“การสืบสวนสอบสวนทุกเคส ต้องตอบคำถามผมได้ด้วย”

ลิกตำราชันสูตรศพช่วยวิเคราะห์ข้อมูลนำไปสู่ปมไขคดีจนปิดแฟ้มฆาตกรรมไว้มากมาย

พล...เลี้ยง หุยประเสริฐ อดีตผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา ก่อนก้าวขึ้นนั่งตำแหน่งแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ กระทั่งเกษียณอายุราชการ แต่ได้ทิ้งตำนานร่วมทำงานการสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญประดับองค์กรสีกากีเป็นที่กล่าวขานมาจวบจนปัจจุบัน

เขาเป็นชาวตลาดพลู เกิดในดงลูกหลานคนจีน ท่ามกลางนักเลงหัวไม้ ทว่าตัวเองมีความใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ พอจบมัธยม 6 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ หันไปต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในสมัยนั้น ก่อนปรับเป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินตามความฝันสำเร็จ

เลือกเรียนสูตินรีเวช ทำไปทำมาชอบงานพยาธิ ตรวจหาเชื้อมะเร็ง เป็นเหตุผลให้ไปศึกษาต่อประเทศอังกฤษนาน 2 ปี บินกลับมาไม่มีตำแหน่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  พอดีโรงพยาบาลตำรวจเปิดรับสูตินรีเวชจึงเบนเข็มมาเป็นแพทย์ตำรวจบรรจุตำแหน่งนายแพทย์โท ติศยศ ร.ต.อ. และยังคงไปรับงานตรวจพยาธิตอนบ่าย หลังช่วงเช้าสูตินรีเวช

ทำงานได้ 5 ปี พล.ต.ท.เลี้ยงเล่าว่า งานพยาธิเริ่มมากขึ้นเลยขอย้ายไปทำงานด้านพยาธิเต็มตัว อยู่ชั้น 2   ของอาคารสถาบันนิติเวชวิทยา จังหวะนั้นได้เจอกับหมอทัศนะ สุวรรณจุฑะ ที่ย้ายมาจากสถาบันนิติเวช ทำงานด้วยกัน คุยกันถูกคอ พอหมอทัศนะโยกกลับไปเป็นหัวหน้างานนิติเวช ได้ชวนลงไปช่วยอ่านสไลด์ภาพศพ สุดท้ายเส้นทางรับราชการก็พลิกผันจากจุดเริ่มต้นเป็นหมอสูตินรีเวชทำคลอดเด็กไปเป็นหมอผ่าศพ เพราะเห็นว่า หมอเชี่ยวชาญเรื่องพยาธิไม่ค่อยมี

พล.ต.ท.เลี้ยงยอมรับว่า ไม่เคยชอบงานนิติเวชวิทยา เพราะเจอแต่ศพเน่า กลิ่นเหม็น แตกต่างจากงานพยาธิที่ผ่าพิสูจน์ศพเหมือน แต่เป็นศพที่มารับการรักษาแล้วเสียชีวิต ต้องผ่าหาสาเหตุที่แท้จริงว่า ตายเพราะเหตุอะไร เป็นสภาพศพที่ดูแลอย่างดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา “พอมาดูแลงานที่นิติเวช มันก็รู้สึกเหม็นนะ แต่เอาเข้าใจก็แป๊บเดียว ไม่นาน แปลกมาก จมูกคนเราแค่ 3 เดือนก็คุ้นกลิ่นแล้ว เวลาผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายเป็นอะไรตาย เจอศพเน่าก็ลืมความเหม็นไป เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์คดีหลายคดีจากศพ”

“มีโอกาสเรียนรู้งานนิติเวชมาตั้งแต่อยู่งานพยาธิ หมอทัศนะมักจะพาไปที่เกิดเหตุ เจอพนักงานสอบสวน เจอฝ่ายสืบสวน ทำให้คุ้นเคย มีหลายครั้งที่ต้องให้ความเห็น แต่เป็นความเห็นจากหมอนิติเวชที่เกี่ยวข้องในหลายแง่ หลายมุมจากสภาพศพ เราไม่รู้จริงหรอกว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร เราเป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูล แต่ไม่ได้ไปชี้นำ ฟันธงว่า ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

อดีตผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยามองว่า การที่ผ่าชันสูตรพลิกศพต้องให้ข้อมูลประกอบแนวทางการสืบสวนสอบสวน แค่ความน่าจะเป็น ตอนหลังมีผู้เชี่ยวชาญบางคนติดนิสัยจากใครไม่รู้ชอบฟันธง ทำให้ต้องมานั่งแก้กันว่า ไม่ใช่ นิติเวชต้องบอกแค่ว่า เป็นได้ทั้ง ก ข ค ง ตำรวจจะได้สืบสวนสอบสวนได้ถูก ไม่ใช่ไปบอกว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ แล้วกลายเป็นว่า พอสืบมาแล้ว ไม่ใช่ ยิ่งทำให้วุ่นวาย ไปขัดแย้งกันกับพนักงานสอบสวน ทำคดียุ่งเหยิง

อาจารย์หมอคนดังบอกว่า ต้องพูดคุยกับฝ่ายสืบสวนสอบสวนว่า หากอย่างนี้เป็นไปได้หรือไม่ นอกสำนวนไว้ก่อน ไม่ใช่ใส่เข้าไปในสำนวน ถ้าสืบสวนสอบสวนมาได้ดีแล้ว เอาข้อมูลจากเราไปเข้ากันได้แบบนี้จะดีกว่า หากเข้ากันไม่ได้ต้องบอกว่า อาจเป็นอีกอย่างหนึ่งได้หรือไม่ ลงไปสืบสวนดู ไม่ใช่ยืนยันข้อมูลนิติเวชถูกต้องเสมอ

หลายต่อหลายคดี พล.ต.ท.เลี้ยง หุยประเสริฐ ลงมือผ่าชันสูตรพลิกศพและวิเคราะห์สาเหตุการตายร่วมไขเงื่อนงำของคดี อีกบางส่วนเป็นคณะทำงานร่วมกันทำหน้าที่ อาทิ คดีฆาตกรรมแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ คดีดังเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เจ้าตัวว่า ความจริงหมอนิติเวชไม่ได้ฟันธง ให้ข้อมูลแค่อาจจะเป็นอุบัติเหตุได้เช่นกัน เป็นความรู้ของนิติเวชตำรวจที่ช่วยการสืบสวนจากสภาพบาดแผลที่พบ ถึงขนาดลากเอารถเบนซ์คันเกิดเหตุไปตรวจอย่างละเอียด ระบุความน่าจะเป็น แต่สื่อตีความไปเองทำให้นิติเวชตำรวจเสียหาย ถือเป็นบทเรียนสำคัญราคาแพงของหน่วย

เขายังเล่าว่า มักไปเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญเกือบทุกเรื่องในสมัยก่อน ทำให้เราได้เรียนรู้ไปในตัว เคสที่ว่าต้องวิเคาะห์ส่วนใหญ่เป็นคดีฆาตกรรมอำพราง วุ่นวายมากยุคหนึ่ง คือเคสของเสริม สาครราษฎร์ ชำแหละศพเจนจิรา พลอยองุ่นศรี เพราะต้องตรวจพิสูจน์ชิ้นเนื้อ หลังจากผู้ต้องหาให้ปากคำและทำแผนประทุษกรรมไปหมดแล้ว อ้างบีบคอเหยื่อตาย หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าวระบุชัด ก่อนชำแหละศพ ตัดศีรษะไปทิ้งที่นั่นที่นี่ แต่ยังหามาพิสูจน์ไม่ได้

“ทีนี้เราได้กะโหลกนิรนามมา 2 ราย มองไม่ออกเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย จากท้องที่แสนภูดาษ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่มีประวัติ ไม่มีอะไรเลย เก็บเอาไว้พักหนึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ สมัยนั้นการตรวจดีเอ็นเอยังไม่พัฒนา ปรากฏว่า พิสูจน์ทราบกะโหลกแรกเป็นผู้ชายก็ตัดไป เหลืออีกกะโหลกเป็นผู้หญิง คิดว่า ลูกน้องทำภาพเชิงซ้อนเปรียบเทียบกับเจนจิราแล้ว  รู้อีกว่า ยังไม่ได้ทำ ที่นี่วุ่นเลย” พล.ต.ท.เลี้ยงว่า

นายพลแพทย์นิติเวชรุ่นเก่าเล่าต่อว่า พนักงานสอบสอบสวนเร่งผลพิสูจน์กะโหลกนิรนามรายนี้ว่าใช่เจนจิราหรือไม่ มีเวลาภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งที่กะโหลกอยู่นิติเวชตั้งนาน ไม่ได้ตรวจ ไม่อย่างนั้นเสียหาย ถึงต้องตรวจเองให้ได้ว่า ตกลงใช่ หรือไม่ใช่ วิธีการเดียวต้องตรวจฟัน รีบประสานตำรวจท้องที่ไปหาประวัติการทำฟันของเจนจิรานั่งทำกันตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็นกว่าจะหาประวัติคลินิกที่เจนจิราไปทำฟันเกือบแย่ เพราะต้องสุ่มหลายแห่ง

“ผมสนุกนะ ได้เป็นประสบการณ์ ตอนแรกมองเจนจิราเป็นนักเรียนแพทย์ที่รามา คิดว่า ต้องทำที่รามา มีทะเบียนที่จะมาทำฟัน ก็แต่กลับยังไม่ได้ทำ ผมสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไร กะโหลกรายนี้ทำฟันตั้งเยอะ มีอุดฟัน ฟันล่าง ฟันบน เพิ่งนึกได้ว่า เจนจิราเพิ่งเข้าเรียนอาจยังไม่ได้ทำที่นี่ แล้วต้องทำทีไหนล่ะ ก็ต้องที่คลินิกใกล้บ้าน พนักงานสอบสวนดีมากมาช่วยด้วย ประสานข้อมูลจนได้ประวัติมาเปรียบเทียบ ประมาณ 5 โมงเย็นพิสูจน์ชัดว่าใจ”

ทว่ากลับมีปัญหาให้ขบอีก พล.ต.ท.เลี้ยงบอกถึงผลการตรวจกะโหลกเจนจิรามีรอยกระสุนปืน ไม่ตรงกับคำให้การรับสารภาพของเสริม สาครราษฎร์ที่ออกตามสื่อไปหมดแล้ว หากนิติเวชจะแถลงผลเกรงจะขัดกับพนักงานสอบสวนอีก ได้โทรศัพท์หารือกับฝ่ายสืบสวนสอบสวนเพื่อหาทางออก เพราะเรายืนยันว่า เจนจิราถูกยิงแน่นอน สรุปคือให้ไปสอบปากคำใหม่ในคุก เสริมถึงกลับลำว่า ไม่ได้บีบคอแฟนสาว แต่ยิงตาย ทุกอย่างเลยออกมาสวย

ทำงานอยู่กับศพมาตั้งแต่ปี 2533 กว่าจะก้าวเป็นผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยาเมื่อปี 2549 ปีเดียวขึ้นเป็นรองแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ อีกปีเป็นแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ เจ้าตัวย้ำว่า สนุกมากสุดกับการทำงานนิติเวชวิทยา สมัยนั้นปรีชา ธิมามนตรี จะชวนไปช่วยดูเคสสำคัญหลายคดี ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ได้ดูที่เกิดเหตุ เสนอความเห็นกันไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนและฝ่ายสืบสวนต้องนำมาประกอบด้วย

เขายกตัวอย่างเคสหนึ่งมาจากสุพรรณบุรี แม่ไม่เชื่อว่า ลูกชายจมน้ำตาย เพราะหายไปในวันลอยกระทงนาน 2-3 วันเจอเป็นศพลอยน้ำ ส่งมาให้สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจผ่าชันสูตรไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย พล.ต.ท.เลี้ยงบอกว่า ต้องอธิบายให้แม่ผู้ตายฟังในฐานะผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับความเข้าใจ เนื่องจากบางทีผู้เสียหายคิดไปเอง จำเป็นต้องแนะนำไปตามหลักวิชาการ เหมือนหลายคดีชวนสงสัยเป็นฆาตกรรมอำพราง เราต้องตรวจพิสูจน์ความจริงให้กระจ่าง ทำคดีให้จัดเจนขึ้น ไม่ให้เกิดความผิดพลาดจับแพะขึ้นได้

“ผมจะเตือนตำรวจเสมอว่า อย่าไปซ้อม อย่าไปช็อตไฟฟ้า หรือทำอะไรผู้ต้องหา มันมีหลักฐาน มีร่องรายไว้หมด แพทย์ตรงได้หมด แล้วถ้าแพทย์ตรวจได้ต้องลงในบรรทุก ไม่มีทางรอด เจอแน่นอน อย่าไปทำอย่างนั้นเด็ดขาด แล้วถ้าเราตรวจเจอ เราก็จะรายงานตามความจริง บางคดีตำรวจจับผู้ต้องหานั่งแท็กซี่มาถึงโรงพัก ผู้ร้ายถูกยิงตาย อ้างว่า มันแย่งปืนตำรวจสู้ ก็โอเค มีเหตุผลความเป็นไปได้ แต่ประเด็น คือ ทำไมมันไม่มีเขม่าปืน นี่คือ ตัวอย่าง คุณต้องมีข้ออธิบายได้ว่า มันเกิดอะไรขึ้น” อดีตแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจให้ข้อคิด

“การตามสืบคดีจากศพ มันทำให้ผมรู้สึกสนุกไปด้วย ปัจจุบันยังมองคดีมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้น เพราะคนร้ายระวังมากขึ้น แต่ทุกคดีก็จะมีช่องว่าง จุดอ่อน ให้เราเห็น ถ้าใช้ความละเอียดในการดำเนินการ  เหมือนพูดกันอยู่เรื่อย เป็นทฤษฎีว่า ไม่มีอาชญากรรมที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีอะไรเป็นร่องรอยไว้อยู่แล้ว แต่มันอาจจะค้นหายากหน่อย ถ้าคนร้ายระมัดระวังดี คนทำมีความรู้ แต่ถ้าจะทำได้สมบูรณ์ก็ไม่ได้หมดหรอก ต้องมีอะไรที่เว้าแหว่งบ้าง”

พล.ต.ท.เลี้ยงยังย้อนถึงแฟ้มคดีการตายของห้างทอง ธรรมวัฒนะ ที่ค้างคาใจสังคมว่า ได้เป็นคณะกรรมการผ่านชันสูตรพลิกศพ นั่งฟังการรายงานสืบสวนสอบสวนทุกฝัน อาจดูค้านกับสังคม เพราะมีคนให้ข่าวไม่ตรงกับความจริง ถ้าสมัยนี้เรียกกันว่า มโนโซเชียล เชื่อกันว่า ห้างทองไม่น่าฆ่าตัวตาย เราอยู่ในคณะกรรมการได้ข้อมูลทุกอย่างที่ไม่ได้แค่ตอบคำถามสังคม  แต่ต้องตอบคำถามเราได้ด้วย ครั้งนั้น แพทย์นิติเวชไม่สามารถลงความเห็นได้ว่า เป็นการฆ่าตัวตาย ต้องเป็นไปตามการสืบสวนสอบสวน

“ถ้าถามว่าเป็นการฆ่าตัวตายได้ไหม เราตอบว่า ได้  แต่ผมไม่ได้ตอบว่า เป็นการฆ่าตัวตาย แต่เป็นไปได้ แล้วยิ่งฟังจากการสืบสวนสอบสวนยิ่งเป็นไปได้ ตอบคำถามได้หมดด้วย คือ การสืบสวนสอบสวนทุกเคส ต้องตอบคำถามผมได้ด้วย เหมือนเราสกรีนอีกที ไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่ต้องตอบคำถามได้  ต้องเป็นอย่างนั้นจริง ๆ  เพราะเราไม่รู้ว่าเวลาที่เกิดเหตุจริง ๆ มันเป็นยังไง บางทีมันพิสดารได้ตั้งเยอะแยะ เราไม่ได้มีซีซีทีวีในทุกราย เราทำได้แค่เท่าที่ตรวจพบจากศพเท่านั้น สิ่งนี้คือ สิ่งที่เราพบในศพ”

ตำนานหมอนิติเวชตำรวจสารภาพว่า มีหลายเคสเราไม่รู้ต้องบอกไม่ตามความจริง อาจยังเป็นปริศนา เพราะเรายังหาไม่เจอ ทำให้ตอบไม่ได้ เหมือนนิติเวชในต่างประเทศระบุต้องฆาตกรรมแน่นอน ตำรวจบอกหาหลักฐานพิสูจน์ไม่เจอ กลายเป็นไฟล์ที่เข้าแฟ้มจับตัวคนร้ายไม่ได้ ถึงกระนั้น แพทย์นิติเวชไม่ควรชี้นำคดี เป็นได้เพียงแสดงความเห็นประกอบการสืบสวนสอบสวนดีที่สุด เพื่อไม่ได้เกิดความขัดแย้งภายหลัง

เลี้ยง หุยประเสริฐ !!!    

 

RELATED ARTICLES