ที่ห้องประชุมกองบังคับการปราบปราม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการทลายเครือข่ายค้าอาวุธ “เบล 1,000 กระบอก” หลังกระจายกำลังเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาขบวนการดังกล่าวได้ 16 คน พร้อมของกลาง รถยนต์ 6 คัน บ้านพักจำนวน 2 หลัง เรือ 5 ลํา อาวุธปืน จํานวน 17 กระบอก เครื่องกระสุนขนาดต่างๆ กว่า 10,000 นัด ใบ ป.3 จํานวน 36 ใบ ใบ ป.4 จํานวน 490 ใบ สมุดบัญชีธนาคารต่างๆ จํานวน 28 เล่ม
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 16 ราย เบื้องต้นพบเป็นต้องหาสำคัญจำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายดนุพล ยงพงศ์ อายุ 32 ปี หรือเบล แสมสาร หรือ เบลล์ 1,000 กระบอก จับกุมตัวได้ที่บ้านเลขที่ 143/22 หมู่บ้านนาวีเฮาส์ 43 หม่ 4 ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นายดงพล รุจิธรรมธัช อายุ 49 ปี นายอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จับกุมตัวได้ที่บ้านพักในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายสาวิตร เจียมจิระ อายุ 60 ปี อดีตนายอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จับกุมได้ในจังหวัดบุรีรัมย์ น.ส.กรณิศ เป๋าทุ้ย อายุ 52 ปี เจ้าหน้าที่อำเภอไทรโยค และนายญาณเดช เอี่ยมสะอาด อายุ 31 ปี เจ้าหนาที่อาสาทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อคนขอใบอนุญาต จับกุมตัวได้ในพื้นที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 และทหารจับกุมขบวนการค้าอาวุธสงคราม พร้อมของกลางอาวุธปืนสงคราม25 กระบอก กระสุนปืนกล ลูกระเบิดขว้างสังหารหลายรายการ ต่อมา วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจังหวัดหนองคาย ตรวจยึดอาวุธปืน .22 จํานวน 35 กระบอก ขยายผลตรวจสอบพบเตรียมนำไปส่งขายต่อยังประเทศเพื่อนบ้าน มี นายดนุพล หรือเบล ยงพงศ์ เกี่ยวข้องเขื่อมโยงทั้งสองเคส สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงสั่งการให้เร่งดำเนินการสืบสวนขยายผลเรื่อยมาเพื่อทำลายเครือข่ายดังกล่าวให้สิ้นซาก
เครือข่ายดังกล่าวมีการทำกันเป็นขบวนการ มีการวางแผนการทํางานในลักษณะกลุ่มอาชญากร แบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน อาทิ กลุ่มนายทุน กลุ่มนายดนุพล หรือเบล มีหน้าที่หาคนทําใบ ป.3 และขนส่งอาวุธ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ออกใบอนุญาติ และกลุ่มร้านปืน นอกจากนี้ยังพบพยานหลักฐานสําคัญจากแผนประทุษกรรมเอาชื่อบุคคลอื่น หรือคนในขบวนกา มาขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน (ป.3) มากกว่า 2,000 ใบ ประกอบไปด้วย อาวุธปืนลูกซอง .22 และ อาวุธปืนสั้น 9 มิลลเมตร กลายเป็นที่มาของนายดนุพล คือ “เบล พันกระบอก”
จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 16 คน ส่วนใหญ่ให้การรับสารภาพ มีเพียงบางส่วนที่ยังคงยืนกรานปฏิเสธ โดยเฉพาะ นายดนุพล หรือ เบล ยงพงศ์ ที่ในชั้นสอบสวนให้การปฏิเสธ และไม่ขอให้การใดๆในชั้นจับกุม อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะยังคงดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อเนื่อง เพื่อเอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
ผลพวงจากการกระทำของขบวนการดังกล่าว พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมองว่า ส่งผลให้ในปัจจุบันกลุ่มอาชญากรสามารถจัดหาอาวุธปืนเถื่อน หรืออาวุธสงครามมาครอบครองกันได้ง่ายขึ้น การกวาดล้างจับกุมครั้งนี้เหมือนเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมให้ลดน้อยลง หลังจากนี้จะยังคงเร่งดำเนินการขยายผลต่อเนื่องว่า ปืนเถื่อน และปืนสวัสดิการมีที่ไปที่มาอย่างไร งมีเจ้าหน้าที่รายอื่นเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นเพิ่มเติมด้วยอีกหรือไม่ หากพบว่า ความผิดหรือเกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการส่วนไหนก็ตาม
ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ตำรวจยังได้ประสานความร่วมมือกับทางสำนักงานปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบเส้นทางการเงินสามารถตามยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดรวมกว่า 50 ล้านบาท ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวในการออกใบอนุญาต ใบ ป.3 ที่ถูกจับกุม แบ่งเป็น นายอำเภอที่ยังอยู่ในราชการ 1 คน เกษียณอายุราชการ 1 คน หากขยายผลเพิ่มเติมพบว่ายังมีเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือ ข้าราชการหน่วยใดเกี่ยวข้องยืนยันจะดำเนินคดีทุกรายไป