“ใครที่ใหญ่กว่านายกรัฐมนตรี” จอมพลผ้าขาวม้าแดงเอ่ยปากถามนายทหารคนสนิท
“ตำรวจขอรับท่าน”
“ทำไม”
“เพราะตำรวจมีอำนาจจับกุมนายกรัฐมนตรี” นายทหารคนเดิมย้ำ
ดังนั้นเมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองประเทศเบ็ดเสร็จขึ้นผู้นำประเทศ เจ้าตัวถึงนั่งควบเก้าอี้อธิบดีกรมตำรวจเมื่อปี 2502
เป็นอธิบดีกรมตำรวจคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่เสียชีวิตคาเก้าอี้ในอีก 4 ปีถัดมา
ย้อนกลับไปก่อนหน้าเหตุการณ์รัฐประหารปี 2500 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ บุรุษเหล็กแห่งเอเชียเคยสร้างความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามให้ทัพตำรวจ
เจ้าของวลี “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง” กลายเป็นจุดเริ่มต้น แตกหัก ทำให้ขั้วอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารองค์กรสีกากี
ที่มีกลิ่นยั่วยวนชวนให้อยากครอบครองอาณาจักรโล่เงิน เฉกเช่นแนวคิดของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฐมบทแห่ง “กงล้ออาถรรพณ์” ที่ยังไม่มีวันจางหาย
สิ้นยุคจอมพลผ้าขาวม้าแดง
พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขึ้นนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมตำรวจแทนถึงปี 2515 ก่อนผลัดใบให้ จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกขยับมารักษาการแทน
กระทั่งรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร นาวาล่มจากเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคมในปีต่อมา
พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เป็นอธิบดีกรมตำรวจได้ปีเศษเจอ “พิษการเมือง” โยกกลับไปประจำกองบัญชาการกองทัพบก ได้ พล.ต.อ.พจน์ เภกะนันทน์ คุมทัพสีกากีเพียง 184 วันเกษียณอายุราชการ
พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ สวมบทหัวโขนต่อเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2518 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2519
ฟ้าผ่ากรมตำรวจอีกครั้ง
นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสะบัดปากกาเซ็นคำสั่งปลดไปเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเก้าอี้ให้ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น เป็นอธิบดีกรมตำรวจนานถึง 4 ปีเศษ
เขาก็ไม่อาจรอดพ้นตกเป็น “เหยื่ออำนาจทางการเมือง” หลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี สั่งย้ายให้ไปอยู่สำนักเลขานายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี
มีผลพวงจากพิษกบฏ “เมษาฮาวาย” เมื่อปี 2524
พล.ต.อ.สุรพล จุลละพราหมณ์ ขัดตาทัพปีเดียวเกษียณอายุราชการ พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ สืบทอดเก้าอี้อำนาจรอดพ้นเขี้ยวเล็บทางการเมืองอยู่ยาว 5 ปียันเกษียณอายุราชการ พล.ต.อ.เภา สารสิน เป็นผู้นำปทุมวันอีก 2 ปี
ไม่มีมรสุม
อำนาจการเมืองกลับมาระอุรุมตอมตำแหน่ง “พิทักษ์ 1” อีกคราในยุค พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ ไม้เบื่อไม้เมากับ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กดดันจนตัดสินใจลาออกจากราชการ
พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจแทน 2ปีกว่า ไม่รอดอุ้งมือรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กุมบังเหียนกระทรวงคลองหลอด ทอดสะพานส่ง พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นอธิบดีกรมตำรวจจนเกษียณ
พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา นั่งผู้นำทัพตำรวจต่อถึงปี 2539 ก็ถูก นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นอธิบดีกรมตำรวจ
ผู้นำคนสุดท้ายภายใต้เงารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ทว่ามา “สิ้นลาย” ตอนเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่อาจหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์ของแรงอำนาจทางการเมือง !!!