เห็นภาพแล้วเป็นห่วงการทำงานของลูกน้อง
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถกข้อเครียดกับ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กำชับให้ต้องให้มีการถอดบทเรียนเพื่อกำหนดขั้นตอนยุทธวิธีที่ถูกต้องแล้วนำไปฝึก
เรื่องนี้ สิ่งที่ควรทำ พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่า การขี่รถจักรยานยนต์ไล่ติดตาม ต้องแจ้งตำแหน่งให้พนักงานวิทยุแจ้งสกัดจับ แจ้งข้อมูลให้ทราบตลอดเวลาการไล่ติดตาม
เจ้าหน้าที่ที่ก้าวสกัดจับ ต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการหยุดรถ ต้องรู้จักใช้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเจ้าหน้าที่เองและบุคคลที่สาม
ผู้บังคับบัญชาที่ฟังวิทยุอยู่จะต้องเข้ามาควบคุมสั่งการ
“ตำรวจภูธรไหน ฝึกแล้วบอกด้วยครับจะหาเวลาไปดู” แม่ทัพสีกากีว่า
ต้องสอนตำรวจให้เข้าใจว่า การหยุดรถด้วยการยิงยางล้อรถนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
การฝึก ต้องฝึกตั้งแต่พนักงานวิทยุ สายตรวจ ร้อยเวร 20 เวร 40 สารวัตร รองผู้กำกับ ทั้งในสถานีเดียวกัน และสถานีที่มีถนนหรือพื้นที่ต่อเนื่องกัน
อุปกรณ์หยุดล้อ มีการแจกจ่ายไปแล้ว หน้าตาอาจไม่เหมือนในรูป
“ ตำรวจไทยปัจจุบัน อายุเฉลี่ยปาเข้าไป 46 ปีแล้ว การพัฒนาคน เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ทำอย่างไรจะทำให้ บุคลากรมีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีมาตรฐาน มีความรู้ มีขวัญกำลังใจ”
ฝากไว้เป็นการบ้านกับทุกท่าน
“ถ้าสอนคนให้ทำอะไร คนก็มักจะลืม ถ้าทำให้เขาดู เขาจะจำได้ ถ้าให้เขาทำเอง เขาก็จะเข้าใจ แต่ถ้าอยากให้เขาแตกฉาน ก็ต้องให้เขาไปสอนคนอื่น” พล.ต.อ.สุวัฒน์แนะ
“ฝากไว้ครับ ทุกครั้งที่มีการปฏิบัติหน้าที่ทางยุทธวิธีใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการไล่จับคนร้าย การล่อซื้อ การตั้งจุดตรวจจุดสกัดแล้วมีการจับกุม การปิดล้อม ล้อมจับ การเข้าตรวจค้น การระงับเหตุ ของเจ้าหน้าที่สายตรวจ สายสืบ หรือแม้แต่จราจร ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ควรจะต้องมีการประชุมทบทวนหลังปฏิบัติ หรือ AAR (After action review)”
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอธิบายว่า การประชุมทบทวน มีตั้งแต่การประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจ ซักถามข้อเท็จจริงต่าง ๆให้ได้ข้อยุติ ซักถามปัญหาข้อขัดข้อง ปรับยุทธวิธี แสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง มาปรับใช้ แล้วทำการฝึกร่วมกัน ผลการฝึกก็ให้นำกลับมาปรับปรุงใหม่อีก จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่พอใจ
เจ้าตัวบอกว่า ตำราต่าง ๆที่ ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปรามจัดทำขึ้น สามารถนำมาปรับใช้หรือประยุกต์ใช้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง สภาพแวดล้อม และเหตุการณ์ในแต่ละครั้งที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไป
การประชุมและการฝึกแบบนี้ เป็นการที่ผู้กำกับหรือหัวหน้าสถานี ประชุมและฝึกฝนตำรวจในสถานี
สามารถทำได้ ณ ที่สถานีของตัวเอง ทำได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทั้งสายตรวจ สายสืบ จราจร
ไม่จำเป็นต้องมีใครมาสั่งการให้เปิดโครงการ หรือเปิดหลักสูตรอะไร
“การฝึกฝนในเรื่องง่ายๆ ที่เคยฝึกกันมาบ่อยแล้ว ตกผลึกแล้ว ก็สามารถให้ทบทวนหน้าแถวก่อนปล่อยแถวสายตรวจก็ได้ หรือ ฝึกซ้อมในช่วงวันฝึกประจำของสถานีก็ได้”
ระดับกองบังคับการ รองผู้บังคับการในสายงานป้องกันปราบปราม สืบสวนต้องลงมาช่วยคิด ช่วยทำตามสมควรแก่กรณี เพื่อประโยชน์ในการสร้างมาตรฐาน นำผลลัพธ์ที่ได้ไปถ่ายทอด หากเป็นกรณีที่จะต้องมีการฝึกปฏิบัติรวมกันหลายสถานี หรือเป็นการสนธิกำลังจากหลายๆหน่วย ระดับกองบังคับการก็ต้องเป็น “เจ้าภาพ” สามารถเรียกหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือผู้ที่มีความรู้ มาให้คำแนะนำ ฝึกสอน สาธิต หรือปฏิบัติการร่วมก็ได้
“ความรู้พวกนี้ถึงวันหนึ่งต้องกลายเป็น SOP เป็นความรู้พื้นฐาน ให้กับตำรวจทุกๆนาย และใช้เป็นเหตุผลสำหรับในการปรับปรุง อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ ต่างๆที่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป” พล.ต.อ.สุวัฒน์ย้ำ
คณะทำงาน ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปรามจะเป็นผู้กำหนดกฎ กติกา และมาตรฐานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ แต่การจะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ผู้บังคับบัญชาทุกระดับในสถานีตำรวจ จะต้องมี Mindset ที่เข้าใจเหตุและผล ต้องมีตรรกะและความรู้ทางยุทธวิธี เข้าใจให้ลึกซึ้งถึงความสำคัญ ความจำเป็นของเรื่อง
ไม่จำเป็นต้องเป็น “ผู้ที่ยิงปืนแม่น” หรือมีทักษะพิเศษอะไร ขอให้เข้าใจตรรกะ รู้จักการแสวงหาความรู้ ก็สามารถกระทำได้