เมื่อโจรอยู่เหนือตำรวจ

 

โลกยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นอันดับต้น

สิทธิส่วนบุคคลที่ประชาชนคนธรรมดาเท่าเทียมกับโจรผู้ร้ายมากมาย “สารพัดพิษ” กับคำยอดฮิต

“เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินยังถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์”

ทำให้ตำรวจหลายหน่วยหยุดชะงัก เก้ ๆ กัง ๆ ไม่ค่อยกล้าเอาผู้ต้องหามาแถลงข่าว แม้อยากโชว์ผลงานชิ้นโบแดงแสดงศักยภาพความสามารถพิชิตแฟ้มของตัวเอง

กลายเป็นต้องโชว์ภาพ “ผู้เป็นนาย” ยืนถือไมค์ให้ไฟกล้องสาดส่องขึ้นหน้าขึ้นตาแทน

บรรดาผู้ต้องหาหลายคดีโดน “เก็บตัว” บางส่วนแม้มีภาพการจับกุม ต้อง เบลอหน้า คาดตา ไม่ให้รู้ว่าเป็นใคร บอกชื่อเสียงเรียงนาม แต่ขออนุญาต “สงวนนามสกุล”

เหตุที่ต้องปกปิด เพราะกังวลเรื่องสิทธิส่วนบุคคล สิทธิและเสรีภาพของประชาชน

สิทธิที่อยู่เหนือผู้รักษากฎหมาย

ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อหมดโอกาสรู้ได้ว่า โจรผู้ร้ายที่อยู่ใกล้ตัว ใกล้ครอบครัว ใกล้บ้านพัก เป็นใคร หน้าตาอย่างไร ก่อคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงเพียงใด

สิทธินี้ยังคงอยู่ เพราะกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกคนต้องเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ

พวก “โจรหัวหมอ ทนายสายดาร์ก” มักเอามาเป็นข้ออ้าง “ขู่ฟอด” ฟ้องดะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

สิทธิและเสรีภาพของประชาชน

เท่านี้ก็ทำเหล่าผู้พิทักษ์บางส่วน ขี้ขึ้นสมอง ผู้เป็นนายบางคน “ปอด” มองสิทธิของผู้ต้องหามีค่ามากกว่าผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อกระทำการรุนแรงในหลายคดี

ดังนั้น มือปืนรับจ้าง คนร้ายลักวิ่งชิงปล้น ฆ่า ข่มขืน หลอกลวง ฉ้อฉล ค้ายาเสพติด เตรียมท่องคำฮิตไว้ได้เลยว่า

 “เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินยังถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์”

กระนั้นใช่ว่า ตำรวจทำงานลำบาก แค่ยากจะเอามาเปิดแถลงข่าวเหมือนยุคก่อน เวลาทำแผนประกอบคำรับสารภาพแค่ต้องใส่โม่งคลุมหัว สวมหมวกกันน็อกคลุมใบหน้า

ทุกอย่างปฏิบัติตามขั้นตอนเหมือนเดิม ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาว เพราะ “นายสั่งมา” กับสังคมที่คอยจับตาอยู่

ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือส่งร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความอาญา (ฉบับที่ …) พุทธศักราช ….,มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาความเห็นตามประเด็นการรับฟังความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

สาระสำคัญอยู่ มาตรา 78  พนักงานฝ่ายปกครองระดับชำนาญการขึ้นไป หรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจเอกขึ้นไปที่สำเร็จการศึกษาระดับนิติศาสตรบัณฑิตที่เนติยสภารับรอง หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับ หรือหมายจับของศาลไม่ได้

เว้นแต่ เป็นความผิดซึ่งหน้า หรือพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า ผู้นั้นจะก่อเหตุร้าย ภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ หรืออาวุธ หรือวัตถุอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด เป็นต้น

เหตุผลความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติตัวนี้ คณะร่างกฎหมายอ้างว่า ปัจจุบันประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจสามารถจับกุมบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ และพบว่า มีกรณีกระทำความผิดซึ่งหน้าตามกฎหมายต่าง ๆ จำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มิให้มีการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้การจับกุมนั้น กระทำโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้มีความรู้ในกฎหมาย มีวัยวุฒิและวุฒิภาวะที่เหมาะสม

สมควรกำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองระดับชำนาญการขึ้นไป หรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจเอกขึ้นไปที่สำเร็จการศึกษาระดับนิติศาสตรบัณฑิตที่เนติยสภารับรอง หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการจับกุมบุคคลที่กระทำผิดซึ่งหน้าได้

โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ตรงนี้เองทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่า การจะจับผู้ต้องหาที่มีหมายจับ หรือคำสั่งของศาลต่อไป ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถระดับชำนาญการขึ้นไป หรือ ร.ต.อ.ขึ้นไป จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ที่เนติยบัณฑิตสภารับรอง หรือจบปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เท่ากับว่า พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ต่ำกว่านี้ถึงจะมีหมายจับ หรือคำสั่งศาลก็ไม่มีอำนาจจับแม้กระทั่งเป็นเหตุความผิดซึ่งหน้าอย่างนั้นหรือ

พวกเขามองกันว่า ตำรวจในอนาคตคงจะกลายเป็นแค่ยาม เพราะร้อยเวร 20 ทำหน้าที่สายตรวจส่วนใหญ่ยศไม่ถึง ร.ต.อ.ออกตรวจกับลูกชุด แถมไม่มีดีกรีปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไปจับใครไม่ได้ แม้เป็นเหตุซึ่งหน้า

ชาวบ้านเตรียมรับชะตากรรมในวันที่สถานการณ์เปลี่ยนเป็น “โจรอยู่เหนือตำรวจ”

 

 

RELATED ARTICLES