“อย่าเอาไม่ผิดเข้าคุกหรือไปฆ่าเขา การตัดสินใจที่ถูกต้องจะช่วยให้ไม่เป็นไร ฆ่าใครก็ไม่บาป “

หากจะเอ่ยชื่อ สมศักดิ์ แสนชื่น นักสืบรุ่นใหม่น้อยคนจะรู้จักว่าเขาเป็นใครอยู่ในยุทธจักรสืบสวนนานขนาดไหน แต่สำหรับแวดวงสีกากีนอกเครื่องแบบรุ่นเก่าแล้วไม่มีใครปฏิเสธฝีมือนายตำรวจท่านนี้

เป็นนักสืบผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังผลงานสร้างชื่อเสียงให้แก่กรมตำรวจไว้มากมาย

พ.ต.อ.สมศักดิ์ เกิดที่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนพรตพิทยพยัต ย่านลาดกระบัง ก่อนเข้ากรุงไปต่อโรงเรียนอำนวยศิลป์จนจบ ม.8 แล้วมาจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตหักเหเข้าสู่อาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพราะอดใจรอสอบสายปกครองเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ ตามสายที่เรียนมาไม่ไหว พอมีการเปิดรับสมัครนักเรียนนายร้อยอบรมตามคุณวุฒิรัฐศาสตร์จึงลองสอบแข่งขันดู ผลปรากฏว่า ติดเป็น นอร.รุ่น 2 เมื่อปี 2509

รับราชการครั้งแรกตำแหน่ง รองสารวัตรประจำกองเมือง จังหวัดลำพูน วนเวียนอยู่ภาคเหนือนาน 3 ปี ย้ายเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองบินตำรวจ ถึงปี 2515 เป็น รองสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง

พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เห็นแววความเป็นนักสืบจึงจับย้ายมาเป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ขึ้น สารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เป็น รองผู้กำกับสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ก่อนย้ายข้ามฝั่งนั่งเก้าอี้ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ นานเพียง 3 ปีขึ้นเป็น ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2537

เผชิญมรสุมชีวิตราชการตำรวจ

หลังเป็น “ผู้กำกับสืบสวนใต้” แค่ปีเศษก็ถูกย้ายเป็น ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลประเวศ อยู่ได้ 7 เดือนเด้งเป็น ผู้กำกับการข่าว กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สลับตำแหน่งกับ พ.ต.อ.สมคิด บุญถนอม นายตำรวจนักสืบอีกคนในยุคนั้น

ถัดมาอีกปีเปลี่ยนไปเป็นผู้กำกับการกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล

ทำท่าว่าจะดีได้ไม่กี่เดือนก็โดนเด้ง “เข้ากรุ” เป็น ผู้กำกับการชุดตรวจงานอำนวยการ ส่วนตรวจราชการ 5 สำนักงานจเรตำรวจ นั่งทำงาน 10 เดือนยังถูกเปลี่ยนเป็น ผู้กำกับการชุดตรวจงานป้องกันปราบปราม ส่วนตรวจราชการ 2 สำนักงานจเรตำรวจ

ปีต่อมา วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ออกไปนั่งตำแหน่งผู้กำกับการอำนวยการตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน

บั้นปลายชีวิตราชการอยากกลับไปอยู่ใกล้มารดาที่ชราภาพในบ้านเกิดแปดริ้วจึงพยายามขอร้องผู้ใหญ่ให้ได้ย้ายไปอยู่ดูแลผู้ให้กำเนิด แต่กลับโดนปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย ทั้งที่ตลอดระยะเวลาราชการไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย สร้างผลงานไว้มากมาย แถมถูกคำสั่งย้ายทุกโผนับตั้งแต่นั่งเป็นผู้กำกับ “สืบใต้” ยังไม่คิดจะเรียกร้องขอความเป็นธรรม

คือเหตุผลสำคัญที่เขาตัดสินใจลาออกก่อนเกษียณ

กลายเป็นราษฎรเต็มขั้นที่ไม่อยากคิดถึงห้วงเวลาอันเจ็บปวดนั้นอีก

แต่สำหรับชีวิตนักสืบ เขามีเรื่องเล่ามากมายหลังผ่านประสบการณ์งานสืบสวนมาอย่างโชกโชนในสมัยไปทำงานอยู่ที่ “กองสืบสวนเหนือ” ดินแดนแห่งมนต์เสน่ห์ที่นายตำรวจรุ่นก่อนอยากไปอยู่เพื่อฝึกฝนฝีมือนักสืบ

“ตอนแรกที่เป็นตำรวจไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปแนวไหน แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนช่างสังเกต และสร้างมนุษยสัมพันธ์ไว้เยอะก็คงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผลักดันให้เข้ามาใช้ชีวิตนักสืบ” พ.ต.อ.สมศักดิ์ เริ่มต้นเล่าตำนาน

เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาเห็นแววความเป็นนักสืบ เริ่มต้นสมัยทำหน้าที่รองสารวัตรจราจรที่โรงพักห้วยขวาง มีคดีปล้นร้านทองเกิดขึ้นในท้องที่ บังเอิญมีผู้หญิงเดินถนนธรรมดาคนหนึ่งเห็นพฤติกรรมรถยนต์ผิดสังเกต ถอดแผ่นป้ายทะเบียนโยนทิ้งข้ามกำแพงโรงเรียนดรุณพิทยา มีคนลงจากรถเรียกแท็กซี่ไป

 “ตกเย็นวันนั้น หญิงสาวคนดังกล่าวมาพูดคุยกับผม ก็สนิทสนมชอบพอกันแหละ ผมคุยว่าเมื่อเช้าเกิดคดีปล้นร้านทอง เธอก็สะดุ้งบอกว่า พี่ตอนสิบเอ็ดโมงหนูเห็นรถคันหนึ่งมาจอดข้างกำแพงโรงเรียนแล้วโยนแผ่นป้ายทะเบียนทิ้ง หนูยังจดทะเบียนรถแท็กซี่ไว้ด้วย ผมก็นั่งคิด เออ ช่วงเวลามันใกล้เคียงกันจึงไปปรึกษาสารวัตรใหญ่เอากำลังจากสืบสวนเหนือมาช่วย”

ดึงให้ไปอยู่ในทีมสืบสวนคดีปล้นร้านทองและคุมพยานปากสำคัญคือหญิงธรรมดาคนนั้น เปิดฉากแกะรอยจากรถแท็กซี่ไล่ข้อมูลกันหลายวัน กระทั่งจับคนร้ายได้ยกแก๊ง พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ เลยทำเรื่องให้ย้ายไปอยู่กองสืบสวนเหนือดีกว่าทำงานด้านจราจร

พันตำรวจเอกอดีตนักสืบเมืองกรุงยังย้อนถึงคดีประทับใจที่ต้องใช้เวลาทุ่มเทการสืบสวนจนประสบความสำเร็จว่า มีคดีปล้นเงินเดือนพนักงานโรงงานซันโยนับล้านกว่าบาท ซอยอุดมสุข ท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางนา เขตรับผิดชอบกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ที่ต้องใช้ความพยายามและความอดทนสูง สมัยนั้น พล.ต.ต.เสมอ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรียกประชุมทีมสืบสวนเหนือ ใต้และ ธนบุรี เพื่อช่วยติดตาม

พ.ต.อ.วาทิน คำทรงศรี เป็นผู้กำกับสืบเหนือมอบหมายให้พ.ต.อ.สมศักดิ์รับผิดชอบเป็นตัวหลักติดตามหาข้อมูล เริ่มต้นด้วยการศึกษาแผนประทุษกรรมคนร้ายตั้งแต่ตอนเริ่มปล้นและเส้นทางหลบหนีไปแถวภาคตะวันออก ใช้เวลาการสืบสวนหาข่าวนานเป็นเดือน นั่งรถตระเวนไปทั่วภาคตะวันออก คุยกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านช่วยหาข้อมูลเกี่ยวกับคนร้าย

“บังเอิญผ่านไปโรงพักบ้านค่าย ระยอง เจอสารวัตรใหญ่ที่เป็นนิสิตรุ่นพี่จุฬาฯ จึงเข้าไปทักทายเยี่ยมเยียน เอ่ยปากถามข้อมูลเรื่องปล้น เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง แกบอกมีลูกน้องเคยให้ข่าวกลุ่มผู้ต้องสงสัยลงไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้เงินมาก้อนใหญ่แต่ไม่รู้ไปทำอะไรมา ก่อนเอาชื่อผู้ต้องสงสัยยื่นให้ผมไปเช็กต่อเพิ่มเติมว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีปล้นในท้องที่บางนาหรือไม่”

เมื่อกลับมาตรวจสอบข้อมูลที่ได้ เริ่มมีเค้าเบาะแส ผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์ย่านบางเขน อีก 2 คนมีประวัติปล้นที่จังหวัดชลบุรีและกำลังมีหมายไปขึ้นศาลจังหวัดสุพรรณบุรีในคดีปล้นเช่นกัน แต่พอเอาพยานพนักงานซันโยที่อยู่ในเหตุการณ์ไปดูตัวถึง 2 ครั้งกลับไม่ยืนยัน เพราะกลัว จำเป็นต้องได้ข้อมูลมากกว่านี้

กระทั่งมีข่าวผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีกคนอยู่ในแก๊งทำงานขับแท็กซี่ป้ายดำเส้นทางระหว่างแปดริ้ว-ชลบุรี เมื่อส่งคนไปสืบข่าวทราบว่า เพิ่งได้เงินมาซื้ออะไหล่ซ่อมรถช่วงเวลาใกล้เคียงกับการปล้น แต่ พล.ต.ต.เสมอ ที่ได้รับรายงานการสืบสวนมาตลอดบอกพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ

 “ ผมนั่งทบทวนอยู่หลายคืน มองว่าคนร้ายน่าจะเช่ารถมาทำงานมากกว่า เลยเอาลูกน้องไปหาข่าวตามเต็นท์รถเช่าว่ามีใครมาเช่ารถวันก่อนเกิดเหตุแล้วมาคืนหลังลงมือไม่กี่วันต่อมาหรือไม่จนไปเจอเต็นท์รถย่านคลองเตยพบอยู่รายเช่าวันที่ 14 ส่งคืนวันที่ 16 ยี่ห้อและสีของรถตรงกับที่พยานระบุ”

คนที่ลงรายชื่อเช่ารถคือเด็กหนุ่มที่ทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์

“แล้วคดีมันก็เริ่มออกมาทีละเปาะ” พ.ต.อ.สมศักดิ์อธิบายให้เห็นภาพการทำงานของนักสืบยุคกว่า20 ปีก่อน

หนุ่มพนักงานองค์การโทรศัพท์มีหลักฐานไม่ไปเซ็นชื่อทำงานในวันเกิดเหตุ พอตรวจสอบประวัติครอบครัวยังพบมีภรรยาทำงานอยู่โรงงานซันโย รู้เวลาและขั้นตอนการไปเบิกเงินเดือนพนักงานจากธนาคารอย่างดี

ที่แท้ก็เกลือเป็นหนอน

“ผมเอารายงานการสืบสวนที่ทำอย่างละเอียดยิบเสนอ พล.ต.ต.เสมอว่ากลุ่มคนร้ายเป็นพวกนี้ชัดเจนแน่นอน ด้วยเหตุผลที่ประกอบด้วย มีการใช้รถยี่ห้อแลนเซอร์สีฟ้าเข้าปล้น คนเช่ารถเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์ วันเกิดเหตุไม่ไปทำงาน มีเมียทำงานอยู่โรงงานซันโย เพื่อนร่วนทีมเป็นมือปล้นประวัติยาวเหยียด คนขับรถวันที่ลงมือหลังเกิดเหตุเอาเงินไปซื้ออะไหล่รถแท็กซี่” ผู้กำกับสมศักดิ์ยิ้มอย่างภาคภูมิใจก่อนหักมุมบอกต่อว่า พล.ต.ต.เสมอ ดามาพงศ์ ไล่ให้ไปหาพยานเพิ่มเติมอีก

ผ่านไปเป็นเดือนแฟ้มรายงานสืบสวนคดีปล้นเงินเดือนพนักงานซันโยที่เฝ้าอุตสาห์รวบรวมมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยถูก สารวัตรสมศักดิ์นำเข้าห้องไปปรึกษา พ.ต.ท.คงเดช ชูศรี ที่ขณะนั้นนั่งเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ

 “รองคงเดชเห็นรายงานของผมแล้วตัดสินใจทันที เรียกทีมสืบสวนประมาณ 10 คนเริ่มต้นวางแผนเน้นเอาคนร้ายในแก๊งที่ดูอ่อนสุดพอจะเปิดเกมได้ ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าคนนั้นคือเด็กหนุ่มพนักงานองค์การโทรศัพท์ พอเชิญตัวมาไม่ต้องทำอะไรมากมันก็บอกหมด”

หลังจากนั้นตามขยายผลไปที่คนขับรถแท็กซี่ป้ายดำยึดกล่องเหล็กใส่เงินหลักฐานชิ้นสำคัญในการมัดตัวก่อนล่าจับผู้ต้องหาที่เหลืออีก 2 คนที่เป็นดาวปล้นแห่งภาคตะวันออกครบทีม

“มันเป็นความประทับใจที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก” พ.ต.อ.สมศักดิ์พูดอย่างภาคภูมิใจ โดยยกตัวอย่างอีกคดีที่เขาอาศัยความเป็นนักสืบเดินดินกินข้าวแกงสร้างชื่อให้กับหน่วยงานสืบสวนเหนือมาเล่าสู่กันฟังด้วย

เป็นคดีปล้นเงินเดือนสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ท้องที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอย่างอุกอาจใจกลางกรุง

 “ผมไปรู้จักกับเจ้าของรถบรรทุกคันหนึ่ง อาศัยความสนิทสนมจนเจอเด็กท้ายรถบรรทุกพูดคุยหยอดหาข้อมูลไปเรื่อย มันมาบอกวันไหนว่างพี่มาคุยกันหน่อย ผมก็ไปหา เด็กคนนั้นเล่าว่า เที่ยวสนามหลวงแล้วไปเจอเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักในคุก เป็นตัวปล้น ชวนไปทำงานปล้น แต่เขาไม่เอา อย่างไรก็ตาม เด็กท้ายรถคนนี้รู้แผนหมดว่าพวกมันจะลงมือปล้นสำนักงานปฏิรูปที่ดินในวันเงินเดือนออก มีใครร่วมทีมบ้าง ใช้วิธีการอย่างไร เช่นเอาปลาสเตอร์ปิดใบหน้าให้ดูผิดสังเกตว่ามีแผลที่หน้า”

พอได้เอาข้อมูล นายตำรวจนักสืบคนขยันจัดแจงทำรายละเอียดเข้าแฟ้มว่าใครเป็นใครในตัวละครปล้น พยายามหารูปถ่าย หาแหล่งกบดาน แข่งกับเวลาก่อนที่พวกมันจะลงมือก่อเหตุ พร้อมทั้งแจ้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินให้ออกมาตรการระวังไว้ด้วย

ผ่านไป 6 เดือนเรื่องก็เงียบหาย ไม่มีเหตุปล้นตามที่ได้ข่าวมา ขณะเดียวกันสำนักงานปฏิรูปที่ดินได้ย้ายที่ตั้งจากสะพานควายไปอยู่บนชั้น 3 ของอาคารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน ยิ่งมีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เฉลียวใจเพราะหากคนร้ายจะก่อเหตุต้องขึ้นไปถึงชั้น 3 ยากกว่าตอนอยู่ที่เก่าหลายเท่า

และแล้วก็เกิดเหตุปล้นสะท้านเมืองขึ้นจนได้

“ผมนั่งอยู่ที่กองสืบเหนือ เวลาใกล้เที่ยงมีวิทยุรายงานว่าคนร้ายเข้าไปปล้นสำนักงานปฏิรูปที่ดินได้เงินไปหลายล้านบาท ตอนนั้นผมยังไม่รู้ด้วยว่าย้ายที่ตั้งไปแล้ว มานึกเอะใจตอนหลังจึงไปสอบถามพยานเกี่ยวกับรูปพรรณคนร้ายพบเบาะแสเข้าเค้ากับที่ผมเก็บข้อมูลไว้เป๊ะ ตรงคนที่ติดปลาสเตอร์ทำหน้าบาก”

ผู้บังคับบัญชาปลื้มทันที เพราะเหตุเกิดไม่กี่ชั่วโมง ตำรวจรู้ตัวคนร้ายหมดแล้ว สามารถตอบคำถามประชาชนและสื่อมวลชนได้เต็มปากเต็มคำ เนื่องจากหากไม่สามารถคลี่คลายคดีได้รวดเร็ว ผู้ใหญ่ในกรมตำรวจต้องร้อนรนและบี้ผู้บังคับบัญชาระดับรองลงมา เพราะจุดเกิดเหตุเป็นสถานที่ราชการ  คนร้ายปฏิบัติการเย้ยกฏหมายอย่างอุกอาจปล้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ

คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนเหนือตามไล่จับกันอยู่นานจนครบแก๊ง มีวิสามัญฆาตกรรมหัวหน้าแก๊งประวัติโหดด้วย

พอถามมุมมองถึงนักสืบรุ่นใหม่ อดีตผู้กำกับนักสืบมากประสบการณ์ชมว่า เก่งใช้ได้ แต่ขอฝากแนวคิดทิ้งท้ายไว้ว่า “นักสืบต้องขี้สงสัย จดบันทึกให้มาก ๆ อย่ามองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ มีสายข่าว ถ้านั่งในออฟฟิศก็มองไม่เห็น ต้องเดินดินกินข้าวแกง พยายามสร้างความคุ้นเคยหาแหล่งข่าว ตั้งแต่โชเฟอร์รถแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รถสามล้อ ผู้หญิงหากิน ต้องใช้ให้เขาเป็นประโยชน์ เพราะโจรมันเดินเดิน ไม่ใช่เที่ยวหาความสุข ผมก็เที่ยว แต่ก็มีข่าว โดยเฉพาะผู้หญิงหากิน ทำให้เขาไว้ใจ โจรมันแพ้ผู้หญิง มีอะไรเขาก็พูดหมด”

สำคัญที่สุด คือ เรื่องการติดสินใจครั้งสุดท้าย ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องเพียงพอ ไม่เช่นนั้นจะเสียหายต่อประชาชน สิทธิเสรีภาพต้องคำนึง

 “อย่าเอาไม่ผิดเข้าคุกหรือไปฆ่าเขา การตัดสินใจที่ถูกต้องจะช่วยให้ไม่เป็นไร ฆ่าใครก็ไม่บาป หลักฐานต้องแน่นหนาพอสมควรจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง ทำอะไรก็ไม่ผิดพลาดด้วย”

เป็นคำเตือนสติกินใจที่ฝากไว้แก่นักสืบรุ่นหลานของอดีตนายตำรวจนักสืบชั้นครูที่อาจกำลังถูกจะลืมไปจากวงการ

สมศักดิ์ แสนชื่น !!!

 

RELATED ARTICLES