นายณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพิ่งเปิดตัวโครงการออกแบบและพัฒนาต้นแบบงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์
ผ่าน “เว็บไซต์ฉลาดโอนดอทคอม”
มี นายเทอดพงษ์ แดงสี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับ พ.ต.อ.นิภพล สุขนิยม ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 8 และ พ.ต.อ.ปราโมทย์ จันทร์บุญแก้ว ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 5 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล คิดค้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนสำหรับใช้ป้องกันภัยการฉ้อโกงออนไลน์
ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ด้วยเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ประชาชนธนาคารไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังธนาคาร หรือตู้โอนเงินสดอัตโนมัติเพื่อโอนเงินระหว่างบัญชีของบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง หรือชำระค่าบริการต่าง ๆ อีกต่อไป
ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการเหล่านั้นผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารที่ติดตั้งบนโทรศัพท์แบบสมาร์ตโฟนจากจุดใดและเวลาใดก็ได้
ทำให้ธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทยทุกประเภทในปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งกลายเป็น “ดาบสองคม” เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งาน กลายแฝงไปด้วยภัยคุกคามจากมิจฉาชีพ หรืออาชญากรที่อาศัย “ช่องโหว่”เข้ามาหาผลประโยชน์ด้วยกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์
พ.ต.อ.นิภพล สุขนิยม ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 8 ศึกษารายละเอียดของการที่ประชาชนถูกฉ้อโกงด้วยวิธีการต่างๆ พบสาเหตุว่า ขาดความรู้ในการตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่ได้ติตต่อเพื่อทำธุรกรรมออนไลน์
เขาเล็งเห็นว่า ต้องคิดพัฒนาหาวิธีการ หรือเครื่องมือสำหรับช่วยในการป้องกันการเกิดอาชญากรรมออนไลน์ ก่อนร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครใช้เวลาศึกษาและพัฒนาระบบมาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
เป็นที่มาของเว็บไซต์ “ฉลาดโอน เช็กก่อนเชื่อ” ออกมาให้ประชาชนใช้ตรวจสอบข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในทุก ๆครั้งที่จะทำธุรกรรมออนไลน์
เสมือน “ผู้กองฉลาด” คอยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกด้วยความสามารถหลัก 4 ช่องทาง ตั้งแต่ เช็กก่อนโอน แจ้งคนโกง ช่วยรวมหลักฐาน เช็กตัวตนผู้ขาย
เริ่มต้นเมนู “เช็กก่อนโอน” ที่จะให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลของผู้รับโอนก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมกับผู้รับโอนรายนั้น ข้อมูลการตรวจสอบของฉลาดโอนมาจากการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการแจ้งข้อมูลคนโกงจากประชาชนที่ต้องการแจ้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมของเรื่องร้องเรียนได้จากแหล่งที่มาของข้อมูลโดยตรง
ส่วนเมนู “แจ้งคนโกง” สำหรับให้ประชาชนแจ้งข้อมูลคนโกงกับฉลาดโอน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเตือนภัยสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ ฉลาดโอนจะมีการขอข้อมูลของผู้ให้ข้อมูล อาทิ ชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นจะเป็นการขอข้อมูลชื่อ นามสกุล ข้อมูลบัญชีธนาคารของคนโกง หลักฐานการโอนเงิน หลักฐานการสนทนาที่ได้มีการติดต่อกับคนโกงรายนั้น
หากประชาชนได้โดนโกงเรียบร้อยแล้วและต้องการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ “ผู้กองฉลาด”จะช่วย “รวบรวมหลักฐาน” ข้อมูลของผู้เสียหาย ข้อมูลคนโกง หลักฐานการโอนเงิน หลักฐานการสนทนา หรือหลักฐานอื่น ๆ เป็นไฟล์เอกสารPDF เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการนำไปเป็นเอกสารประกอบการแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ
อีกเมนูเป็น “เช็กตัวตนผู้ขาย” เปิดให้ผู้ขายสามารถเข้ามาลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับฉลาดโอน แค่การยืนยันตัวตน เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการทำธุรกรรมออนไลน์สามารถเข้าตรวจสอบตัวตนของผู้ขายกับฉลาดโอนได้โดยการนำชื่อ นามสกุล เลขบัญชีของผู้ขายเข้ามาตรวจสอบ จากนั้นจะได้รับผลลัพธ์ว่า ผู้ขายรายนั้นมีการยืนยันตัวตนกับฉลาดโอนไว้หรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมกับผู้ขาย
นอกจากช่องทางเว็บไซต์ ฉลาดโอนดอทคอม ยังมีช่องทางการติดต่อให้ความช่วยเหลือประชาชนทาง Line Official Accout ชื่อ ฉลาดโอน.com หรือไอดีไลน์ @chaladohn
ตั้งแต่มีการเปิดให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงปัจจุบัน ได้มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาตรวจสอบบัญชีผู้ขายมากกว่า 110,000 ครั้ง และมีประชาชนมากกว่า 5,000 คนเข้ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตนจริง
ฉลาดโอนขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคม ร่วมสร้างสังคมออนไลน์ปลอดภัย และลดจำนวนผู้เสียหาย
ต้องไม่ให้มีใครตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์อีกต่อไป