พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติบอกถึงความคืบหน้าในขั้นตอนการ “ผ่าตัดใหญ่” โครงการองค์กรสีกากี
ระบุร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่.. พ.ศ. .… ได้เข้าสู่การประชุมรัฐสภา(ประชุมร่วมสองสภา) ระหว่างวันที่ 9 – 10 มิถุนายน 2565 ถึงแม้ว่าจะพิจารณาผ่านไปได้เพียง 14 – 15 มาตรา แต่ก็แสดงให้เห็นถึง “เค้าลาง” ของการปฏิรูปอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะในประเด็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะยังประโยชน์ไปสู่ประชาชนได้โดยตรง
เจ้าตัวชี้แจงเฉพาะบางมาตราที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้วเท่านั้น
ความในมาตรา 7 “…โดยต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน และชุมชนมีส่วนร่วมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายงบประมาณ และอาสาสมัคร ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตำรวจ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติกำหนด”
มาตรา 12 วรรคสาม “… กองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือตำรวจภูธรจังหวัดจะจัดให้มีแผนหรือมาตรการการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนภายในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชนก็ได้…”
และ มาตรา 13/1 “(4) องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ให้มีภาคประชาชนมาเป็นองค์ประกอบเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ดยมีบทบัญญัติให้ผู้มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านยุทธศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านพัฒนาองค์กร ด้านสื่อสารมวลชน หรือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านการสื่อสาร ด้านละ 1 คน และมีผู้แทนภาคประชาชนจำนวน 1 คนด้วย”
เป็นที่ชัดเจนว่าการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ มีการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในส่วนของแผนการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนก็เปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน และชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผน กับทั้งยังสามารถติดตามและตรวจสอบการทำงานของตำรวจ(ตามความในมาตรา 7)
เห็นได้ว่าการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ยึดโยงกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับโดยตรง นี่เป็นเพียงมาตราต้นๆ เท่านั้นเอง
หันมาดูเรื่องของตำรวจเองบ้างเพราะเชื่อว่ามีตำรวจหลายนายใจจดใจจ่ออยู่กับ ร่างมาตรา 8 ที่กำหนดให้มีตำรวจ 2 ประเภท คือ ตำรวจมียศและตำรวจไม่มียศ โดยเฉพาะตำรวจไม่มียศกำหนดให้เป็นข้าราชการตำรวจในกลุ่มสายงานตามมาตรา 53 (2) และ (5) ได้แก่ กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ตำแหน่งอาจารย์ ตำรวจสังกัดกองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสอบภายในและอื่น ๆ อีกหลายลักษณะงานที่เข้าตามหลักเกณฑ์ใน 2 อนุมาตราดังกล่าว
คงเฝ้ามองและภาวนาไม่ให้มาตรานี้ผ่าน ด้วยเกรงว่าจะกลายเป็นข้าราชการตำรวจไม่มียศในการที่เข้ามารับราชการตำรวจสิ่งหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญก็คือ “การที่จะได้รับพระราชทานยศ”
แม้ว่ามาตราดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาของสภาไปแล้วก็ตามขออย่าได้ตื่นตระหนกจนขวัญเสีย เสียขวัญจนเกินไป
ขอให้อ่านบทบัญญัติในมาตรา 8 ให้จบครบถ้วนก็จะพบถ้อยคำว่า “ตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกำหนด”
“กระผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมไปให้มากกว่านี้อีกนะครับ…(ถ้าคณะกรรมการข้าราชการตำรจเห็นว่ายังไม่ควรกำหนด…..)”
ผ่านสภาถึงมาตราไหนจะเขียนให้อ่านถึงมาตรานั้น ๆ
“กระผมไปนั่งในสภาในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ ได้เห็นบรรยากาศในการประชุมของรัฐสภา สมาชิกทั้ง 2 สภาให้ความสำคัญกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นอย่างมาก มีการอภิปราย เสนอ แก้ไข ซักถามข้อสงสัยเพื่อความเข้าใจ หรือขอคำตอบเพื่อเป็นหลักฐานไว้ในสภา”
ให้ข้อสังเกต และอื่น ๆ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถือว่า เป็นกฎหมายที่สมาชิกทั้งสองสภามีความตั้งใจที่จะให้เกิดการปฏิรูปตำรวจให้ดีที่สุด
“กระผมเองเป็นกรรมการร่วมยกร่างกับคณะกรรมการชุดอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ยกร่างโดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี และได้เข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เรียงรายมาตราใช้เวลาพิจารณามาประมาณ 1 ปีเศษ และขณะนี้กำลังอยู่ในการประชุมของรัฐสภาดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการปฏิรูป และเป็นการปฏิรูปที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน”
แม้ว่าอาจจะไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็ไม่น้อย อย่างที่บางคนคิด เพียงแค่จั่วหัวมา 10 กว่ามาตราที่ได้จำแนกแจกแจงให้เห็น
ก็พอจะเห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์กันแล้วนะครับ
เป็นกรรมการยกร่าง ถ้าได้ร่วมยกร่างอย่างจริงจัง
เป็นกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณารายมาตรา ถ้าได้ร่วมประชุมพิจารณาอย่างจริงจัง
เป็นสมาชิกรัฐสภา ถ้าได้ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาอย่างจริงจัง
หรือถ้าเป็นประชาชนคนทั่วไป ถ้าได้ติดตามการประชุมพิจารณาอย่างจริงจัง ก็จะทราบว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีความเข้มข้น
เข้มขลังไม่จืดชืดเหมือนจับฉ่าย ..คิดได้ไง!!!