ขอให้มั่นใจหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจไทย

 

ปล่อยของก่อนทิ้งทวน “ถอดหัวโขน” นำเครื่องแบบคืนหลวง

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จัดโชว์ศักยภาพหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีอยู่ในมือให้บรรดาเจ้าหน้าที่ทูตมั่นใจในแผนการรับมือสถานการณ์วิกฤติและการเผชิญเหตุรองรับการประชุมเอเปค 2565 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565

ก่อนโยน “ไม้อำนาจ” ให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สานต่อบนเก้าอี้ “พิทักษ์ 1” คนต่อไป

เลือกเอาศูนย์การค้าเดอะคริสตัล ถนนเอกมัย – รามอินทรา เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่จำลองเหตุการณ์กราดยิงและยกระดับไปสู่การจี้จับตัวประกัน

เชิญคณะผู้แทนสำนักงานรักษาความมั่นคงทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย  สำนักงานรักษาความมั่นคง ทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากลกองทัพไทยร่วมชมการฝึกดูความพร้อมของ “เขี้ยวเล็บ” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หลังจากฝึกซ้อมเตรียมตั้งแต่วันที่ 16 – 20 กันยายน 2565 ที่กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กระทั่งได้เวลา “ปล่อยของ”

เล่นเอาชาวบ้านที่เดินจับจ่ายใช้สอยอยู่ในห้างตื่นตระหนก

เนื่องจากเป็นการซ้อมเสมือนจริง สาธิตการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุในสถานการณ์วิกฤติ สมมติเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุกราดยิงที่หน้าศูนย์การค้าแล้วยกระดับเป็นจับตัวประกัน

ถอดบทเรียนจากโศกนาฏรรมเลือดในศูนย์การค้าเทอมินอล 21 อำเภอเมืองนครราชสีมา

“โรงพักต้องเป็นตำรวจคนแรกที่ประสบเหตุ ต้องทำงานได้ภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่จริง” พล.ต.อ.สุวัฒน์วาดหวัง

สถานการณ์สมมติลำดับเหตุการณ์เริ่มจากคนร้าย 3 คน ก่อเหตุกราดยิง หลบหนีการจับกุมมายังศูนย์การค้า  มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโรงพักโชคชัย รับผิดชอบพื้นที่เผชิญเหตุกลุ่มแรกเข้าระงับเหตุ

ระหว่างนั้นกลุ่มคนร้ายหนีเข้าไปในศูนย์การค้าเพิ่มวิกฤติการณ์นำไปสู่ความตึงเครียดด้วยการจับประชาชนเป็นตัวประกัน

ตำรวจท้องที่ต้องประสานงานชุดปฏิบัติการพิเศษ ส่งต่อข้อมูลร่วมวางแผนปฏิบัติการ ก่อนถอนกำลัง เปลี่ยน “ไม้ผลัด” ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าคลี่คลายสถานการณ์จนสามารถช่วยเหลือตัวประกันได้อย่างปลอดภัย

ชุดปฏิบัติการพิเศษที่ใช้ในปฏิบัติการ ประกอบด้วย หน่วยอรินทราช 26 ของกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทีมนเรศวร 261 ของกองบังคับการสนับสนุนทางาอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยคอมมานโด ของกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  ทีมหนุมาน ของกองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  ชุดสยบไพรี ของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และ ชุดครูฝึกหน่วยปฏิบัติการพิเศษต้นแบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พวกเขาเหล่านั้นถือเป็น หน่วยปฏิบัติพิเศษดีสุดของตำรวจไทย ที่ได้รับการฝึกฝนทักษะจาก “หลักสูตรหิน” มาแล้วมากมาย

ในปฏิบัติการจำลองสถานการณ์ คนร้ายหลบซ่อนตัวในศูนย์การค้า หน่วยปฏิบัติการพิเศษจะเริ่มเปิดปฏิบัติการค้นหา ใช้เครื่องมือ “โดรนจับความร้อน” ตรวจการณ์ความเคลื่อนไหวของคนร้าย ใช้รถควบคุมสั่งการ หรือ Mobile CCOC  การเชื่อมต่อข้อมูลกล้อง CCTV พร้อมระดมอพยพช่วยเหลือประชาชน เพื่อเปิดฉากการยิงต่อสู้ การซุ่มยิงระยะไกล การควบคุมสถานการณ์บริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุ

เตรียมความพร้อมเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บในสถานการณ์ฉุกเฉิน การตรวจค้นรถคนร้าย การตรวจสอบและเก็บกู้วัตถุระเบิด ใช้หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด การใช้รถถังนิรภัยเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด การตรวจที่เกิดเหตุโดยสุนัขตำรวจ

“การฝึกจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่ายังมีช่องว่างเล็กน้อยในการปฏิบัติการสื่อสาร” พล.ต.อ.สุวัฒน์ยอมรับ แต่ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจในการเพิ่มขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ระดับสถานีตำรวจให้นานาชาติมั่นใจ

ตำรวจไทยเตรียมตัวอย่างดี และมีศักยภาพในการดูแลความสงบเรียบร้อย

แม่ทัพปทุมวันยังให้เหตุผลที่เลือกศูนย์การค้าเป็นสถานการณ์จำลองให้เสมือนจริงเพราะเป็นพื้นที่ยากต่อการควบควบคุม มีประชาชนเดินจับจ่ายจำนวนมาก ทำให้ตำรวจได้หลักคิดนำวิธีไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

“นอกจากเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติแล้ว ยังสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเมื่อตกอยู่ ในสถานการณ์วิกฤติสามารถเข้าใจ เรียนรู้ ป้องกัน และเอาตัวรอดได้” พล.ต.อ.สุวัฒน์ย้ำ

ขอให้มั่นใจหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจไทย

RELATED ARTICLES