มีประเด็นที่มีการเผยแพร่ความเห็น เสียงสะท้อนของพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ที่นายตำรวจเกี่ยวข้องขอแจงความคับข้องใจมายาวเหยียดเช่นเดียวกัน
เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่ 1 การรับแจ้งความออนไลน์ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุดหรือไม่
ผู้รับผิดชอบอธิบายว่า ปัจจุบันรูปแบบการกระทำผิดคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง นับวันยิ่งทวีความรุนแรง สร้างความเสียหายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น การกระทำความผิดมีหลากหลายรูปแบบ หลายวิธีการ มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผู้กระทำความผิดมีทั้งกระทำคนเดียว และกระทำเป็นกลุ่มก้อน หรือองค์กรอาชญากรรม การกระทำความผิดเกิดขึ้นทั้งจากภายในประเทศและจาก ภายนอกประเทศ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ มีทุกเพศ ทุกวัย และแทบจะทุกอาชีพ มูลค่าความเสียหาย มีเป็นจำนวนมาก
นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้จัดการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการระบบรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์
- เพื่อสนองตอบต่อความรวดเร็วของสภาพปัญหาที่การหลอกลวงของ คนร้าย มีการกระทำที่รวดเร็วมากผ่านทางระบบออนไลน์ การสืบสวนสอบสวน และ การอายัดเงินในบัญชีคนร้าย ต้องกระทำให้รวดเร็วขึ้น/เช่นกัน
- เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการแจ้งความลดปัญหาความสับสนเรื่องท้องที่เกิดเหตุ อีกทั้งยังสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีผ่านระบบออนไลน์ได้
- ระบบสามารถประมวลผล วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของกลุ่มคนร้าย เพื่อช่วยทำให้การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น ปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้
เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น ผู้เสียหายเดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็เป็นหน้าที่ของ พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษอยู่แล้ว “ระบบรับแจ้งความออนไลน์มิใช่การเพิ่มภาระเพิ่มคดีให้มากขึ้น” แต่เป็นการบริหารจัดการเวลาเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อประชาชน และเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังต่อไปนี้
– ผู้เสียหายหรือกลุ่มผู้เสียหาย มีจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ และไม่ทราบว่า ควรจะไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีที่โรงพักหรือหน่วยใด ไม่ทราบว่า จะประสานงานผู้ใด ขาดช่องทางในการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี
-พนักงานสอบสวนไม่ยอมรับแจ้งความ อ้างเรื่องอำนาจการสอบสวน สถานที่เกิดเหตุ คดีไม่คืบหน้า
– ฝ่ายสืบสวน ไม่มีการประสานข้อมูลร่วมกันกับพนักงานสอบสวนสภาพปัญหาตั้งแต่ต้น ขาดการบูรณาการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลของคนร้ายระหว่างกันในแต่ละท้องที่ต่างโรงพัก กองบังคับการ หรือกองบัญชาการ
ขณะที่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อบริหารจัดการ ควบคุมกำกับดูแลการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในภาพรวม ไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน (ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งสวนราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) แต่ให้มีหน้าที่ในการสืบสวนป้องกันปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียหาย และช่วยเหลือพนักงานสอบสวนในเบื้องต้น
ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในการควบคุมระบบรับแจ้งความออนไลน์ ส่งเรื่องไปยังสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนผ่านทางระบบรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบและทำการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายตามท้องที่ที่เป็นที่เกิดเหตุ หรือตามที่ประชาชนประสงค์จะไปพบพนักงานสอบสวน ตามนัยคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 77/2565 ลง 28 กุมภาพันธ์ 2565
ส่วนการสืบสวนนั้น เบื้องต้นจะใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของโรงพักสืบสวนก่อนตั้งแต่เริ่มต้น แต่หากเกินขีดความสามารจะประสานขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของกองบังคับการ กองบัญชาการเข้ามาช่วยสืบสวนทางด้านเทคนิคและเครื่องมือพิเศษได้ และมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน พนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่บริหารการรับแจ้งและบริหารคดีไปแล้วทุกท้องที่ทั่วประเทศ
สำหรับผู้ทำหน้าที่บริหารการรับแจ้ง(Admin) ที่จะต้องเปิดดูระบบเป็นประจำทุกวัน ในแต่ละสถานีสามารถมีได้หลายคน ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานสอบสวนที่หัวหน้าสถานีพิจารณามอบหมายข้าราชการตำรวจที่เหมาะสม และสลับสับเปลี่ยน เฉลี่ยการทำงานกันได้ จึงไม่เป็นปัญหาในการปฏิบัติงาน
ประเด็นที่ 2 การจัดคิวให้กับผู้รับแจ้งความออนไลน์ เป็นการไม่เท่าเทียมแก่ผู้เสียหายในคดีอาญาอื่น ที่เดินทางมารอบนโรงพักหรือไม่
- กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องการไม่เท่าเทียมกัน แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการเวลา และอำนวยความสะดวกประชาชนไม่ให้เกิดความแออัดในการรอคิว เพราะระบบออนไลน์ หัวหน้าสถานีสามารถบริหารงาน ให้เฉลี่ยการทำงานและเลือกเวลานัดหมายผู้เสียหายล่วงหน้าได้ตามห้วงเวลาที่มีพนักงานสอบสวนพร้อมดำเนินการและผู้เสียหายสะดวก
- การเสนอข้อมูลคดีให้กับหัวหน้าสถานี เพื่อมอบหมายให้ผู้ใดเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนั้น ๆ ดูข้อมูล พิจารณา สั่งการในระบบ ไม่ต้องปริ้นเอกสาร
ประเด็นที่ 3 การรับแจ้งผ่านระบบ ย้อนแย้งและซ้ำซ้อนหรือไม่
- การรับแจ้งผ่านระบบ ไม่ย้อนแย้งและไม่ซ้ำซ้อน แต่เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบ วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของคดี ว่าหน่วยใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ และการสืบสวนก็ดำเนินการได้ทันที ตั้งแต่ได้รับข้อมูลจากผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin) ไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายมาพบพนักงานสอบสวน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยได้รับข้อมูลแล้วเจ้าหน้าที่ศูนย์จะโทรกลับก็จะเป็นประโยชน์ในการเห็น “เครือข่าย” โดยมีฝ่ายสืบสวนระดับกองบังคับการ กองบัญชาการ และกองบัญชาการตำรวจสืบสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยเหลือ
- เป็นประโยชน์ต่อพนักงานสอบสวนสามารถเตรียมตัว ตั้งประเด็น และวางแผนการสอบสวนได้ล่วงหน้า
- การอายัดบัญชีทำได้รวดเร็วขึ้น ผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin) ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสามารถอายัดบัญชีได้เบื้องต้น 3 ชั่วโมง และพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินชั่วคราว 15 วัน แล้วให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอายัดบัญชีต่อจะเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน
ประเด็นที่ 4 เหตุใดบางกรณีมีการส่งเคสไปโรงพักต่างๆ ที่ไม่ใช่ที่เกิดเหตุ
ในประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ ผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin) ได้โทรสอบถามประชาชนทุกเคส แล้วจะพิจารณาส่งต่อไปให้โรงพักที่มีอำนาจสอบสวน ท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ที่ประชาชนสะดวก ตั้งแต่ สถานที่ที่ผู้เสียหายถูกหลอกลวง สถานที่ที่ผู้เสียหายโอนเงินให้กับคนร้าย ที่ตั้งธนาคารของบัญชีผู้เสียหาย ที่ตั้งธนาคารของบัญชีคนร้าย
แต่มีบางเคสเป็นส่วนน้อย ที่ผู้เสียหายสะดวกไปแจ้งความแต่ไม่ใช่โรงพักท้องที่เกิดเหตุข้างต้น เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้ ประชาชน
ดังนั้นโรงพักที่ได้รับเรื่องดังกล่าวไปให้ดำเนินการรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ และดำเนินการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 177/64 ลง 9 เมษายน 2564 เรื่อง การรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษความผิดอาญานอกเขตอำนาจสอบสวน โดยลงระบบรับแจ้งความออนไลน์ให้กับผู้แจ้ง สอบสวนปากคำ รวบรวมหลักฐานเบื้องต้น ส่งให้โรงพักที่มีเขตอำนาจสอบสวนต่อไป โดยให้หารือผู้เสียหาย และผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin)
ประเด็นที่ 5 กรณีที่กังวลว่า เมื่อรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแล้วจะทำให้สถิติคดีในกลุ่ม 2เพิ่มขึ้นนั้น
ในกรณีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือ 0007.22/2850 ลง 22 กันยายน 2564 เรื่อง ปรับปรุงแบบรายงานสถิติคดีอาญา กำหนดความผิดฉ้อโกงที่กระทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นฐานความผิดกลุ่มที่ 3 แล้ว จึงไม่มีผลต่อตัวชี้วัดของคดีกลุ่ม 2 อีกต่อไป และปัจจุบันคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
พนักงานสอบสวนทุกคนต้องปรับตัว ถ้าโรงพักใด รับคำร้องทุกข์ไว้เยอะ จะถือว่าเป็นผลงานของผู้ปฏิบัติและหัวหน้าสถานีในการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา
ประเด็นที่ 6 กรณีเกี่ยวกับการรับคำร้องทุกข์
ให้ปฏิบัติดังนี้ คือ รับคำร้องทุกข์ตามระเบียบ(รับเลขคดีทุกคดี ) และสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ตามระยะเวลาที่กำหนด ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ลง 1 กรกฎาคม 2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา
ประเด็นที่ 7 การใช้วิดีโอคอล
ระบบกฎหมายไทยการจะใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ ในระหว่างนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการสอบสวนคดีออนไลน์ในทุกประเด็น รวมทั้งในประเด็นการสอบสวนปากคำผ่านวิดีโอคอล
อย่างก็ตาม การใช้วิดีโอคอลนั้น ในชั้นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังไม่ได้กำหนดไว้ให้มีอำนาจดำเนินการได้เหมือนดั่งเช่นการพิจารณาคดีในชั้นศาล มีมาตรา 230/1 บัญญัติให้อำนาจศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียง ในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
ประเด็นที่ 8 การปริ้นเอกสารซ้ำซ้อน
ในระบบรับแจ้งความออนไลน์ มีช่องให้ผู้เสียหายอัปโหลดหลักฐานต่าง ๆ ไว้แล้ว พนักงานสอบสวนสามารถปริ้นออกมาให้ผู้เสียหายรับรองได้เลยจะสะดวกกว่าให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีปริ้นแล้วส่งไปให้พนักงานสอบสวนพื้นที่
ประเด็นที่ 9 การยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินชั่วคราว หรือการอายัดเงินในบัญชีธนาคาร
ในประเด็นนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการแล้ว โดยได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับธนาคารรวม 21 แห่ง ในการอายัดเงิน และขอข้อมูลดังกล่าวด้วยความรวดเร็ว เพื่อช่วยเหลือพนักงานสอบสวน ดังนี้
- เมื่อผู้เสียหายแจ้งความเข้าในระบบออนไลน์แล้ว เจ้าหน้าที่ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะส่งข้อมูลเลขบัญชีของคนร้ายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินชั่วคราว 3 ชั่วโมง
- ในเวลาเดียวกัน พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ได้รับมอบหมายจะออกหมายไปยังธนาคารเจ้าของบัญชี เพื่อยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินชั่วคราวเป็นเวลา 15 วัน
- เมื่อพนักงานสอบสวนโรงพักรับเรื่องจากแอดมินแล้ว ให้ส่งหมายอายัดบัญชีไปยังธนาคารเจ้าของบัญชีโดยส่งหมายผ่าน Line : @pctsupport ก่อนครบกําหนด 15 วันที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอายัดไว้ชั่วคราว มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานธนาคารของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ประสานการปฏิบัติกับธนาคาร
ประเด็นที่ 10 ทำไมไม่มอบกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสอบสวนดำเนินคดีทั้งหมด แต่กลับมอบโรงพักพื้นที่สอบสวนดำเนินคดี
ในประเด็นนี้ผู้รับผิดชอบแจงว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานใหม่ มีพนักงานสอบสวนเพียง 197 นาย แต่คดีออนไลน์มีจำนวนมาก ต้องให้รับผิดชอบคดีที่มีโครงข่าย เครือข่าย มีความสลับซำซ้อน ผู้เสียหายและความเสียหายจำนวนมากเท่านั้น
ส่วนการดำเนินคดีที่ไม่สลับซับซ้อนจะเน้นให้โรงพักเป็นผู้รับผิดชอบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ไม่ต้องเดินทางไกล แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้บริหารแนวทางให้พนักงานสอบสวนไม่โดดเดี่ยว ให้กองบังคับการ กองบัญชาการสนับสนุนการสืบสวนและการสอบสวน ให้ฝ่ายสืบสวนของโรงพักเป็นผู้รับผิดชอบทำรายงานสืบสวนเพื่อสนับสนุนการสอบสวน
การสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายจะให้พนักงานสอบสวนทำเอกสาร สอบสวนเท่าที่จำเป็น ส่วนข้อมูลการสืบสวนเครือข่ายความเชื่อมโยง รวมถึงการจับกุมตัวคนร้ายให้ฝ่ายสืบสวนเป็นผู้ดำเนินการการจับกุมตัวคนร้ายไม่ได้ก็ไม่ได้เป็นความบกพร่องของพนักงานสอบสวน
ประเด็นที่ 11 กรณีกำลังพลพนักงานสอบสวนไม่เพียงพอ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมายให้ผู้บังคับการและผู้บัญชาการไปตรวจสอบสถานภาพกำลังพล พนักงานสอบสวนในสังกัด และให้สามารถปรับเกลี่ยกำลังพลให้เหมาะสมกับงานแล้ว
ยืนยันว่า ระบบรับแจ้งคดีออนไลน์ที่จัดทำขึ้นมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เข้าถึงตัวพนักงานสอบสวนได้สะดวกและง่ายขึ้น ผู้บังคับบัญชาระดับโรงพักสามารถเกลี่ยเวลาการรับแจ้งความ ไม่ให้เกิดความแออัดได้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยินดีที่จะรับฟังปัญหาจากผู้ปฏิบัติในทุกฝ่าย ทั้งพนักงานสอบสวน ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายบริหารการรับแจ้ง ฝ่ายบริหารคดี และผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วย
เนื่องจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ เป็นโครงการใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จัดขึ้นมา เพื่อสนองตอบต่อการแก้ปัญหาให้ประชาชน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะนำปัญหา และข้อเสนอแนะ ไปพัฒนา ปรับปรุง ระบบการรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตำรวจผู้ปฏิบัติและประชาชนต่อไป
ทิ้งท้ายสามารถแจ้งข้อมูล ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ถึง พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.09 9416 9198 จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ : [email protected] และ Line ID: oat3652