สร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคม

 

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีบนสมรภูมิร้อนชายแดนด้ามขวาน

พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา หยิบเอาประสบการณ์ที่สะสมมาตั้งแต่ลงสนามจังหวัดชายแดนใต้ครั้งแรกนับตั้งแต่สถานการณ์ระอุเมื่อต้นปี 2547 เป็นกรณีศึกษาเพื่อจะคลี่คลายสงครามรบ “นอกตำรา” นำพาสันติสุขกลับมาอีกครั้ง

“สาเหตุปัญหาคือ อะไร ต้องแก้ที่ต้นเหตุ” เจ้าตัวมองภาพความจริงเหมือนที่ประสบความสำเร็จจาก “สตูลโมเดล” การผสมผสานความร่วมมือระหว่างชาวชุมชนกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามที่มีเขาเป็นหัวหอกสมัยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม ร่วมกับ ด.ต.สุทธินันทน์ อนันธบาล ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 6   กองบังคับการปราบปราม และการีม เก็บกาเม็น คอเต็บมัสยิดเราดอตุ้ลญันนะห์ ทุบกำแพงขวางกั้นทางความคิดอคติกับผู้รักษากฎหมาย

ดึงชาวบ้านหันมาสร้างความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อมีโอกาสคืนถิ่นคุมทัพตำรวจยะลา พล.ต.ต.ทินกรจัดแจงลงพื้นที่พบปะ พูดคุยกับประชาชนในจุดต่าง ๆ  ทำให้ได้รับรู้ปัญหา ข้อขัดข้อง ได้ข้อเสนอแนะดี ๆ และเบาะแสดี ๆ ทั้งในการป้องกันเหตุ  การแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะลามไปเป็นปัญหาใหญ่

ตามทฤษฎีหน้าต่างแตก “Broken Windows theory”

“การเห็นสภาพพื้นที่แสงสว่างน้อย มืด เปลี่ยว เป็นจุดเสี่ยง ต้องมีการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมปัญหาอาชญากรรมไปในตัว ประสานหน่วยเกี่ยวข้องมาช่วยกันดูแลชุมชน”  

หากประสบเหตุความผิดซึ่งหน้า พล.ต.ต.ทินกรยืนยันว่า จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมอาชญากรรม เอาตัวปัญหาออกไปจากชุมชน ควบคู่งานมวลชนสัมพันธ์ที่ต้องทำด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน

เขาส่งตำรวจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เป็นเสมือนเพื่อนบ้าน เป็นหุ้นส่วนของกันและกันในการป้องกันอาชญากรรม ตามแนวทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน “Community Policing”  แม้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่อาจจะไม่เหมือนกันก็พลิกผันไปตามแนวทางของชุมขนได้ไม่ยาก

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลามั่นใจว่า หลักแนวคิด 5 ทฤษฎี 1 หลักการ ที่เคยใช้กันมายังทันสมัยอยู่เสมอ

ประกอบด้วย ทฤษฎีบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforce-ment Approach) ทำหน้าที่จับผู้ร้าย ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์  (Police Community  Relations) ทำหน้าที่เป็นเพื่อนของชุมชน  ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing)  ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ  ทฤษฎีป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม (C.P.T.E.D.)  ทำหน้าที่เป็นนักวางแผนป้องกัน  ทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory)  ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจตราความเรียบร้อย

รวมทั้ง หลักการพัฒนาและแก้ปัญหาที่พลิกผันไปตามแนวทางของชุมชน (C.O.P.P.S) ทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์และแก้ปัญหา

อยู่ที่การนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

 “ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่มองผ่านเด็ดขาด

“ตำรวจคือ ประขาชน ประชาชนคือ ตำรวจ เราจะเป็นหุ้นส่วนของกันและกัน”

เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคม

RELATED ARTICLES