ตาบอดคลำช้าง

 

มีนายพลตำรวจนักสืบคนหนึ่งรำพึงรำพันบทสุภาษิตสอนใจ (ช้าง) ว่าด้วยเรื่อง “มโน elephant social”

ยกเอาสำนวนไทยคำว่า “ตาบอดคลำช้าง” ที่คนโบราณท่านใช้เปรียบเทียบถึงคนที่รู้ไม่จริง หรือรู้ก็รู้ไม่หมด รู้เพียงบางส่วน เมื่อรู้เพียงบางส่วนก็เข้าใจไปเองว่า ตนนั้นรู้แจ้ง รู้หมดทุกอย่าง

เปรียบได้กับคนตาบอดที่เอามือไปคลำช้าง

แน่นอนรู้ว่าเป็นช้าง แต่ไม่รู้ว่าช้างเต็มตัวนั้น มีลักษณะอย่างไร

ว่ากันว่า เคยมีคนทดลองนำคนตาบอดจำนวน 6 คน คนลูบคลำที่ส่วนขาของช้างก็บอกว่า ช้างหน้าตาเหมือนเสา อีกคนไปจับช้างเข้าที่ส่วนหางก็ทึกทักไปว่า ช้างหน้าตาเหมือนเชือก  คนจับโดนช้างที่งวงก็บอกช้างคล้ายเถาวัลย์ คนจับโดนหูก็บอกช้างเป็นใบพัด คนจับเข้าที่ท้องก็เถียงว่า ช้างเหมือนกำแพงต่างหาก

คนสุดท้ายจับเข้าที่งาจะบอกว่าช้างมันมีลักษณะเหมือนท่อสายยาง

“เมื่อผลทดลองออกมาเป็นอย่างนี้ คนที่ทดลองแจ้งพวกเขาว่า ต่างก็บรรยายลักษณะของช้างได้ถูกต้อง แต่ทุกคนบรรยายถูกแค่เพียงบางส่วนของช้าง ไม่ใช่ตัวของช้างทั้งหมด ช้างจริง ๆ ต้องประกอบด้วยทั้ง 6 คนคลำมา”

บทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้คือ การรับรู้อย่างจำกัด ทำให้ไม่สามารถได้คำตอบที่ถูกต้อง คนตาบอดไม่มีคนใดตอบผิดในมุมของตน ทว่าในภาพรวมไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ปัจจุบัน “นิทานตาบอดคลำช้าง” เริ่มเปลี่ยนไป

กล่าวคือ คนตาบอดบอกให้ “คนตาดี” ช่วยบอกลักษณะช้าง

“คนตาดี” แทนที่จะบรรยายรูปพรรณสัณฐานช้างที่ถูกต้องให้ตาบอดฟัง พร้อมทั้งจูงคนตาบอดคลำช้างทั้งหมด กลับพาคนตาบอดไปคลำช้างที่ขาเพียงอย่างเดียว

คนตาบอดท่านนั้นเข้าใจว่า ทั้งหมดของช้างลักษณะเหมือนเสา

คนตาบอดในที่นี้หมายถึงคนทั่ว ๆไปในสังคม ไม่มีความรู้พิเศษ หรือมีความชำนาญเฉพาะด้าน

คนตาดีในที่นี้หมายถึงคนที่มีความรู้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง หรืออาจเรียกว่า “กูรู” แต่ชอบให้ความคิดเห็นเหมือนรู้จริงทุกเรื่อง หรือเป็นคนประเภทชอบ “จับแพะชนแกะ” สร้างความเท็

คนประเภทนี้ในสังคมเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

เจ้าตัวยกตัวอย่างลองเปรียบเทียบกับข่าวการเสียชีวิตของดาราสาว แตงโม-ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศ ประชาชนทั่วไปช่วยกันทำหน้าที่นักสืบ นักวิเคราะห์ นักวิจารณ์ นักสื่อสารมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยกันคลี่คลายคดีให้ได้อย่างรวดเร็ว

อยากทวงความถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ผู้ตาย

แต่การรับรู้ที่ต่างคนต่างหามาได้ในมุมของตน ความถนัดของตัวเองโดยเฉพาะ ไม่สนใจมุมของคนอื่น แบบนี้มักจะได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน

คำตอบที่ออกมาไม่ถูกต้องครบถ้วน

“ประชาชนทั่วไปที่ทำแบบนี้ อย่างมากก็เป็นแค่คนตาบอดคลำช้าง เพราะทำโดยความบริสุทธิ์ใจ ถามว่า ผิดไหม ไม่ผิดเลย โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

กระนั้นก็ตาม มีกลุ่มผู้ฉวยโอกาสตั้งใจสร้างเรื่องราวอันเป็นเท็จทั้งหมด เท็จบ้างจริงบ้างผสมกันไปทำให้ดูน่าเชื่อถือ จับเรื่องโน้นมาชนเรื่องอย่างที่ตั้งใจเพื่อ “ใส่ร้าย” คนบางคน กลุ่มคนบางกลุ่มจะเพื่อความสนุก ความสะใจ ลดทอดความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ หรือจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่

สุดท้ายผลของมัน คือ สังคมมีความสับสนวุ่นวายอลหม่านในบ้านเมือง เกิดความคิดแตกแยกสามัคคี เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

คนบางคนถูกดูถูกดูหมิ่นชังได้รับกระทบทางด้านจิตใจถึงขั้นร้ายแรงจนเกินเยียวยา

ลองคิดดูว่า ถ้าว่าเรายอมที่จะปล่อยให้ประเทศเราตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เราอยากจะเป็นคนประเภทไหน

ตาบอดคลำช้าง

“ตาดี” แต่ “ใจบอด” หรือเป็นคน “ตาดี” แถมใจยังดี

ลองไปคิดเอาเองล่ะกัน

อย่างไรก็แล้วแต่ คนประเภท “ตาดี” แต่ “ใจบอด” สมควรต้องได้รับบทลงโทษตามกฎหมายต่อไป

RELATED ARTICLES