชบัญญัติสวนป่า พระราชบัญญัติเลื่อยยนต์ พระราชบัญญัติงาช้าง พระราชบัญญัตินาบาดาล พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย

ประมวลกฎหมายที่ดิน

ครอบคลุมถึง อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on lnternational Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)

ได้เวลาต้องยุบย่อยสลายละลายประวัติศาสตร์จริงหรือ

RELATED ARTICLES