งานฉลองครบรอบ 16 ปีนิตยสาร COP’S ก้าวสู่ปีที่ 17 “ความสำเร็จยังต้องตามล่า” ที่ห้องบุณยะจินดา 1 สโมสรตำรวจ ปีนี้ได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “นักสืบ 5 G กับวิถีสื่อโซเชียลที่เปลี่ยนโลก”
เริ่มต้นตั้งแต่แนวคิดสร้างนักเรียนนักสืบรุ่น 5 G พล.ต.อ.สุวัฒน์ให้เหตุผลว่า ต้องการปรับฐานนักสืบให้มีแก่น มีแก่นในการนำเพื่อจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่เราไม่สามารถสร้างคนได้พร้อมกันหลายหมื่น หลายพันคน จำเป็นคัดเลือกเด็กที่ผ่านงานสอบสวนเอามาฝึก เป็นการลอกแบบของรุ่น 30 นักสืบนครบาลเมื่อปี 2540 ที่ผลิตบุคลากรสู่วงการปัจจุบันอย่าง พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา
พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกว่า จริงๆ หลักการก็เหมือนเดิม คือ สร้างคนที่มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำงาน พยายามให้เรียนรู้การทำงานในโลกยุคใหม่ ๆ โลกโซเชียลปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง
“เมื่อวันก่อนผมไปสัมมนา กับตัวแทนศาลอาญา และกระทรวงยุติธรรม หลากหลาย ผมพยายามอธิบายว่า โลกปัจจุบันนี้ อำนาจต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลดลง ในขณะที่สิทธิของฝ่ายผู้เสียหาย หรือฝ่ายผู้ที่ถูกกล่าวหามีมากขึ้น ดังนั้น สังคมต้องการความรวดเร็วในการทำงานของพวกเรา ต้องการความยุติธรรมที่รวดเร็ว” พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่า
“ในขณะที่เราถูกมัดมือมัดเท้ามากขึ้น โลกโซเชียลทำให้การสื่อสารข้อมูลรวดเร็ว แค่กระพริบตา สามารถไปได้ทั่วโลก แล้วคนสมัยนี้อยู่กับสังคมที่มีความรวดเร็วในเรื่องข้อมูลสูง ไม่มีความอดทนในการที่จะมารอความยุติธรรมกับระบบ เวลาเราจับคนร้าย คนจะถามว่าเมื่อไหร่จะดำเนินคดี เมื่อไหร่จะติดคุก เมื่อไหร่จะโน่นนี่”
เจ้าตัวยังบอกว่า ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่หมด คนตกน้ำก็เป็นเรื่องใหญ่ ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ แล้วต้องการความเร็ว ในเมื่อเราให้ไม่ได้ ก็จะไปไต่สวนกันเอง ไปไต่สวน สืบสวนกันเองในโซเชียลมีเดีย
ไม่มีกติกา ไปหาข้อสรุปเอาเอง แล้วลงโทษกันเอาเอง ยังไม่ทันทำอะไร ก็ไปตัดสินแล้วว่า คนนี้ผิด
ถามว่าเราจะปรับตัวยังไงให้สอดรับกับเรื่องพวกนี้ เราถึงสร้างนักสืบที่จะต้องมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง สามารถในการปรับตัว ปรับแนวทางในการทำงานตลอดเวลา ต้องมีความรอบรู้ ต้องตามโลกให้ทัน
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย้ำว่า สำคัญคือ การทำงานเป็นทีม นักสืบรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มีดีเอ็นเอเหมือนกัน คือ เรื่องของความเสียสละ อดทน มุ่งมั่น ทุ่มเท ทำไม่เลิก เมื่อไหร่งานจบเมื่อไหร่ ถึงเลิกเมื่อนั้น ทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่มีพัก จนกว่าจะจับคนร้ายได้ จนกว่าจะปิดคดีได้ ความสำเร็จของงานก็คืออยู่ตรงนี้
“เราทำงานสำเร็จ มันไม่ได้อยู่ที่ว่า เราทำแล้วได้ตำแหน่งรึเปล่า ไม่เกี่ยว ลูกน้องผม เพื่อนร่วมงานผม ผู้บังคับบัญชาผม ทุกคนคิดเหมือนกัน เราไม่เคยคิดว่า เราจับคดีนี้ได้ แล้วจะได้ 2 ขั้น หรือว่าจะได้รางวัล ไม่เคยคิด รางวัลของเรา คือ การที่เรานำความยุติธรรมคืนให้กับคน ดังนั้น ดีเอ็นเอ คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ เหมือนกัน”
กระนั้นก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์มองว่า คนรุ่นจะมีความยากในแบบใหม่ รุ่นเก่าก็มีความยากในแบบเก่า สิ่งที่อยากจะแนะนำนักสืบ 5 G นอกจากเรื่องการปรับตัวกับแนวทางความเปลี่ยนแปลงในแนวทางการทำงาน ปรับตัวให้ได้ตลอดเวลา ต้องแสวงหาความร่วมมือจากภายนอกด้วย ลำพังตำรวจอย่างเดียว ทำงานไม่ได้ ทำงานให้ได้ผลอย่างนี้ไม่ได้ ดูอย่างเรื่องการทำคดีออนไลน์ต่างๆ เราจะต้องทำเอ็มโอยูกับสถาบันการเงิน ทำเอ็มโอยูกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ต้องใช้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินต้องรวมหลายหน่วยงาน ทำงานด้วยกัน
“เราได้สัมมนามา ผู้บริหารระดับสูง คือ ตำรวจทำงานภายใต้ความกดดันแล้ว สังคมยังต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เร็วกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเลยได้ข้อตกลงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันในระดับหน่วยงานขึ้นเพื่อจะแก้ปัญหาการทำงานให้เกิดความรวดเร็ว เรื่องของการผัดฟ้อง ฝากขัง เรื่องของแนวทางต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของการที่จะใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่จะใช้ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม”
พล.ต.อ.สุวัฒน์ยกตัวอย่างเรื่องของวิธีการเพื่อความปลอดภัย ปัจจุบันเป็นปัญหาเยอะ บ้านติดกันจอดรถขวางกัน หรือสุนัขไปฉี่รดหน้าบ้าน เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ แต่สุดท้ายยิงกันตาย หรือคนไปตัดผม แล้วไม่ได้ตามทรง นัดไปนัดมาแทงกันตาย เรื่องของผู้ชายมาตามตื้อผู้หญิง ทะเลาะกัน ตำรวจทำอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่เรียกมาว่า กล่าวตักเตือน เตือนอยู่ 3-4 รอบ สุดท้ายไปฆ่ากันตาย เรื่องแบบนี้ จำเป็นจะต้องหากติกาใหม่ๆ มาใช้ทำงาน
“ขณะเดียวกัน อย่างที่บอก คดีธรรมดา เป็นเรื่องใหญ่ได้ อย่างคนตกน้ำคนหนึ่ง เราใช้คนเป็นร้อย ใช้เวลาเป็นเดือน ไม่ได้เกิดความรวดเร็ว ไม่ได้ทำให้รู้สึกพอใจ แต่ต้องทำแล้วถึงวันหนึ่งจะเห็นว่า สุดท้ายแล้วจะได้เห็นความใครผิด ใครถูก ใครอะไร แต่นี่คือสิ่งที่เป็นความท้าทายของโลกอนาคต ดังนั้น เด็กๆ ที่จะเป็น 5 G หรือไม่ใช่ก็ดี ผมพูดไปหลายเวที อย่างแรกคือว่า ต้องพยายามรักษาตัวเองให้อยู่ในเส้นทางการเจริญเติบโต หมายถึงว่า พยายามอยู่ในงานสืบสวน อย่าออกนอกสาย บางทีคนดึงไปเป็นนายเวร บางคนดึงไปโน่น ไปนี่ ไปนั่น ไม่เกิดการสะสมประสบการณ์ชีวิต”
แม่ทัพปทุมวันย้ำว่า ตำรวจต้องมียี่ห้อของตัวเอง เด็กๆ ต้องสร้างแบรนด์ แต่ว่าคนให้ยี่ห้อเราต้องเป็นคนอื่น ไม่ใช่เราไปบอกเองว่า เราเป็นนักสืบ ต้องพยายามสร้างแบรนด์ แล้วเป็นแบรนด์ที่สังคมยอมรับ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรไปในโลกโซเชียล อีกสิบปี มันยังอยู่ เราทำอะไรไป ไม่ว่าจะผิดจะถูก จะกลับมาเข้าหาเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้นตำรวจยุคปัจจุบัน ก็ต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใส ต้องแสวงหาความร่วมมือจากภายนอก
พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำโครงการกับนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากจะเปิดโลกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดโรงพัก เปิดกองสืบ ให้เด็กนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี 3-4 มาดูว่า ชีวิตตำรวจ ทำอะไรกันบ้าง เราอยากให้เขาเข้าใจเรา ในมุมที่เขามาเห็นความเป็นอยู่ ไม่ได้เน้นเรื่องความรู้ แต่เน้นว่า ตำรวจใช้ชีวิตกันอย่างไร ไปกับนักสืบ 5 G ก็ต้องไปไม่ได้เน้นเรื่องความรู้ทางกฎหมาย แต่เน้นว่าให้รู้ว่าตำรวจเขาใช้ชีวิตอย่างไร เราหวังว่าจะเป็นจุดเล็กๆ ที่พวกเขาจะรู้จักเรามากขึ้น
ส่วนเรื่องเทคโนโลยีไม่ว่าจะ 5 G หรือ 6 G พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่า ตำรวจต้องเรียนรู้และปรับตัว ทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ลำพังแค่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราต้องออกไปข้างนอก หาแนวทางใหม่ไปตามวิวัฒนาการของโจรผู้ร้ายได้
พล.ต.อ.สุวัฒน์ทิ้งท้ายฝากน้องรุ่นหลังว่า ไม่มีวันที่เราจะเดินคนเดียว แล้วไปสู่ความสำเร็จอะไรได้ เราต้องมีคนที่เดินไปด้วยกันกับเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเพื่อนร่วมงาน