รับคำสั่งจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องของอาวุธปืนหลวง
ถอดบทเรียนล้อมคอก “คลังแสงของหน่วย”
“ ผมใช้ปืนหลวงมาตั้งแต่ยศ พ.ต.ต.” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นความสำคัญของเขี้ยวเล็บประจำกาย
เจ้าตัวเป็นกังวลถึงเห็นด้วยกับมาตรการเข้ม พิจารณาระงับ “โครงการปืนสวัสดิการตำรวจ” อย่างไม่มีกำหนด
เมื่อพบข้าราชการบางหน่วยนำใบ ป.3 ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบทางช่องทางออนไลน์จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มตำรวจชั้นผู้น้อย
ถึงขั้นขโมยไปจากคลังเหมือนที่พบในโรงพักราชกรูด จังหวัดระนอง และโรงพักปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
แนวทางเบื้องต้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์จะนำต้นแบบการตรวจเช็กสต็อกจำนวนอาวุธปืนของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือคอมมานโดมาใช้
ติด “คิวอาร์โค้ด” หรือ “บาร์โค้ด” ไว้ที่อาวุธปืนมาใช้ในการนับจำนวน เพราะจะง่ายต่อการตรวจสอบ และง่ายต่อเจ้าหน้าที่งานธุรการ
“ถึงเวลาแค่นำอุปกรณ์ หรือมือถือมาสแกนจะเข้าไปที่แอปพลิเคชันที่ได้จัดทำไว้” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์อธิบาย ทว่าขั้นตอนนี้ต้องเป็นหน้าที่ของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เร่งดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ยืนยันว่า ระบบนี้ในกองทัพสหรัฐอเมริกานำมาใช้เรียกว่า สติกเกอร์มิลิเทอรรีเกรด หรือแม้แต่การเช็กสต็อกอะไหล่เครื่องบินก็ใช้ระบบนี้ สามารถระบุรุ่น ซีรีส์นัมเบอร์ที่เข้ามาประจำการณ์ในสารระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อใด ใครเบิกใช้ และคืนเมื่อไร
ง่ายต่อการติดตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าตัวไปเจอตอนตรวจราชการในพื้นที่ต่าง ๆ คือ “อาวุธปืนค่อนข้างเก่า” เป็นภาระให้ “จ่ากอง” ที่คุมอาวุธเต็มคลัง ส่วนอาวุธปืนใหม่ไม่ได้เบิก อาทิ ปืนเอ็มโฟร์ยังอยู่ในถุงในกล่อง
“อยากให้เข้าใจว่า การจัดทำโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ เพราะตอนนั้นเราไม่มีปืนให้ตำรวจชั้นผู้น้อยได้ใช้ ไม่สามารถที่จะแจกจ่ายให้กับตำรวจมาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่จากดำเนินโครงการมา 2-3 ปี มีการจัดหาปืนมาให้ตำรวจมาใช้ในการปฏิบัติงาน สิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยเบิกปืนหลวงมาใช้ในการปฏิบัติงาน”
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์บอกว่า ตัวเองใช้ปืนหลวงในการปฏิบัติงาน ทั้งการซ้อมการยิง ตลอดจนการถวายอารักขา ถวายความปลอดภัย แต่ส่วนตัวเข้าใจว่า สิ่งที่ตำรวจไม่อยากเบิกปืนหลวงมาใช้ เพราะระเบียบต่างๆค่อนข้างยุ่งยาก
ทำให้ตัวตำรวจก็ไม่อยากนำมาใช้ เกิดช่องว่างปืนอยู่ในคลังถูกนำไปขายแปรสภาพ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ แม่ทัพปทุมวันถึงแต่งตั้งให้ลงมาแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ปรับระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ “เด็กกล้าใช้ปืนหลวงมากขึ้น”
“แนวทางใหม่ในอนาคตตำรวจชั้นผู้น้อยสามารถเบิกปืนจากคลังได้เลย โดยที่ระเบียบไม่ยุ่งยาก แค่สแกนคิวอาร์โค้ดลงในระบบ และนำมาคืนตามกรอบเวลาอาจจะ 15 วันหรือ30 วัน อาวุธปืนคุณต้องอยู่” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์เสนอ
นอกจากนี้ในรูปแบบของการให้ยืม อาวุธปืนแต่ละประเภทมีอายุการใช้งาน แต่ละปีมีรุ่นใหม่ๆเข้ามา กรณีที่ปืนหลวงหมดสภาพตามเวลาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจำหน่ายในราคาที่ถูก ตามค่าเสื่อมสภาพ ตามความเหมาะสม
เขาย้ำว่า จะไม่ทำโครงการปืนสวัสดิการ เพราะปัญหาที่ผ่านมา คือ ข้าราชการบางหน่วยนำใบ ป.3 ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบ ไม่ไปออกใบ ป.4 ต้องขอบคุณ พล.ต.อ.สุชาติ ธีรสวัสดิ์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ข้อมูลไว้ ถึงทราบแผนประทุษกรรมดังกล่าว
หลังจากนี้ทางคณะกรรมการจะต้องมาพิจารณา “ปิดช่องโหว่” ของปืนสวัสดิการทั้งหมด อาจจะขยายเวลาการครอบครองจาก 5 ปี โอนได้ เป็น 15 ปีโอนได้ หรืออาจจะไม่ให้โอนตลอดชีวิต ป้องกันเอาปืนสวัสดิการไปขาย
ทำนองซื้อถูกขายแพง
รวมทั้งเรื่องของการปรับระเบียบการเบิกอาวุธปืน การชดใช้สิ่งของหลวง การตั้งกรรมการเวลาปืนชำรุดเสียหาย
ทั้งหมดนี้เพื่อให้ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยมีโอกาสและได้ใช้ “ปืนที่ดีมีคุณภาพ” ตำรวจทุกคนสามารถซ้อมปืนได้เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน
ในส่วนกรณีที่หลายคนเป็นห่วง หากยกเลิกโครงการปืนสวัสดิการตำรวจจะกระทบกับตำรวจที่จบใหม่ ในการจัดหาอาวุธปืน ต้องซื้อปืนในราคาแพงขึ้น ท่ามกลางคำถามว่า ตำรวจชั้นผู้น้อยจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อปืนในราคาที่แพง
รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยืนยันว่า ปืนสวัสดิการที่จัดเตรียมมาให้ ถือเป็นสิ่งดีที่ไม่ผลักภาระให้ตำรวจชั้นผู้น้อย เวลาปฏิบัติหน้าที่สามารถเบิกปืนหลวงไปใช้เหมือนเป็นปืนประจำกาย เพราะตำรวจบ้านเราทำงาน 24 ชั่วโมง แต่ทุก ๆ 15 วันเวลานับจำนวนต้องมีมาแสดง
เขาเชื่อว่า หากโครงการนี้เป็นรูปร่างอนาคตจะจัดซื้อปืนที่จะมีการยิงเลเซอร์ในตัวปืนจากโรงงานป้องกันการขูดลบ เวลาปืนตกไปอยู่นอกระบบจะได้ทราบทันที
ผู้ที่ได้ครอบครองอาจจะเข้าข่ายรับของโจร ทำให้ไม่มีใครอยากได้
ตัดช่องโอกาสไม่ให้มีผู้แสวงหาประโยชน์จาก “ปืนสวัสดิการ” ตัดช่องโอกาสไม่ให้เกิดปัญหา “ปืนหลวงหาย”