ไอ้โม่งที่อยู่หลังม่าน

 

“ถ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ผมคงติดคุกเกิน 1,000 ปีแล้ว” พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นร้อนอีกรอบ

เจ้าตัวบอกว่า จากการที่เป็นพนักงานสอบสวนมาตลอดชีวิตรับราชการ ถ้าการตรวจพิสูจน์ หรือตรวจเปรียบเทียบของกลาง หรือสิ่งของที่เป็นพยานหลักฐานในทางคดีจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของทรัพย์ สิ่งของที่เป็นของกลางนั้นก่อน หากไม่แล้วจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จริง

“กระผมคงติดคุกมาเกินกว่า 1,000 ปีแล้ว” เขาย้ำ

การยึดหรืออายัด รถคันของกลาง ไม่ว่าจะเป็นคดีรถชน หรือกรณีรถผิดกฎหมายในกรณีอื่นก็ดี การยึดอายัดศพไว้ตรวจ ตรวจพิสูจน์หรือตรวจเปรียบเทียบก็ดี การส่งรถ และศพที่ยึดอายัดไว้ไปตรวจพิสูจน์ หรือตรวจเปรียบเทียบก็ดี เป็นหน้าที่และอำนาจของพนักงานสอบสวนโดยตรงตามกฎหมาย (ขีดเส้นใต้คำว่าตามกฎหมาย) ที่ให้ขีดเส้นใต้ก็เพราะว่าถ้าเถียงกันโดยใช้ความรู้สึกยังไงก็ไม่จบ ไม่ได้ข้อยุติ แต่ถ้ายกข้อกฎหมายมาอธิบายมันถึงจะจบ

อันที่จริงเรื่องนี้กระผมเพิ่งจะเขียนบทความกรณีผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เข้าทำการตรวจห้องที่เกิดเหตุ โดยที่ทนายฝ่ายผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้ผู้เสียหายเข้าไปร่วมตรวจ จนเกิดมีปัญหาบานปลาย โดยได้หยิบยกเอาหน้าที่และอำนาจของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132 (1) มาอธิบายความไว้แล้ว

ครั้งนี้ก็เช่นกัน มาตราดังกล่าว มีบทบัญญัติไว้ว่า มาตรา 132 “เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจ ดังต่อไปนี้ (1) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม หรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือที่ทางอันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้รวมทั้งทำภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาดจำลอง หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น” การตรวจสิ่งของ(ศพเป็นสิ่งของ) อันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนโดยตรง

แปลว่าไม่ต้องไปขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของทรัพย์สิ่งของ(ศพ) นั้นก่อนแต่อย่างใด

พนักงานสอบสวนจะตรวจพิสูจน์หรือตรวจเปรียบเทียบด้วยตนเอง หรือขอให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีความรู้เชี่ยวชาญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 243 เป็นผู้ตรวจพิสูจน์หรือตรวจเปรียบเทียบก็ย่อมกระทำได้

ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนมีหนังสือขอให้สถาบันนิติเวชวิทยาทำการตรวจเปรียบเทียบแผลของศพดาราสาว แตงโม นิดา กับ “ใบพัดเรือ” จึงเป็นการใช้อำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าว ทำให้ไม่เป็นความผิดฐาน “ลักทรัพย์” หรือที่ออกมาพูดดังๆ ว่า “มีการขโมยศพ” จะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามข่าวอย่างลึกซึ้ง ได้ฟังบางช่วงบางตอนแล้วจะเกิดความเข้าใจผิด

กลายเป็นว่าพนักงานสอบสวน แพทย์ผู้ตรวจพิสูจน์ของสถาบันนิติเวชวิทยา กระทำการอันผิดกฎหมายที่รุนแรง ทั้ง ๆที่เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจโดยชอบและสุจริต

เรื่องนี้แม้ว่าผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ จะออกมาชี้แจงไปบ้างแล้วและในหลายๆ เวทีมีการพูดถึงเรื่องนี้กัน แต่ยังไม่เห็นมีการยกข้อกฎหมายมาชี้ให้เห็น

การบ้านที่จะฝากไปยังผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา คลิปบันทึกภาพและเสียงการตรวจเปรียบเทียบ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการและน่าจะเป็น “ความลับ” เพราะเป็นเรื่องของพยานหลักฐานในคดี หลุดรอดออกมาได้อย่างไร ???

เป็นประเด็นที่ท่านผู้บังคับการจะต้องตั้งคณะกรรมการมาทำการสืบสวนเรื่องนี้ให้เป็นที่ประจักษ์

พูดตรงๆ ว่า หาตัว “ไอ้โม่งที่อยู่หลังม่าน”ออกมาให้ได้

คงเขียนสั้น ๆเพียงเท่านี้ และในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 วลา 09.00 – 12.00 น. กระผมจะบรรยายเรื่องนี้ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจกลาง(ศาลายา) ในหลักสูตรสืบสวนคดีอาญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากท่านใดประสงค์จะฟังโดยละเอียดเรียนเชิญครับ

กระผมในฐานะวิทยากรจะจัดที่นั่งสำรองให้ครับ

 

 

RELATED ARTICLES