ย่องไปเยี่ยมชมการแข่งขันหน่วยปฏิบัติการพิเศษระดับกองบัญชาการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ SWAT Challenge 2022 ที่ค่ายนเรศวร กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โชว์ทักษะเล็งยิงสไนเปอร์ 3 นัดแม่นยำเข้าเป้าไม่มีพลาดสักเม็ด
การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นตามแนวคิดของ “แม่ทัพสีกากี”เพื่อพัฒนาและดำรงขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติการพิเศษในการคลี่คลายสถานการณ์อาชญากรรมที่มีความรุนแรง
มีหน่วยเข้าร่วมแข่งขัน 12 หน่วยระดับกองบัญชาการ ประกอบด้วย ตำรวจภูธรภาค 1-9 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
แบ่งออกเป็น 5 stage อ้างอิงจากขั้นตอนในการปฏิบัติทางยุทธวิธี
Stage 1 การเคลื่อนที่ ผลปรากฏว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษ “หนุมาน” ของกองบังคับการปราบปราม ทำเวลาชนะเลิศ
Stage 2 การปฏิบัติของส่วนโจมตี ชุดปฏิบัติการพิเศษ “ทศรถ” ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เข้าป้ายชนะการแข่งขัน
Stage 3 การปฏิบัติของส่วนซุ่มยิง ชุดปฏิบัติการพิเศษ “ทศรถ” ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ยังคงทำเวลาดีที่สุดคว้าชัยชนะเช่นกัน
Stage 4 การปฏิบัติร่วมส่วนโจมตีและส่วนซุ่มยิง อยู่ระหว่างแข่งขัน และ Stage 5 การเคลื่อนที่ผ่านสนามเครื่องกีดขวาง ยังไม่แข่งขัน
มีคณะกรรมการ มาจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย หน่วยอรินทราช 26 ของกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หน่วยนเรศวร 261 ของกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจในโครงการพัฒนาครูฝึกหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่คัดมาจากทุกหน่วยปฏิบัติการพิเศษทั่วประเทศ
พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกถึงวัตถุประสงค์ของการแข่งขันเพื่อพัฒนาศักยภาพชุดปฏิบัติการพิเศษที่มีตัวแทนของทุกของบัญชาการร่วมแข่งขัน พวกนี้จะทำหน้าที่หลักเป็น “ผู้นำด้านยุทธิวิธี” ถอดบทเรียนการปฏิบัติในแต่วันมาทบทวน
ชุดปฏิบัติการพิเศษจะทำหน้าที่ “ครูฝึก”เป็นชุดสนับสนุนหลักให้ท้องที่อีกบทบาทหนึ่ง
“การแข่งขันเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้ทราบขีดความสามารถของตัวเอง” พล.ต.อ.สุวัฒน์บอก “อยากให้มองประโยชน์ที่ได้จากการแข่งขัน คะแนน ลำดับที่เป็นตัวชี้วัดชั่วคราว เราไม่ได้อยู่อย่างนี้ไปตลอดชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ การไม่ได้ที่ 1 วันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นที่ 1 ในวันหน้า หรือการได้ที่สุดท้ายวันนี้ ใช่ว่าจะเป็นที่สุดท้ายตลอดไป”
สิ่งที่เราได้ คือ รู้ข้อบกพร่อง รู้ว่า มีอะไรต้องนำไปพัฒนาปรับปรุง
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้โอวาทว่า ประโยชน์ที่ได้ ไม่เฉพาะผู้รับการฝึก ผู้แข่งขัน แต่ยังเป็นประโยชน์กับคณะผู้จัดการแข่งขัน คณะครูฝึก เพราะวิธีการแข่งขัน หรือการวัดผล ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์
โจทย์ที่ตั้งไว้ คือ เราจะได้ทราบว่าจะพัฒนาชุดปฏิบัติการพิเศษไปในแนวทางไหน มีอะไรที่โลกเปลี่ยนไป สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร คุณลักษณะเฉพาะของหน่วยของตัวบุคคล ต้องเป็นอย่างไร ทั้งผู้จัดการแข่งขัน และผู้เข้าแข่งขัน ต้องปรับปรุงไป
“ ไม่มีอะไรอยู่กับที่ ไม่ว่าความสำเร็จ หรือความล้มเหลว เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจประโยชน์ที่จะได้จากการแข่งขันครั้งนี้” เจ้าตัวว่า
การฝึกก็เป็นการรักษามาตรฐาน การแข่งขันก็เป็นการวัดผลในสิ่งที่ทำ ฝึกมาขอให้คำนึงให้ได้ว่า ไม่มีอะไรอยู่กับที่ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง พร้อมรับความรู้ใหม่ๆ อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ครูฝึกที่เก่งที่สุด คือครูฝึกที่ตายไปแล้ว ชุดปฏิบัติการพิเศษก็เช่นกัน ความผิดพลาด ล้มเหลว คือ ครูที่ดีที่สุดของเรา” พล.ต.อ.สุวัฒน์จริงจัง
ถ้าสำเร็จจะเป็นเครื่องเตือนใจทุกคนว่า ทำได้ด้วยอะไร แล้ววันหน้ายังใช้ได้อยู่หรือไม่ ขอให้เข้าใจเรื่องการฝึก การปฏิบัติหน้าที่
ให้มีความสุขอยู่กับมัน ให้รู้ว่าหน้าที่ของเราคือ อะไร
เจ้าสำนักปทุมวันมองว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษอาจฝึกมากกว่าคนอื่น แต่เวลาใช้งาน ใช้คุ้ม ถึงวันที่เราจะต้องเป็นคนแรกที่ต้องเสี่ยงกับการรับลูกกระสุนปืนต้องพร้อมปฏิบัติ เพราะฝึกเรามาเพื่อเรื่องนี้ อาจจะฝึกมาตลอดชีวิต แต่ว่าในจุดทีเด็ดทีขาด ในวันที่ไม่มีคนอื่นอีกแล้ว คือ พวกเราจะต้องเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหา
ขอให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ ความสำคัญของตัวเอง
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหวังว่า เมื่อผ่านการแข่งขันแล้วให้นำความรู้ ข้อผิดพลาดไปพัฒนา ไปถ่ายทอดในหน่วย ต้องสร้างบุคลากรใหม่ ๆมาทดแทน คนที่มีอายุ มีประสบการณ์ระดับหนึ่งก็เลื่อนขึ้นไป
องค์กรต้องมีการ “ผลัดใบ” ถ้าเราสามารถดำรงขีดความสามารถของหน่วยไว้ได้จะเป็นผลงานความสำเร็จของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ที่สำคัญที่สุด คือ ได้ปฏิบัติหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ดูแลความสงบเรียบร้อย
ตามความมุ่งหมายที่เขาสร้างเรามา