บันทึกของฉันในรัชกาลที่ 9

พ.ต.ท.ปกกิจ คล้ายเพ็ชร รองผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ เขียนบันทึกของตัวเองในรัชสมัย ในหลวงรัชกาล 9 ที่ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้อ่านกัน

เป็นบันทึกที่เขียนไว้ ให้กับลูกๆ ได้ศึกษา เป็นเรื่องราวความภาคภูมิใจและเกียรติยศ อันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง จดจำไว้เหล่าสู่กันฟัง

ข้าพเจ้า เกิดในจังหวัดเพชรบุรี มีบ้านเกิดใกล้กับวังบ้านปืน ร.5 ทรงสร้างไว้ บ้านของข้าฯเป็นร้านขายของชำอยู่ติดกับถนนเพชรเกษม ในตอนเด็กๆ ช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน จะมีขบวนเสด็จผ่านหน้าบ้านของข้าฯทุกๆปี และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารอรับเสด็จ ปิดถนนบริเวณสี่แยกหน้าบ้านของข้าฯ อย่างเข้มแข็ง พ่อของข้าฯบอกว่า เป็นขบวนเสด็จของในหลวง และพระราชินี ท่านจะเสด็จไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน โดยจะเสด็จผ่านในช่วงเวลากลางคืน

พ่อแม่ของข้าฯก็จะพาครอบครัวน้องๆ มานั่งรับเสร็จพระองค์ท่านเป็นประจำ มองเห็นบ้าง มองไม่เห็นบ้าง แต่ก็จะได้ยินเสียงธงที่ติดหน้ารถสะบัดเป็นสัญญาณว่า รถพระที่นั่งเป็นคันนี้ และบางครั้งท่านก็จะเปิดไฟด้านในรถและชะลอความเร็วบริเวณทางแยกที่มีประชาชนรอรับเสด็จ ข้าฯจึงได้เห็นในหลวงและพระราชินีอย่างชัดเจน

ทำให้ข้าฯใฝ่ฝันอยากปฏิบัติหน้าที่ถวายงานพระองค์ท่านและอยากเข้าไปอยู่ในขบวนเสด็จด้วย

จากเด็กน้อยที่รอรับเสด็จอยู่ข้างถนน ทุกปี จึงมุ่งมั่นที่จะเรียนหนังสือให้ดี และสอบเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจให้ได้ ทุกครั้งที่เห็นตำรวจมายืนรับขบวนเสด็จหน้าบ้านของข้าฯ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าฯมีความมุ่งมั่นตามเป้าหมายตั้งแต่เด็กมาโดยตลอด

ในปี พ.ศ.2538 เป็นปีแรกที่ต้องเตรียมตัวสอบแข่งขัน แต่ก็สอบไม่สำเร็จ และเป็นปีที่ สมเด็จย่า สวรรคต ข้าฯจึงตั้งจิตอธิษฐาน หากข้าฯสอบติดเป็นตำรวจได้ จะขอไปปฏิบัติหน้าที่ชายแดนเป็นเวลา 1 ปี เพราะสมเด็จย่าท่านรักตำรวจตระเวนชายแดนและปฏิบัติภารกิจต่างๆของตำรวจตระเวนชายแดน

จนในปี พ.ศ.2539 เด็กน้อยลูกชาวไร่ สามารถสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในเหล่าตำรวจได้จนสำเร็จ และได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 39 และ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 55 จนสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ.2544 และเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันพุธที่ 24 เมษายน 2545

เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ใช้เวลา 8 วินาทีช่วงรับพระราชทานกระบี่

และน้อมนำพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่แก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2544 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วัน พุธที่ 24 เมษายน 2545 เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ราชการมีใจความดังนี้

“นายตำรวจนั้นถือว่าเป็นข้าราชการพลเรือน แต่ที่ได้รับกระบี่ ก็เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบกว้างขว้างมาก ทางราชการจึงมอบอาวุธหรืออำนาจให้ควบคู่ไปกับหน้าที่ สำหรับเป็นเครื่องมือปฏิบัติงาน เมื่ออำนาจและหน้าที่มีอยู่ดังนี้ ทุกคนจึงต้องระมัดระวังใช้อำนาจที่มีอยู่ให้ถูกตรงตามหน้าที่ คือ ให้เป็นการรักษาด้วยความสงบสุข ปกป้องสุจริตชน และผดุงความถูกต้องเป็นธรรม มิใช่ใช้ไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ เบียดเบียนประชาชน หรือลบล้างทำลายความเป็นธรรมเสียเอง อำนาจของท่านจึงเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ และ งานทุกอย่างในหน้าที่ก็จะบรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอให้นายตำรวจทุกคนนำไปคิดพิจารณาให้เห็นถ่องแท้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตนปฏิบัติหน้าที่ให้ถูก ให้ควร และให้เป็นกำลังสร้างสรรค์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง

ขออวยพรให้นายตำรวจใหม่ทุกคน ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิต มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการ และขอให้ทุกท่านที่มาร่วมประชุมในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดีจงทั่วกัน”

เมื่อรับพระราชทานกระบี่แล้ว จากนั้นก็จะเป็นช่วงของการฝึกงาน และเลือกตำแหน่งจึงขอย้ายไปตอนเรียนในระหว่างเรียนชั้นปีที่ 4 ข้าฯได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนผู้ช่วยผู้บังคับบัญชา ปกครองรุ่นน้องปี 2 โดยตามธรรมเนียมรุ่นอื่นๆ ที่ผ่านมานักเรียนผู้ช่วยจะได้เลือกตำแหน่งเป็นนายตำรวจปกครองนักเรียนเตรียมทหาร 1 ปี จึงจะได้เลือกลงตำแหน่งหลักต่อไป

ข้าฯได้ตั้งใจจะไปลงเป็นนายตำรวจปกครอง แต่ด้วยนโยบายในปีนั้นให้นายตำรวจจบใหม่ต้องผ่านงานสอบสวนทุกนาย และให้งดรับนายตำรวจที่จบใหม่ไปลงตำแหน่งนายตำรวจปกครองโรงเรียนเตรียมทหารทำให้ข้าฯจะต้องไปเลือกตำแหน่งรวมกับเพื่อนๆในรุ่น ผลการเรียนของข้าฯ อยู่ในลำดับท้ายๆแล้ว ไม่สามารถเลือกที่ดีๆได้ ต้องเลือกตำแหน่งที่เหลือๆอยู่เพียงไม่กี่ตำแหน่ง ข้าฯมีผลการเรียนอยู่ในลำดับที่ 261 มีความจำเป็นต้องเลือกลงในตำแหน่ง เป็นพนักงานสอบสวน สภ.แว้ง จว.นราธิวาส ภ.9 ในตอนเลือกข้าฯไม่รู้เลยว่า สภ.แว้ง อยู่ตรงไหน ได้ยินเสียงเพื่อนสนิทมาบอกว่า เลือก อ.แว้ง เลย ข้าฯก็เลยเลือกตามที่เพื่อนบอก

เมื่อเลือกเสร็จข้าฯก็ไปดูข้อมูล และเดินทางลงไปดูพื้นที่จริง กับเพื่อนสนิทกลุ่มผู้ช่วย ร้อย 2 ที่ผิดหวังเหมือนกันอีกสองคน ที่ เลือก อ.ตากใบ และ อ.เมือง จว.นราธิวาส จึงได้รู้ว่า อ.แว้ง เป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดนไทย – มาเลเซีย และเป็นอำเภอที่มีระยะทางไกลที่สุดเมื่อเดินทางจาก กรุงเทพฯ โดยมีระยะทาง 1,236 กม.

ข้าฯจึงได้ระลึกถึงคำอธิษฐานที่ขอไว้กับสมเด็จย่าว่า เมื่อจบการศึกษาแล้ว จะขอไปปฏิบัติหน้าที่ชายแดน 1 ปี ทำให้ข้าฯระลึกได้ว่า นี้คือ ฟ้าลิขิตลงมาแล้ว ให้เรามาอยู่ที่นี้

อำเภอแว้งเป็นอำเภอที่ติดชายแดนมาเลเซีย และ ก็เป็นอำเภอที่สงบ ปลอดภัย ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ที่รุนแรง และเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับอำเภอสุไหงโกลก เมื่อถึงเวลาต้องลงไปรับตำแหน่ง คุณลุงท่าน พล.ต.ท.สุนทร นุชนารถ ผบช.รร.นรต. ท่านให้โอวาทไว้ว่า เมื่อจบลงไปทำงานใหม่ๆ ขอให้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ อย่าเลือกงาน ใช้อะไรขอให้ลงมือทำด้วยความตั้งใจและเต็มที่ เรียนรู้งานและหาประสบการณ์ให้มากที่สุดที่จะมากได้ เป็นแนวทางที่ ข้าฯได้ยึดมั่นและตั้งใจทำงานมาโดยตลอด เป็นการลงไปทำงานครั้งแรก

ข้าฯก็ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจใหม่ไฟแรง พี่ๆให้ทำอะไร หรือมีงานอะไร ขอทำทุกอย่าง เป็นพนักงานสอบสวน การจับคดียาเสพติดเอง ตั้งด่านตรวจเอง และในปี 2546 ช่วงเดือน สิงหาคมถึงกันยายน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และมีพระราชกรณียกิจในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด และเป็นครั้งแรกที่ ข้าฯได้ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยเส้นทางเสด็จในช่วงอำเภอแว้ง ถึง อำเภอสุคิริน จว.นราธิวาส และได้ยืนรับเสด็จอยู่ข้างถนน เห็นพระองค์ท่านประทับรถยนต์พระที่นั่งวิ่งผ่านไปอย่างชัดเจนที่สุด เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน และ เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดในปีแรกของข้าฯ

หลังจากทำงานผ่านไปได้ 1 ปี ข้าฯก็ต้องย้ายมาลงตำแหน่งใหม่ ตามที่เลือกไว้ครั้งแรก คือตำแหน่ง ผู้บังคับหมวด กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร ในตอนที่เลือกนั้น ก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่เคยศึกษาเลยว่าที่ตำรวจพลร่มมีภารกิจ พิเศษอะไรบ้าง รู้แต่ว่า ต้องโดดร่ม และอยู่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ไม่ไกลจากบ้านเกิดของข้าฯ จึงได้เลือกที่เป็นที่ทำงานครั้งที่ 2 มาลงที่ตำรวจพลร่ม ไม่ถึง 1 เดือน ก็ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ กองร้อยที่ 6 รบพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำหมวดในหมู่บ้าน ดุซงญอ อำเภอ จะแนะ จว.นราธิวาส อีกครั้ง อยู่ที่อำเภอจะแนะประมาณ 3 เดือน ก็กลับขึ้นมาพัก มาฝึกที่ค่ายนเรศวร เป็นเวลา 6 เดือน ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ ร้อยเวร ควบคุมการปฏิบัติประจำวัน และมีหน้าที่พิเศษ เมื่อมีขบวนเสด็จผ่านหน้าค่ายนเรศวร ต้องมีแถวข้าราชการตำรวจพลร่ม ตั้งรับเสด็จหน้าค่ายทุกครั้ง และเมื่อถึงเดือน ตุลาคม 2547 ก็ถึงคิวกองร้อยที่ 6 ต้องลงไปสลับเปลี่ยนกำลังที่จังหวัดนราธิวาสอีกครั้ง ก็ได้เดินทางลงปฏิบัติหน้าที่ และสร้างฐานปฏิบัติการ ฉก.13 อ.ยะหา จว.ยะลา ดูแลความสงบเรียบร้อยในอำเภอ ยะลา และ กาบัง จังหวัดยะลา ต้องออกลาดตระเวนตามแนวหลักเขตชายแดน ไทยมาเลเซีย ออกตรวจค้น พื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง กิน นอนตามสันปันน้ำตามแนวเทือกเขาเพื่อกดดันผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่เป็นเวลาหลายๆวัน

ระหว่างนั้น ก็ได้นั่งคุยกับเพื่อนโส (พ.ต.ท.โสพัฒน์)ว่าเรามาทำภารกิจแบบนี้อยู่ในป่า จะมีใครรู้บ้างว่า ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจพลร่ม ต้องทำงานหนักขนาดไหน เพื่อนพูดมาคำหนึ่ง ทำให้ข้าฯจำได้ถึงทุกวันนี้ ว่า “ ไม่มีใครเห็น แต่ฟ้ามีตาเสมอ ตั้งใจทำงานอย่างเต็มทีก็พอแล้ว” ในตอนนั้นก็ยังคิดคัดค้านอยู่ในใจว่า มันจะเป็นไปได้หรือ เมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบ 6 เดือน ก็กลับมาทำงานอยู่ในค่ายนเรศวรอีกครั้งหนึ่ง ก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นร้อยเวรประจำวันในค่ายนเรศวร

ครั้งนี้ก็ได้รับภารกิจใหม่ว่า ใครที่เข้าร้อยเวรก่อนวันที่มีหมายเสด็จจะต้องไปทำหน้าที่หัวหน้าชุดรถอาวุธพิเศษของตำรวจพลร่ม วิ่งปิดท้ายขบวนตามเสด็จ ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของ ในหลวงและพระราชินีด้วย และวันนั้นได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าชุดรถอาวุธพิเศษตามเสด็จจาก วังไกลกังวล หัวหิน เสด็จเข้ากรุงเทพฯ

ข้าฯจึงได้ขึ้นขบวนตามเสด็จในหลวงและพระราชินีครั้งแรก และขบวนเสด็จผ่านหน้าบ้านของข้าฯ ทำให้ข้าฯคิดถึงเด็กน้อยที่นั่งรับส่งเสด็จอยู่ข้างทาง เมื่อหลายปีก่อน และเป็นวันที่ทำให้ความฝันของข้าฯเป็นจริงขึ้นมาอีกครั้ง ภารกิจสำเร็จเรียบร้อยผ่านไปด้วยความภาคภูมิใจ

ในปี 2548 ช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม ข้าฯได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จว.สกลนคร ทำหน้าที่หัวหน้าชุดสมทบ ร.1 พัน.4 รักษาพระองค์ ถวายความปลอดภัยเขตที่ประทับ และขึ้นรถขบวนตามเสด็จพระองค์ท่านไปตามหมู่บ้านถิ่นทุรกันดารใน อำเภอต่างๆในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง เป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่ง

ในปี 2549 ช่วงเดือน มิถุนายน –ตุลาคม ข้าฯได้รับมอบหมายจากผู้บังคับให้ปฏิบัติหน้าที่ นายทหารเสริมกำลังพิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ประทับ ณ พระตำหนักจิตลดาฯ กรุงเทพมหานคร และได้ปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรประจำพระตำหนักจิตลดาด้านในเป็นครั้งแรก และเป็นผลัดแรกของคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากมีการปฏิวัติเกิดขึ้น เป็นนายตำรวจยศร้อยตำรวจเอก เข้าเวรในพระตำหนักจิตลดา น่าจะเป็นคนแรกของตำรวจไทยเลย เป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่ง

ทำให้ข้าฯคิดถึงสิ่งที่เพื่อนเคยพูดว่า “ ไม่มีใครเห็น แต่ฟ้ามีตาเสมอ ตั้งใจทำงานอย่างเต็มทีก็พอแล้ว” เราตั้งใจทำความดี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ก็จะประสบผลสำเร็จหลายๆด้าน จึงเป็นผลที่ทำให้ข้าฯได้มานั่งเข้าเวรในพระตำหนักของพระเจ้าแผ่นดินอย่างใกล้ชิด ตำรวจน้อยคนนักที่จะได้มาปฏิบัติหน้าที่ถวายงานพระองค์ท่านอย่างนี้ จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ปี พ.ศ.2550 ช่วงเดือน พฤษภาคม – กันยายน ข้าฯได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ปฏิบัติหน้าที่ นายทหารเสริมกำลังพิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ประทับ ณ พระตำหนักจิตลดาฯ กรุงเทพมหานคร ก็ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรในพระตำหนักอีกครั้งหนึ่ง และในวันที่ 20 สิงหาคม 2550 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส ครั้งนี้ ข้าฯได้ร่วมภารกิจถวายความปลอดภัย และที่สำคัญได้รับเลือกให้ขึ้นไปนั่งในรถอาวุธพิเศษของนายทหารเสริมกำลังพิเศษ เป็นรถยนต์ที่วิ่งตามรถยนต์พระที่นั่งอย่างใกล้ชิด

เป็นภารกิจสูงสุดที่นายตำรวจตัวน้อยๆคนนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ถวายความปลอดภัยอย่างสูงยิ่ง

ปี พ.ศ. 2550-2552 ข้าฯได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็น รองหัวหน้าชุด ถวายความปลอดภัย ทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตน์ฯ ณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยประจำพระองค์ เป็นนายตำรวจหัวหน้าชุดถวายความปลอดภัยตามเสด็จ และปฏิบัติหน้าที่ควบคุมขบวนเสด็จ ประจำรถยนต์พระที่นั่ง ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 เวลา 11.30 น. เป็นห้วงเวลาที่คนไทยทุกคนปราบปลื้มใจที่ได้ยินข่าวและรับชมข่าวการถ่ายทอดสด ในหลวง ทรงเสด็จออกจากโรงพยาบาลศิริราช ทรงฉลองพระองค์สูทสีชมพู ท่ามกลางการส่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” ของพสกนิกรที่เฝ้ารอรับเสด็จโดยรอบ ข้าฯได้ตามเสด็จทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตน์ฯ เข้าเฝ้ารับเสด็จและร่วมขบวนรถยนต์พระที่นั่ง ในหลวงและพระราชินี จากโรงพยาบาลศิริราช เสด็จพระราชดำเนินกลับยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ในกาลนี้ข้าฯได้ตามเสด็จถวายความปลอดภัย ประจำรถยนต์พระที่นั่งทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตน์ฯ ตาม เสด็จรถยนต์พระที่นั่งของในหลวงและพระราชินีอย่างใกล้ชิด ตลอดสองเส้นทางเสด็จมี พสกนิกรชาวไทยเฝ้ารอรับเสด็จตลอดเส้นทาง ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่สูงสุดในชีวิตรับราชการของข้าฯที่ได้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิดในขบวนเสด็จในวันนั้นด้วย

ปี 2559 ในวันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันที่หัวใจของคนไทยทั้งประเทศ ร่ำไห้ระงมกันทั่วทั้งแผ่นดิน เมื่อสำนักพระราชวังประกาศว่า ในหลวงเสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบสิริพระชนนพรรษาปีที่ 89

ปี 2560 ในวันที่ 24 เมษายน เป็นวันที่ข้าฯและเพื่อนๆ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 55 เข้ากราบพระบรมศพ ร.9 ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระราชทานกระบี่ และ พระราชทาน พระบรมราโชวาทแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 55 ในวันที่ 24 เมษายน 2545 เวลาผ่านไป 15 ปี ข้าฯได้ออกแบบและจัดทำพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานไว้ ให้แก่เพื่อน นรต.55 ได้เก็บไว้เป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ และหากเราประพฤติปฏิบัติตาม คำสอนของท่านก็จะประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตราชการต่อไป

ในปีนี้ คงไม่ได้รับมอบภารกิจอะไรที่จะเข้าไปถวายงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9 ที่กำหนดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 แต่เมื่อใกล้วันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9 เข้ามา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ได้มีหนังสือจาก ตร.เรียกตัวข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่ประจำอยู่ส่วนกลาง และอายุไม่เกิน 40 ปี เข้าร่วมพิธีถวายความปลอดภัยประจำริ้วขบวน 1-6 ทาง สตม.ได้ส่งชื่อข้าฯเป็นตัวแทน สตม.เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ได้รับมอบปฏิบัติหน้าที่เป็นนายตำรวจเกียรติยศ ประจำริ้วขบวน ที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่ โดยพระยานมาศสามลำลาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ออกถนนมหาราช ซึ่งเป็นจุดที่ข้าฯปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยอยู่ เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง และอันเชิญขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ สู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ได้รับมอบปฏิบัติหน้าที่เป็นนายตำรวจเกียรติยศ ประจำริ้วขบวนที่ 6 ขบวนกองทหารม้า เชิญ พระบรมราชสรีรางคาร ทั้งหมด จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกจาก พระบรมมหาราชวัง ไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ข้าฯปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยอยู่ช่วงสามแยก ถนนสนามไชย ตัดกับถนนกัลยาณไมตรี

สองภารกิจนี้ถือเป็น ภารกิจสุดท้ายที่ ข้าฯได้ร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9 สร้างความภาคภูมิใจ และเป็นเกียรติยศอันสูงสุดที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยเป็นครั้งสุดท้ายในภารกิจ นายตำรวจเกียรติยศ ประจำริ้วขบวน

ถึงวันนี้ ข้าฯก็มีความเชื่อมั่นในการทำความดี ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ และเชื่อมั่นว่า ฟ้าลิขิตมาแล้ว ให้เราเป็นตามการกระทำของแต่ละคนเอง

RELATED ARTICLES