มีโอกาสย้อนเวลาไปอ่านหนังสือพิมพ์เก่าเห็นนโยบายการทำงานของแม่ทัพนครบาลสมัยนั้นน่าจะนำมาใช้ปฏิบัติได้ในสมัยปัจจุบัน
แม่ห้วงเวลาผ่านมานาน 24 ปีแล้ว
ทันทีที่ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ข้ามห้วยจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 กลับคืนถิ่นเก่ามานั่งเป็นผู้นำนครบาลแทน พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 16 ที่เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541
เจ้าตัวใช้ห้องประชุมโรงเรียนตำรวจนครบาล ถนนวิภาวดีรังสิต เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เรียกประชุมมอบนโยบายกำหนดทิศทางการทำงานให้ตำรวจทุกกองบังคับการ มีตำรวจตั้งแต่ผู้กำกับการ รองผู้กำกับการ สารวัตร รองสารวัตร และตัวแทนชั้นประทวนโรงพักละ 4 นายเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง การประชุมมอบนโยบายครั้งแรกของเจ้าฉายา “มือปราบหน้าหยก” ดุดันและจริงจังสมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่งสุดยอดของนครบาล
“ผมไม่มีความลับกับผู้ใต้บังคับบัญชา คำสั่งหรือกฎเกณฑ์กติกาไม่ว่าเรื่องใดก็ตามต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ” เขาบอกในที่ประชุม
“ขอให้ถือนโยบายป้องกันนำการปราบปราม ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วไปจับ ไม่มีประโยชน์เพราะประชาชนสูญเสียไปแล้ว ระบบสายตรวจที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นหัวใจของงานป้องกัน” พล.ต.ท.วรรณรัตน์ยืนยัน
เกี่ยวกับนโนยายการปฏิบัติหน้าที่ของสายตรวจ 191 ระบุว่า ไม่มีนโยบายให้ขี่ตะลอนไปมา แต่ให้เน้นสถานที่และห้วงเวลาที่เป็นปัญหามากที่สุด เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ช่วง 4-5 โมงเย็น มีนักเรียนตีกันมา ย่านวงเวียนใหญ่ สีลม ปิ่นเกล้า ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษต้องพัฒนาเขตตรวจใหม่
ขณะเดียวกันด้านการสืบสวน นายพลมือปราบให้นโยบายชัดว่า กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 1-9 ต้องเน้นแก๊งคนร้าย ทั้งมือปืนรับจ้าง แก๊งปล้นจี้ขบวนการสำคัญ แก๊งลักรถยนต์ แก๊งยาเสพติดรายใหญ่เท่านั้น
“ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ยาบ้าสองเม็ดไปไล่จับ ผมไม่ต้องการได้ยิน ไม่ใช่ไปจับคนแทงกัน ต้องทำกับพวกแก๊ง เครือข่ายขบวนการซ่องสุม คนร้ายต่างชาติที่มาอยู่ตามคอนโดมิเนียม ท้องที่ต้องสำรวจตรวจสอบว่า มีคนต่างชาติมาอยู่ อยู่กันอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่สุขสบาย ทั้งที่หลบหนีเข้ามาก่อกรรมทำเข็ญ โรงพักบางรักดูให้ดี มีทุกชาติ บางตึก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนต่างชาติ รู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง”
“เว้นอยู่กลุ่มเดียวที่ไม่รู้คือ ตำรวจ มีเรื่องแน่” แม่ทัพนครบาลเสียงแข็ง
ด้านบ่อนการพนันอบายมุขต่างๆ ผู้นำตำรวจเมืองหลวงย้ำชัด
“ผมไม่มีไฟเขียวสำหรับเรื่องพวกนี้ ขอให้ทุกนายระวังการติดต่อของคนที่สวมรอยเข้ามาพบผมแล้วกลับไปอ้างว่า พูดกับผู้บังคับบัญชาเรียบร้อยแล้ว รวมถึงสถานบริการต้องปิดตีสองครึ่งให้เหมือนกันทุกโรงพัก บางรักมีโชว์คู่ร่วมเพศก็ไม่ควรให้มี พัฒน์พงศ์ไม่ควรจะขายบริการอย่างนี้อีกแล้ว ประเภทเมกเลิฟชายจริงหญิงแท้ต้องไม่มี ซอยคาวบอยขอฝากโรงพักทองหล่อด้วย”
“ขอให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี อย่าให้ใครชี้หน้าได้ว่า กูจะย้ายมึงเมื่อไหร่ก็ได้ กูซื้อได้ทั้งนั้น ตำรวจโรงพักนี้ พูดกันพอสมควร ต้องเอาศักดิ์ศรีกลับมา” เขาเตือนสติลูกน้อง
อีกทั้งขีดเส้นใต้ไว้ 3 เดือนแรกของการเข้ามารับตำแหน่งว่า ผู้กำกับการจะไปไหนไม่ได้ ถ้าเร่งด่วนไม่เป็นไร เนื่องจากงานสอบสวนถูกประชาชนต่อว่าทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะนครบาล เพราะขาดความเอาใจใส่ ชาวบ้านเดือดร้อน ร้อยเวรนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ซ้ำเติมด้วยคำพูดแทนที่จะให้กำลังใจกลับบอกว่า คนไม่เดือดร้อนไม่อยากเหยียบโรงพัก
“อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่คนรังเกียจพอสมควร ให้รู้ไว้ด้วย ทำตรงไปตรงมา อย่าตีราคาค่างวด หาความเป็นธรรมไม่ได้”
ในตอนท้ายผู้บัญชาการตำรวจนครบาลประกาศวาง “กฎเหล็ก” ไว้ 2 ข้อ
ข้อแรก ห้ามระดับผู้กำกับลงไปเล่นกอล์ฟเด็ดขาดภายใน 3 เดือน ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อที่จะทำโรงพักให้ดี ถ้าใครถูกบังคับให้ไปเล่นกอล์ฟ โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาในนครบาลให้มารายงาน แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ตาม นายตำรวจผู้นั้นต้องมาบอก
อีกข้อ ระดับผู้กำกับลงไปต้องฟังวิทยุทุกคน ยกเว้น สารวัตรธุรการ
“ผมและผู้บังคับบัญชาในนครบาลจะติดต่อทางวิทยุเท่านั้น เพราะจะเสียโอกาสในการจับกุมคนร้าย ถ้าไม่ฟังวิทยุ บางครั้งผู้ต้องหาปล้นมาอยู่ตรงหน้า ไม่ต้องรอให้มีรายงานทางโทรศัพท์มือถือ หรือวิทยุติดตามตัว หลังห้าทุ่มไปแล้วจึงจะใช้โทรศัพท์ ส่วนฝ่ายจราจรหลัง 3 ทุ่มอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ได้ เพราะต้องตื่นเช้า”
น่าจะเป็นตำราให้ตำรวจรุ่นใหม่ได้คิดอ่านไว้บ้าง
ตำนานคนรุ่นเก่าสร้างชื่อเสียงให้องค์กรตำรวจไว้อย่างไร ทำชาวกรุงอุ่นใจไม่ต้องกังวลตกเป็นเหยื่อโจรผู้ร้าย