ตำรวจแฉเล่ห์กลแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับมอบนโยบายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

ล่าสุดพบปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์พยายามพัฒนารูปแบบการหลอกลวงพร้อมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาหลอกลวงประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยประชาชน ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบถึงกลโกงและวิธีการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ จากการตรวจสอบพบว่าแผนประทุษกรรมในการหลอกลวงของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวมีดังนี้

1. อ้างว่ามีพัสดุจากบริษัทขนส่งพัสดุข้ามประเทศ เช่น DHL หรือ FedEx และถูกด่านของกรมศุลกากรอายัดไว้และมีสิ่งของผิดกฎหมาย จากนั้นจะให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ(ปลอม) เพื่อทำการตรวจสอบบัญชีหรือให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

2. อ้างเป็นข้าราชการ เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน กรมสรรพากร หรือกรมสรรพสามิต เป็นต้น จากนั้นจะอ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ยาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือ ฟอกเงิน และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

3. อ้างว่าผู้เสียหายค้างค่าปรับจราจร หลอกให้โอนเงินค่าปรับจราจร หรือให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ
4. อ้างว่าผู้เสียหายค้างชำระค่าบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก หากไม่รีบชำระจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อหลอกให้โอนเงินชำระค่าบัตรเครดิตให้กับคนร้ายทันที
5. อ้างว่าผู้เสียหายเปิดบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า) ให้คนร้ายใช้ในการกระทำความผิด และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

6. อ้างว่าผู้เสียหายมีการเคลมประกันโควิด 19 เป็นเท็จและมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

7. อ้างเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หลอกลวงหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ ค้างค่าชำระ หรือมีผู้ร้องเรียนเป็นจำนวนมาก จะถูกปิดเบอร์ภายใน 2 ชั่วโมง อีกทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมจากนั้นจะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมและให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

8. อ้างเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือหน่วยงานทางการแพทย์ หลอกขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย หรือหลอกให้โอนเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนร้าย

ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่คนร้ายมักจะนำมาใช้ในการสร้างความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงประชาชนมีดังต่อไปนี้

1. การใช้เสียงตอบรับอัตโนมัติ ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นคอลเซ็นเตอร์จริง ๆ ไม่ใช่แก๊งมิจฉาชีพ

2. การส่งภาพของหนังสือราชการ หมายเรียก หมายจับ หรือเอกสารอ้างต่าง ๆ ที่ปลอมขึ้น ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ

3. การส่งภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือภาพของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง
4. การตัดต่อคลิปเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการใช้เทคโนโลยี Deepfake ในการปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อวีดิโอคอลกับเหยื่อ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

5. การสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอม เป็นแพลตฟอร์มในการหลอกลวง เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนไปยังประชาชนขอให้ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันกลโกงของคนร้าย และอย่าหลงเชื่อ อย่าคุยต่อ และอย่าโอนเงินให้กับ กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ที่ติดต่อมาทางโทรศัพท์ หรือข้อความผ่านแอปพลิเคชันแชทต่าง ๆ เด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชน พบเห็นหมายเลขโทรศัพท์ใดที่มีพฤติกรรมดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทร และ SMS มิจฉาชีพ 1185 (AIS), 9777 (TRUE), 1678 (DTAC) และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

RELATED ARTICLES